เผย 7 หุ้นพานักลงทุนหมดตัวไตรมาสเดียวราคาลงเกิน 50%

เปิดฝาโลง 7 หุ้นยอดแย่ประจำไตรมาส 1 ปี 58 ทำนักลงทุนกระเป๋าฉีกกระจุย หลังราคาทิ้งตัวลงเกินกว่า 50% ภายในระยะเวลาแค่ 3 เดือน งานนี้ฟันธงได้ทันทีว่า “มีแต่เจ๊ง ไม่มีเจี๊ยะ”


เปิดฝาโลง 7 หุ้นยอดแย่ประจำไตรมาส 1 ปี 58 ทำนักลงทุนกระเป๋าฉีกกระจุย หลังราคาทิ้งตัวลงเกินกว่า 50% ภายในระยะเวลาแค่ 3 เดือน งานนี้ฟันธงได้ทันทีว่า “มีแต่เจ๊ง ไม่มีเจี๊ยะ”

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ “หุ้นยอดแย่ประจำไตรมาส 1 ปี 2558” โดยใช้เกณฑ์หุ้นที่ราคามีการปรับตัวลดลงกว่า 50% ขึ้นไป ในช่วงระหว่างไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งเริ่มนับจากวันทำการเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 จนถึง วันที่ 31 มีนาคม 2558 และเมื่ออ้างอิงข้อมูลจากราคาปิดตลาดในช่วงช่วงระยะเวลาดังกล่าว พบว่า มีหุ้นที่เข้าข่ายดังกล่าวอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 ตัว ซึ่งถือเป็นหุ้นควรเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง

 

หุ้นตัวแรกคือ บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไตรมาส 1 วันที่ 31 มีนาคม ปิดตัวที่ระดับ 1.02 บาท ปรับตัวลดลง 3.04 บาท หรือ 74.88% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.06 บาท โดยสาเหตุที่ทำให้หุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาอย่างหนักหน่วงในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งที่ผลการดำเนินงานประจำปี 2557 เติบโตจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ น่าจะเป็นผลมาจากนักลงทุนรายใหญ่บางกลุ่มได้เทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก หลังจากแผนการเกี่ยวกับหุ้นไม่เป็นไปตามเกมที่วางไว้

ขณะที่ราคาหุ้น AJD วานนี้ (2 เม.ย.) ปิดที่ระดับ 1.06 บาท ปรับตัวขึ้น 0.01 บาท หรือ 0.95% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 79.44 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่สองคือ บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไตรมาส 1 วันที่ 31 มีนาคม ปิดตัวที่ระดับ 0.53 บาท (ราคาพาร์ 30 บาท) ปรับตัวลดลงราว 74.76% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.07 บาท (ราคาพาร์ 1 บาท) โดยสาเหตุที่ทำให้หุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการขาดปัจจัยพื้นฐานเข้ามาสนับสนุน แต่คาดว่าบริษัทจะมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นภายในปลายปีนี้

ขณะที่ราคาหุ้น POLAR วานนี้ (2 เม.ย.) ปิดที่ระดับ 0.52 บาท ปรับตัวลง 0.01 บาท หรือ 1.89% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.61 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่สามคือ  บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไตรมาส 1 วันที่ 31 มีนาคม ปิดตัวที่ระดับ 0.22 บาท ปรับตัวลดลง0.47 บาท หรือ 68.12% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.69 บาท โดยสาเหตุที่ทำให้หุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงระยะเวลาดังกล่าว น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทค่อนข้างอ่อนแอ่ และที่ผ่านมามีการเก็งกันว่า กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาเป็นจำนวนมากในบริษัท รวมทั้งแผนจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ก็ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่วางไว้ อีกทั้งมีข่าวเกี่ยวกับกลุ่มทุนเก่าเทขายหุ้นที่ได้มาในต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำออกมาอย่างต่อเนื่อง สภาพของหุ้นถึงได้ทรุดโทรมลงอย่างที่เห็น

ขณะที่ราคาหุ้น MAX วานนี้ (2 เม.ย.)  ปิดที่ระดับ 0.23 บาท ปรับตัวขึ้น 0.01 บาท หรือ 4.55% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 17.87 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่สี่คือ บริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CYBER โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไตรมาส 1 วันที่ 31 มีนาคม ปิดตัวที่ระดับ 2.22 บาท ปรับตัวลดลง4.03 บาท หรือ 64.48% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.25 บาท น่าจะเป็นผลมาจากในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่มีการหักหลังกันเอง จึงมีการสาดหุ้นออกมาในตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก บวกกับมีข่าวลือในตลาดหุ้นว่า กลุ่มผู้ถือใหญ่มีการเร่ขายหุ้นนอกตลาดในราคา 2-3 บาท กลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยถอยห่างจากหุ้นตัวนี้  ประกอบกับความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ สถานการณ์ของหุ้นก็เลยแย่ลง

ขณะที่ราคาหุ้น CYBER วานนี้ (2 เม.ย.)  ปิดที่ระดับ 2.38 บาท ปรับตัวขึ้น 0.12 บาท หรือ 5.31% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 124.35 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่ห้าคือ บริษัท เอเชีย คอร์ปอเรท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ACD โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไตรมาส 1 วันที่ 31 มีนาคม ปิดตัวที่ระดับ 2.72 บาท ปรับตัวลดลง4.23 บาท หรือ 60.86% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.95 บาท สาเหตุที่ทำให้หุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สืบเนื่องจากหุ้นตัวนี้อาจมีความเกี่ยวโยงกับการเข้าทำราคาโดยกลุ่ม “อาจารย์เพชร” ซึ่งขณะนี้กำลังถูกตรวจสอบว่า อาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรทางการเงิน ส่งผลให้หุ้นถูกเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ราคาหุ้น ACD วานนี้ (2 เม.ย.)  ปิดที่ระดับ 3.10 บาท ปรับตัวขึ้น 0.18 บาท หรือ 6.16% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 21.36 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่หกคือ บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TIES โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไตรมาส 1 วันที่ 31 มีนาคม ปิดตัวที่ระดับ 0.42 บาท ปรับตัวลดลง0.59 บาท หรือ 58.42% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.01 บาท โดยสาเหตุที่ทำให้หุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงระยะเวลาดังกล่าว คงเป็นผลมาจากก่อนหน้านี้มีการเข้าเล่นเก็งกำไรเป็นจำนวนมาก หลังมีการปล่อยข่าวออกมาว่า หุ้นตัวนี้จะได้รับปัจจัยหนุนจากแผนธุรกิจใหม่ๆ แต่จนถึงบัดนี้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปตามความคาดหมาย จึงมีแรงเทขายหุ้นออกมาไม่หยุดหย่อน

ขณะที่ราคาหุ้น TIES วานนี้ (2 เม.ย.)  ปิดที่ระดับ 0.56 บาท ปรับตัวขึ้น 0.11 บาท หรือ 24.44% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 152.70 ล้านบาท

 

หุ้นตัวสุดท้ายคือ บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAF โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไตรมาส 1 วันที่ 31 มีนาคม ปิดตัวที่ระดับ 2.84 บาท ปรับตัวลดลง3.81 บาท หรือ 57.29% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.65 บาท น่าจะเป็นผลมาจากภาวะชะงักงันทางธุรกิจ โดยที่ผ่านมามีความพยายามจะออกข่าวเพื่อนำเสนอแผนธุรกิจประเภทใหม่ตลอดเวลา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ให้ได้เห็นทั้งสิ้น จึงกลายเป็นหุ้นที่นักลงทุนเบนหน้าหนีกันเป็นแถว

ขณะที่ราคาหุ้น PAF วานนี้ (2 เม.ย.) ปิดที่ระดับ 3.16 บาท ปรับตัวขึ้น 0.26 บาท หรือ 8.97% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 24.18 ล้านบาท

 

ข้อมูลข้างต้นที่นำเสนอในคราวนี้เป็นเพียงข้อแนะนำ เพื่อทำให้นักลงทุนเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้นปรับตัวลงแรง และยังเป็นการเตือนสติให้นักลงทุนรู้ว่า ตราบใดที่ผลการดำเนินงานยังลุ่มๆ ดอนๆ หุ้นก็คงไม่มีโอกาสจะทะยานขึ้นอย่างยั่งยืน แม้ในช่วง 1-2 วันหุ้นเหล่านี้จะเริ่มขยับตัวขึ้น แต่ไม่ใช่ตัวแปรที่ตัดสินว่า ธุรกิจจะกลับมาทำกำไรอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้การเข้าลงทุนในหุ้นเหล่านี้ควรพุ่งเป้าไปยังบริษัทที่มีกำไรให้เป็นลำดับแรก เพราะมันหมายถึงตัวหุ้นยังมีอนาคต

Back to top button