จับกลยุทธ์ลงทุนเดือนเม.ย.คัด 24 หุ้นเด่นเน้นกำไร Q1 โตแรง!
จับกลยุทธ์ลงทุนเดือนเม.ย.คัด 24 หุ้นเด่นเน้นกำไร Q1 โตแรง!
เข้าสู่การลงทุนเดือนเมษายน “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลหุ้นที่น่าลงทุน พร้อมปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนมานำเสนอ โดยกลยุทธ์ที่น่าลงทุนเดือนนี้บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่เน้นไปที่หุ้นแนวโน้มกำไรเด่นในไตรมาส/60 โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นธนาคารฯที่กำลังจะเริ่ม Earning Preview นอกนั้นให้ถือพลังงาน กลุ่มหุ้น Growth Stock ที่จะกลับมา Outperform ตลาด
สำหรับหุ้นที่โบรกเกอร์ชั้นนำได้คัดเลือกให้มาเข้าลงทุนได้แก่ BANPU, FN, MALEE,TASCO, WORK, MTLS, PTTGC, KBANK, GLOBAL, MINT, SYNEX,TACC, TISCO, BBL, KTB, PTT, PTTEP, KCE, TKN, MEGA, CHG, SAWAD, CPN และ CPALL ซึ่งนำมาจากบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ชั้นนำดังนี้
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นเดือนเมษายนน่าจะขยับแบบ sideways เนื่องจากราคาหุ้นสูงแล้ว และยังคาดว่าจะมีการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลง ซึ่งจะจำกัด upside แม้ว่าเงินทุนจากต่างชาติจะยังคงไหลเข้าเนื่องจาก i) การที่พรรค Republican ไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปสหรัฐได้สำเร็จ และ ii) ตลาดมีความเชื่อมั่นสูงว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่สองครั้งในปีนี้
ในขณะเดียวกัน เรายังคงเป้าดัชนีไตรมาส 2/60 เอาไว้ที่ 1,610 และยังไม่มีแผนที่จะอัพเกรดเป้าดัชนีในเร็วๆ นี้ เนื่องจากยังไม่เห็นปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นกำไร อย่างน้อยก็จนกว่ากลุ่มธนาคารจะประกาศงบไตรมาส 1/60 ออกมาก่อน นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่าการขึ้น XD จะส่งผลกระทบกับ SET ชัดเจนมากขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งเราคาดว่าตลอดเดือนเมษายนจะกระทบกับดัชนีประมาณ 10 จุด
สำหรับหุ้นเด่นของเราในเดือนนี้จะเน้นธีมผลประกอบการงวดไตรมาส1/60 โดยแนะนำหุ้น 5 ตัวในธีมนี้ได้แก่ BANPU, FN, MALEE, TASCO และ WORK โดยนักวิเคราะห์คาดหุ้นเหล่านี้จะมีอัตราการเติบโตของกำไรแข็งแกร่งเทียบไตรมาสก่อนหน้า
นอกจากนี้ยังแนะนำ MTLS ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นที่จะได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำของประทศไทย และภาวการณ์ฟื้นตัวแบบกระจุกตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งแปลว่าอุปสงค์สินเชื่อกลุ่ม non-bank จะยังคงแข็งแกร่ง และอีกตัวที่เราแนะนำคือ PTTGC เนื่องจากได้ส้มหล่นจากการขายหุ้น IPO ของบริษัทลูก และการที่บริษัทฯ จะทำการรับโอนธุรกิจปิโตรเคมี 6 บริษัทจาก PTT ในเร็วๆ นี้
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มุมมองตลาดหุ้นเดือนเม.ย.แม้ว่าปริมาณการซื้อขายจะเบาบางเพราะติดวันหยุดยาว แต่เชื่อกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย บวกกับการเก็งกำไรผลประกอบการ จะผลักดัน SET ให้กลับไปทดสอบ 1600 จุดอีกครั้ง และหากเห็นภาพการปรับประมาณการขึ้นมีโอกาสที่ SET จะทะลุ 1600 จุด ขึ้นในระยะถัดไป
โดยสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +3% เทียบเดือนก่อนหน้า ปีที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบมีเพียง 2 ใน 10 ครั้ง นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อ ส่วนการเลือกตั้งในฝรั่งเศสปลายเดือน ยิ่งทำให้โฟลว์ไม่มีทางเลือกมาก แต่ยังต้องติดตามประเด็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่อาจกลับมากดดันกลุ่มปตท.ได้อีก เดือนนี้แนะนำ KBANK, GLOBAL, MINT, SYNEX, TACC
บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เดือน เม.ย. ตลาดปลอดปัจจัยกดดัน และมีปัจจัยหนุนจากการเริ่มเก็งงบงวดไตรมาส 1/60 รวมไปถึง Fund Flow ไหลเข้าระยะสั้น คาดว่าจะทำให้ดัชนีกลับไปทดสอบ 1,580 และ 1,590 จุดอีกครั้ง มองกระแสเงินจะเข้าโถมใส่กลุ่มหุ้นธนาคารฯ ที่กำลังจะเริ่ม Earning Preview เลือก TISCO BBL KTB เป็น Top Pick นอกนั้นให้ถือพลังงาน PTT PTTEP กลุ่มหุ้น Growth Stock ที่จะกลับมา Outperform ตลาด KCE TKN MEGA CHG SAWAD และเก็บหุ้นที่คาดว่าจะมีผลประกอบการเด่น GLOBAL MINT CPN CPALL
ในช่วงเดือน เม.ย.60 ตลาดจะได้แรงหนุนจากการเริ่มทำ Earning Preview กลุ่มธนาคารฯ ซึ่งน่าจะมีผลประกอบการดีขึ้นทั้งไตรมาสก่อนหน้า และ เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ถัดจากนั้นในช่วงปลายเดือน เม.ย.60 จะเป็นการประกาศงบของภาค Real Sector กลุ่มวัสดุก่อสร้าง SCC น่าจะมีผลกำไรทรงตัว แต่กลุ่มพลังงาน PTT PTTEP จะดีขึ้นเช่นเดียวกับ ปิโตรเคมี PTTGC ทั้งหมดจะกระตุกให้เกิดแรงเก็งกำไรผลประกอบการ และหนุนตลาดในช่วงเม.ย.ได้
อย่างไรก็ตามภาพใหญ่ของ SET ยังคงถูกคลุมด้วย การดีดตัวของเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และกระแสเงินทุนไหลออก ทำให้ยังคงเป้าหมาย SET ปี 2560 ไว้ที่ 1,570 จุด นอกจากนั้นคาดว่าในเดือน พ.ค. จะมีโอกาสเกิด Sell in May สูงมาก เนื่องจากตลาดจะผิดหวังต่อการรายงานผลประกอบการกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งหลายบริษัทมีแนวโน้มผลประกอบการแย่ลง ทำให้การปรับเพิ่มขึ้นไปทดสอบ 1,590 และ 1,600 จุดของ SET ในเดือน เม.ย. จึงเป็นโอกาสในการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อเตรียมรับมือความผันผวนในเดือน พ.ค.
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน