“วิชัยคูณ 3” ไม่แยแส ก.พาณิชย์ เรียก”ทวิช”ประชุมบอร์ด11พ.ค.นี้
"วิชัยคูณ 3"ไม่สนอำนาจก.พาณิชย์ เรียก"ทวิช"ร่วมประชุมบอร์ด 11 พ.ค.นี้
นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เรียกร้องให้นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ IFEC พร้อมทั้งกรรมการในฝ่ายของนายทวิช เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทที่กำหนดมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา และช่วยกันนำพาธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป
“ที่ผ่านมาบริษัทมีแนวทางในการพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนที่บริษัทดำเนินการอยู่ และพร้อมที่จะต่อยอดธุรกิจพลังงาน เพื่อทำให้บริษัทมีรายได้ และสามารถขยายธุรกิจออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ต้องยอมรับว่า ไอเฟค เป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนรายหนึ่งที่พร้อมจะเป็นตัวเลือกของผู้ต้องการใช้พลังงานทดแทน”นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย ยืนยันว่า การประชุมคณะกรรมการที่จะมีขึ้นครั้งนี้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย โดยมีเป้าหมายของการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของ IFEC ให้ได้เริ่มเดินหน้าอย่างจริงจัง ได้แก่ การแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีภาระอยู่กว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวเสนอรายชื่อที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามา ซึ่งนายทวิชก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ต้องไปดำเนินการคัดสรรที่ปรึกษาการเงินเข้ามาให้คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาให้เข้ามาทำงานร่วมกับนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ กรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหนี้ของบริษัท
ขณะเดียวกัน ยังต้องเร่งดำเนินการปิดงบการเงินของบริษัททั้งในงวดปี 59 และไตรมาส 1/60 ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้หุ้น IFEC สามารถปลดเครื่องหมายห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) ให้เร็วที่สุดภายในเดือน มิ.ย.นี้
“ที่ผ่านมา ไอเฟคยังมีอุปสรรคเรื่องการขาดความร่วมมืออย่างจริงใจ ซึ่งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้เรียกร้องในเรื่องนี้ เพราะต้องการให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว และเดินหน้าในการทำธุรกิจพลังงานทดแทนต่อไป เนื่องจากผู้ถือหุ้นมองเห็นศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว และต้องการเห็นการปลด SP โดยเร็ว”นายวิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวิชัย เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมามีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งตั้งคำถามว่าหากนายวิชัยต้องการบริหาร IFEC ต่อไปก็ให้รับซื้อหุ้นจากนายทวิช และพวก ซึ่งนายทวิช ก็ยืนยันต่อหน้าผู้ถือหุ้นว่ายินดีที่จะขายหุ้น IFEC คืนให้แก่นายวิชัย
อนึ่งก่อนหน้า นายทวิช เตชะนาวากุล เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz ว่า
การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 60 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่มีมติแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการเดิมที่ครบกำหนดตามวาระนั้น เป็นการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนและข้อบังคับของบริษัท
โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการการลงคะแนนเสียงโดยใช้วิธีการเดิม เหมือนกับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา (14 ก.พ.) คือ การลงคะแนนเสียงแบบสะสม (Cumulative Voting) ซึ่งเป็นการนำคะแนนเสียงที่มีสิทธิ์ทั้งหมดมาคูณกับจำนวนกรรมการที่ต้องการ (กรรมการ 3 ราย) ซึ่งฝั่งตนต้องการ 3 ที่นั่ง ขณะที่ฝั่งนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ ต้องการเพียงแค่ที่นั่งเดียวเพื่อชนะการคัดเลือก จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีการทุ่มคะแนนทั้งหมดไปที่บุคคลเพียงคนเดียว
ซึ่งปกติแล้วบริษัทมหาชนจะใช้พ.ร.บ.มาตรา 70 ในการเลือกตั้งคณะกรรมการ ซึ่งระบุไว้ว่า เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กรรมการนั้นให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้ ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือคูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะเลือกตั้ง, ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมด โดยเลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ ในกรณีที่เลือกตั้งบุคคลหลายคนเป็นกรรมการจะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดก็ได้
และบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมี ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่จะพึงมี ให้เลือกโดยวิธีจับฉลากเพื่อให้ได้จำนวนกรรมการที่จะพึงมี
ส่วนในกรณีที่บริษัทมีข้อบังคับกำหนดวิธีการเลือกกกรมการไว้เป็นอย่างอื่น ข้อบังคับนั้นจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิผู้ถือหุ้นในการลงคะแนนเลือกกรรมการ
ขณะเดียวกัน ข้อบังคับการเลือกตั้งกรรมการของบริษัทในข้อ 20 ได้ระบุว่า กำหนดให้ผู้ถือหุ้น 1 คน มีคะแนนเสียงเท่ากับ 1 หุ้น ต่อ 1 เสียง และผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดเลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าวิธีการลงคะแนนเสียงที่นายแพทย์วิชัยเลือกใช้นั้น ฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทในข้อที่ 20 ดังนั้นฝั่งของตน จึงไม่ลงคะแนนเสียงในวาระที่ 3 ซึ่งมีทั้งหมด 448 ล้านเสียง และต่อมาจึงได้ยื่นหนังสือต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอคัดค้านการจดทะเบียนรายชื่อกรรมการชุดใหม่ เนื่องจากเป็นการลงคะแนนเสียงที่ขาดความชอบธรรม
สำหรับขั้นตอนถัดไป ตนเตรียมยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เพื่อแจ้งถึงวิธีการเลือกตั้งของนายแพทย์วิชัย และให้เข้ามาตรวจสอบผู้จัดการประชุมและฝ่ายกฎหมาย และจะร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลต่อไป
“ยังไงผมก็สู้ต่อ ผมแพ้ในเรื่องคะแนนเลือกกรรมการ แต่ชนะในเรื่องใจและเสียงของผู้ถือหุ้นรายย่อยครับ” นายทวิช กล่าวทิ้งท้าย