เปิดโผ 4 หุ้นน้องใหม่เดือนเม.ย.อนาคตสุดปัง-กำไรสุดหรู
เปิดชื่อ 4 หุ้นน้องใหม่เดือนเม.ย.60 แนวโน้มผลประกอบการสุดปัง! รับอนาคตธุรกิจสดใส ฟากอัพไซต์เหลือเพียบ ประกอบด้วย D-TPIPP-WHAUP-MM
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจหุ้นไอพีโอ (IPO) ที่เข้าทำการซื้อขายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งหมด 4 บริษัทหลักทรัพย์ (บจ.) ได้แก่ D , TPIPP , WHAUP และ MM
โดยจะเห็นว่าหุ้น D และ MM สามารถปรับตัวขึ้นเหนือราคา IPO ได้ในวันแรก ขณะที่ TPIPP และ WHAUP นั้นปรับตัวลงต่ำกว่าราคา IPO เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ขณะที่ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาดังกล่าวยังผันผวน
ทั้งนี้เพื่อให้มองเห็นแนวโน้มของหุ้นน้องใหม่ว่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้หรือไม่ในอนาคต จึงได้ทำการรวบรวมแผนการดำเนินงานของผู้บริหาร รวมไปถึงบทวิเคราะห์ และราคาเป้าหมายดังนี้
อันดับที่ 1 บริษัท เดนทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ D เข้าซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2560 โดยปิดตลาดที่ 8.70 บาท ปรับตัวขึ้น 45% จากราคา IPO ที่ 6 บาท
ด้าน นายพรศักดิ์ ตันตาปกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร D กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/60 คาดว่าจะเติบโตทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาส 4/59 ตามการเติบโตของสาขาเดิม และการขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 2/60 จะมีการขยายสาขาคลินิกทันตกรรมเพิ่มเติม พร้อมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาการจัดซื้อเครื่องฉายรังสีเอ๊กช์ CT Scan (เครื่อง 3D CT Scan) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการคาดว่าน่าจะสรุปได้ภายในเดือนนี้
“เรายังคงมีมุมมองแบบ positive จากการเติบโตที่ดีของสาขาทุกๆสาขา และการเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเราไม่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย หรือไม่มีหนี้แล้ว หลังจากได้นำเงินจากการระดมทุนไปชำระคืนหนี้ทั้งหมด รวม 60 ล้านบาท ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการ ที่น่าจะเห็นผลชัดเจนในไตรมาส 2/60 เป็นต้นไป ส่วนเงิน IPO ที่เหลือ เราก็จะเก็บไว้ใช้รองรับการลงทุนในอนาคตต่อไป” นายพรศักดิ์ กล่าว
ฟากนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง แนะนำ “ซื้อ” D ราคาเป้าหมาย 9.50 บาท/หุ้น มองว่าโมเด็ลธุรกิจที่ดีของบริษัทจะเป็นปัจจัยขับดันให้กำไรเติบโตสูงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยคาดไตรมาส 1/60 กำไรบริษัทจะเติบโต 17% จากปีก่อน จากสาขาที่เก่าเริ่มติดตลาด และบริษัทยังมีแผนการขยายสาขาอีกราว 3-4 สาขาในปีนี้
ทั้งนี้คาดหนุนให้กำไรรวมเติบโตราว 26% สำหรับระยะยาวยังคงมีอัพไซด์จากแล็บทันตกรรมจะเป็นอีกหนึ่ง key success ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และควบคุมมาตรฐานการบริการลูกค้า รวมทั้งฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง บริษัทจึงมีความพร้อมสำหรับการขยายกิจการในอนาคต แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 9.50 บาท
อันดับที่ 2 บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เข้าซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2560 โดยปิดตลาดที่ 6.70 บาท ปรับตัวลง 4.29% จากราคา IPO ที่ 7 บาท
ฟากนักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” TPIPP ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท/หุ้น โดย TPIPP เป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ที่แปรรูปจากขยะ (Waste-to-energy-WTE) ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย การขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าจาก 150MW เป็น 440MW จะทำให้รายได้ 2 ปีข้างหน้า เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 77% CAGR หรือ โตเป็น 3 เท่าในปี 2561 จากปี 2559 และทำให้กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 82%CAGR เราใช้วิธี DCF เพื่อประเมินมูลค่าเหมาะสม จะได้เท่ากับ 8.50 บาท ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขาย P/E ปี 2561 ที่ต่ำ 9 เท่า และ เงินปันผลตอบแทน 5.5% เริ่มต้นแนะนำ ซื้อ
อันดับที่ 3 บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เข้าซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2560 โดยปิดตลาดที่ 26 บาท ปรับตัวลง 0.95% จากราคา IPO ที่ 26.25 บาท
ด้าน บล.ทิสโก้ ราคาเป้าหมาย 30 บาท/หุ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่เข้าร่วมทุนกำลังก่อสร้างอยู่ 6 แห่ง (มีสัญญาขายไฟกับ กฟผ. จำนวน 90MW) กำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้น 190.07MW ซึ่งจะสร้างเสร็จในปี 2017 จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 130MW และกำลังการผลิตไอน้ำราว 30 TPH โดยเป็นโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม และมีโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกำลังการผลิตติดตั้ง 8.63MW (ถือหุ้น 33%)
ทั้งนี้มองว่าราคา IPO เป็นราคาที่เหมาะสมแล้วสำหรับปี 60 แต่หากโรงไฟฟ้าทั้งหมดสร้างเสร็จตามกำหนดจะทำให้มูลค่าที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นเป็น 30 บาท สำหรับปี 61 คิดเป็น PER 13.5 เท่าเทียบกับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าดำเนินการครบแล้ว โดยโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนใหญ่จะสร้างเสร็จภายในปี 60 และต้นปี 61 คิดเป็นกำลังการผลิตกว่า 160MW และส่วนที่เหลือในปี 62 โดยมีความเสี่ยงสำคัญคือความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและต้นทุนของถ่านหินสำหรับ Gheco-One
อันดับที่ 4 บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM เข้าซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2560 โดยปิดตลาดที่ 5.50 บาท ปรับตัวขึ้น 4.76% จากราคา IPO ที่ 5.25 บาท
ด้าน นางสาวหรรษา เสริมศรี รองประธานบริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน MM เปิดเผยว่า ภายหลังการนำเงินจากการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไปคืนเงินกู้ ทำให้ MM ปลดล็อคข้อจำกัดทางเงินต่าง ๆ ที่ธนาคารกำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในการขยายแบรนด์ของ MM ภายใต้แนวคิด “House of Brands”
นอกจากนี้ ภาพรวมผลการดำเนินงานจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป จากการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน บริษัทจะไม่มีภาระขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ เนื่องจากเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในปีที่ผ่านมาซึ่งได้บันทึกขาดทุนไปแล้วจำนวน 154.93 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้มาจากการรวมธุรกิจประมาณ 67 ล้านบาทในปีนี้
“เราเชื่อว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้จะเทิร์นอะราวด์มีผลกำไรที่ดีขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่ต้องบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายทางการเงินค่อนข้างสูง”นางสาวหรรษา กล่าว
ฟากนักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ แนะนำ “ซื้อ” MM ให้ราคาเป้าหมาย 6.50 บาท/หุ้น โดยบริษัทมีประเด็นเติบโตสำคัญ ดังนี้ 1) ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้สิทธิแฟรนไชส์แบรนด์ต่างประเทศ ที่แข็งแกร่งมายาวนาน 2) มุ่งมั่นสู่ global brand ด้วย แบรนด์ของตัวเอง “เกรฮาวด์ คาเฟ่” ให้สิทธิแฟรนไชส์ในต่างประเทศ 3) บุกตลาดยุโรปเปิดร้านอาหารเกรฮาวด์ คาเฟ่ แห่งแรกด้วยตัวเองที่อังกฤษในช่วงไตรมาส 4/60 เพื่อเป็นสาขาต้นแบบในการให้สิทธิแฟรนไซส์ ในทวีปยุโรปในอนาคต
ทั้งนี้คาดผลประกอบการปี 60 พลิกเป็นกำไร 57 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 2 ปีที่ 55% (61-62)
*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำหรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตามล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน