จัดธีม 4 หุ้นเด็ด พร้อมชูกลยุทธ์ประจำเดือนมิ.ย.
จัดธีม 4 หุ้นเด็ด พร้อมชูกลยุทธ์เดือนมิ.ย. โบรกฯ แนะหุ้นเด่นประจำเดือน นำโดย AOT, AP, BJC, IVL, MTLS, SAMTEL และ VNT
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากสถิติ และบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ หลังจากเข้าสู่เดือนมิถุนายน เพื่อให้นักลงทุนได้มองเห็นภาพรวมของตลาดหุ้นในช่วงดังกล่าว เพื่อจัดกลยุทธ์การลงทุนให้เข้ากับภาวะตลาดโดยรวม
ทั้งนี้จะเห็นตามสถิติแล้วดัชนีในเดือนนี้จะปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย สาเหตุจากสถาบันในประเทศมักจะซื้อสุทธิหุ้นในเดือนนี้เฉลี่ยกว่า 8.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามยังมีแนวโน้มว่าดัชนีจะปรับตัวลงจากค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนลงจากการที่ตลาดการเงินทั่วโลกเตรียมตัวรับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ อีกทั้งกระแสข่าวลบจากด้านการเมืองในยุโรปซึ่งอาจจะกระทบกับจิตวิทยาการลงทุน
ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองแนวโน้มตลาดในเดือน มิ.ย. แม้จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.5% และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 ใน 5 ปี โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากสถาบันในประเทศมักจะซื้อสุทธิหุ้นในเดือนนี้เฉลี่ยกว่า 8.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามในปีนี้มีโอกาสที่นักลงทุนสถาบันฯจะกลับมาขายสุทธิอีกครั้ง โดยหากวิเคราะห์มูลค่าซื้อขายปรับตามมูลค่าตลาด ตั้งแต่ปี 2548 พบว่า สถาบันฯ ซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องและขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในวันที่ 29 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท จึงทำให้เชื่อว่าสถาบันฯเหลือเงินสดน้อยแล้ว และมีโอกาสขายทำกำไรออกมาได้ในเดือนนี้
ยิ่งไปกว่านั้น Fund Flow ในเดือน มิ.ย. คาดว่ายังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดน่าจะถูกกดดันจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ รวมถึงการผิดหวังต่อการผลักดันนโยบายของทรัมป์ และยังสอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ต่างชาติขายสุทธิเฉลี่ยกว่า 1.07 หมื่นล้านบาท และเป็นการขายสุทธิถึง 4 ใน 5 ปี
ขณะที่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ “Sell in May” ซึ่งยังคงซ้ำรอยตลาดหุ้นไทย โดยพบว่าดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 0.3% (น้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ดัชนีปรับลดลงเฉลี่ย 1.97% ด้วยความน่าจะเป็น 60%) โดยในครึ่งแรกของเดือนปรับลดลงถึง 1.85% แต่ในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือน สามารถฟื้นตัวได้ 1.58%
อย่างไรก็ตาม มีอยู่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากอดีตคือ มียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ กว่า 5.5 พันล้านบาท แม้ตัดยอด Big Lot หุ้น BJC เมื่อวันที่ 30 พ.ค. มูลค่า 4.8 พันล้านบาท ยังมี ยอดซื้อสุทธิราว 800 ล้านบาท (ในอดีตขายสุทธิเดือน พ.ค.) ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการไหลเข้าของกระแสเงิน เชื่อว่าเป็นผลจากปัญหาการเมืองในสหรัฐ และยุโรป และตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ได้ตอบรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์ฯ แต่ในทางปฏิบัติยังคงเป็นไปได้ยาก ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐมี P/E ค่อนข้างสูงสุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นไทย มี P/E ต่ำสุดในแถบเอเชีย เป็นรองเพียงจีนประเทศเดียว
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในเดือน มิ.ย. แม้สถิติในอดีตบ่งบอกว่ามีโอกาสฟื้นตัว แต่ก็น่าจะมีกรอบจำกัด และไม่น่าเกิน 1,600 จุด ด้วยเหตุผลข้างต้น กลุ่มดัชนีที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดฯ คือ พลังงาน ธนาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล และกลุ่มยานยนต์ (รายละเอียดดังภาพด้านล่าง)
กลยุทธ์การลงทุนในเดือน มิ.ย. จึงยังคงเป็น Selective Buy เลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกหนุน หรือเป็นหุ้นที่ทีแนวโน้มผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/60 หรือ ครึ่งปีหลังของปี 60 เติบโต ดังที่จะได้กล่าวในหัวข้อถัดไป
ขณะที่ นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า SET Index จะปรับลดลงในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน เนื่องจากค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนลงจากการที่ตลาดการเงินทั่วโลกเตรียมตัวรับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ
อีกทั้งมีกระแสข่าวลบจากด้านการเมืองในยุโรปซึ่งอาจจะกระทบกับจิตวิทยาการลงทุนได้บ้าง อย่างไรก็ตามภาวะตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากทราบผลการประชุม FOMC ในวันที่ 14 มิถุนายน เนื่องจากความชัดเจนของนโยบายการเงินสหรัฐน่าจะทำให้นักลงทุนกลับมาอยู่ในโหมด risk-on อีกครั้ง คล้ายคลึงกับรูปแบบที่เกิดขึ้นในวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในรอบก่อนๆ หน้านี้
ด้านธีมการลงทุน เน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว (bottom-up) โดยหุ้นเด่นสำหรับเดือน มิ.ย. ได้แก่ AOT*, AP*, BJC, IVL*, MTLS*, SAMTEL และ VNT พอร์ตหุ้นแนะนำ มิ.ย. คงเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว
ทั้งนี้ภาพใหญ่ของ SET Index ในเดือนมิถุนายนน่าจะยังคงเป็นลักษณะไซด์เวย์เหมือนกับเดือนที่แล้ว โดยเรามองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานในช่วงครึ่งแรกของเดือน เนื่องจากค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนลงจากการที่ตลาดการเงินทั่วโลกเตรียมตัวรับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ
ขณะที่สภาวะที่เปราะบางของสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางประเด็นปัญหาด้านการเมืองในสหรัฐ สถานการณ์หนี้ของกรีซก่อนกำหนดชำระหนี้งวดถัดไป
รวมทั้งประเด็นการเลือกตั้งที่เร็วกว่ากำหนดในอังกฤษและในอิตาลี และผลสืบเนื่องจากการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-shares ของจีนในดัชนีมาตรฐาน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI EM Asia ex-Japan บ้างไม่มากนัก จากการวิเคราะห์ PE band
ทั้งนี้มองว่าหากดัชนีฯ ปรับลงในเดือนนี้ น่าจะไม่ลงไปต่ำกว่า 1,550 จุด และเราเชื่อว่าภาวะตลาดจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากทราบผลการประชุม FOMC ในวันที่ 14 มิถุนายน เนื่องจากความชัดเจนของนโยบายการเงินสหรัฐน่าจะทำให้นักลงทุนกลับมาอยู่ในโหมด risk-on อีกครั้ง คล้ายคลึงกับรูปแบบที่เกิดขึ้นในวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในรอบก่อนๆ หน้านี้
สำหรับหุ้นแนะนำ เดือน มิ.ย. คงเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เนื่องจากมุมมองตลาดของเราในเดือนมิถุนายนยังคงเหมือนกับเดือนก่อนหน้า กล่าวคือไซด์เวย์และมีโอกาสปรับฐานได้ เราจึงยังคงเน้นเลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว (bottom-up) โดยธีมการลงทุนที่น่าสนใจในเดือนมิถุนายนได้แก่
หุ้น big caps ที่มีโอกาสสูงที่จะนักวิเคราะห์ในตลาดจะปรับเพิ่มประมาณการและราคาเป้าหมาย
หุ้นที่มีโอกาสเข้ามาในการคำนวณดัชนี SET50 ซึ่งจะมีการประกาศในช่วงกลางเดือนนี้
หุ้นที่มีประเด็นบวกของธุรกิจเป็นการเฉพาะตัว และ iv) หุ้น small caps ที่มีกำไรมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งกว่าหุ้นอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ทั้งนี้จาก 4 ธีมดังกล่าวเลือกหุ้นแนะนำในเดือนมิถุนายนเป็นหุ้น AOT*, AP*, BJC, IVL*, MTLS*, SAMTEL และ VNT
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ มอง SET Index เดือน มิ.ย. มีความเสี่ยงในการปรับตัวลง แนะชิงขายก่อน-รอซื้อคืนที่ต่ำโดยภาพโดยรวม เรามองตลาดหุ้นสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการปรับฐานมาก น่าจะกดดันตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงตาม จากการประเมินมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ ที่ตึงตัวมาก
โดยคิดเป็น Fwd. PER ประมาณ 18 เท่า ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ Dot Com Bubble
ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขึ้นมานานกว่า 10 เดือนโดยไม่มีการปรับฐานลงเกินกว่า 5% เลย ซึ่งนับเป็นการปรับตัวขึ้นที่ยาวนานมาก เทียบกับปกติโดยเฉลี่ยตลาดจะมีการปรับฐานทุกๆ 6 เดือนในช่วง 4 ปีย้อนหลัง
ด้าน Citi Economic Surprise Index ซึ่งปกติมีความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันราคาหุ้น เริ่มไม่ได้สร้างความประหลาดใจในทางบวกแล้ว ดังนั้นต้องระวังการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นในระยะหลังนี้อาจต่อเนื่องได้อีกไม่นาน
นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และคาดการณ์การส่งสัญญาณชัดขึ้นเกี่ยวกับจังหวะเวลาการเริ่มต้นปรับลดขนาดงบดุลลงในการประชุมเดือน มิ.ย. นี้ คาดว่าจะช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ฯ กลับมาปรับตัวสูงขึ้น ผสานกับเงินบาทที่มักอ่อนค่าตามปัจจัยฤดูกาลในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงแก่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง