เปิดชื่อหุ้นพลังงานทดแทนตัวท็อป ลุ้นคว้าโซลาร์สหกรณ์รู้ผลพรุ่งนี้

เปิดชื่อหุ้นพลังงานทดแทนตัวท็อป ลุ้นคว้าโซลาร์สหกรณ์ประกาศผลอย่างเป็นทางการพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.60)


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก หลังยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 กำลังการผลิตไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งมีการจับสลากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ววานนี้ (26 มิ.ย.) และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.)

โดย ภายหลังจากการจับสลากเพื่อคัดเลือกผู้ที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรจากที่สอบผ่านรอบแรก 636 ราย มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกที่มีสิทธิยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการทั้งสิ้นจำนวน 38 ราย หรือคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้าที่รวมทุกพื้น รวม 171.52 เมกะวัตต์ ซึ่งมีเป้าหมายรวมไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ แบ่งประเภทและเป้าหมายการจัดหาตามพื้นที่

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. สามารถนำผลการจับสลากมาประมวลผลการคัดเลือกผู้มีสิทธิจากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร

พร้อมทั้งการประมวลผลจัดอันดับจำนวนโครงการในแต่ละเป้าหมาย การจัดหาตามพื้นที่ที่สามารถป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (Feeder) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกฯ (อย่างไม่เป็นทางการ) เป็นโครงการจากหน่วยงานราชการ ได้แก่ องค์การ ที่รัฐจัดตั้งขึ้น (ไม่รวมองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ) จำนวน 11 ราย หรือคิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้า รวม 52.52 เมกะวัตต์

อีกทั้งโครงการจากสหกรณ์ภาคการเกษตร (สหกรณ์ภาคการเกษตร/สหกรณ์นิคม/สหกรณ์ประมง) จำนวน 27 ราย หรือคิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้า รวม 119.00 เมกะวัตต์

“กกพ.จะพิจารณารายชื่อผู้ที่ผ่านกระบวนการจับสลาก และประกาศผลอย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ โดยปิดประกาศที่สำนักงาน กกพ. และทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนยื่น คำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าต่อไป” นายวีระพล กล่าว

 

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีดังนี้ GUNKUL, SUPER,ETE,BCPG,PSTC,TSE,TWZ,SOLAR,RATCH,BRIMM,CWT และGREEN

ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มเฟส 2 จะส่งผลบวกต่อ บจ.หลายรายที่มีความสนใจเข้าร่วม โดยกลุ่มที่มีความน่าสนใจในแง่การลงทุนจะเป็นผู้เล่นรายเดิม เพราะการรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้มีอัตราการรับซื้อที่ 4.12 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าครั้งก่อนที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งบริษัทที่เคยทำมาก่อนจะมีความสามารถด้านการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีกว่า โดยเด่นสุดที่ฝ่ายวิเคราะห์เลือกคือ GUNKUL เพราะจะได้รับประโยชน์ทั้งการขายไฟฟ้าและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

 

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยแนะนำ ลงทุนกลุ่มทรัพยากร,พลังงานและสาธารณูปโภคมากกว่าปกติทั้งนี้ แนะนำติดตามผลจับฉลากโซลาร์ฯรอบที่ 2 หลังจากที่ได้มีการจับฉลากไปแล้วในวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้น้ำหนักกับผู้เล่นขนาดกลาง-เล็ก

ทั้งนี้แนะนำติดตามการเปลี่ยนแปลงหลังผลจับฉลาก เช่นเดียวกับโซลาร์สหกรณ์ฯรอบแรกในปี 59 ทางฝ่ายมองเห็นการเข้าซื้อบริษัทย่อยที่ได้รับการคัดเลือกจะตามมา โดยเฉพาะจากผู้เล่นขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุน เช่น GUNKUL-SUPER ซึ่งต้องติดตามในแง่ความคุ้มค่าต่อจากนี้เป็นรายโครงการ

 

อนึ่ง กกพ. ได้แบ่งเป้าหมายการจัดหาไฟฟ้าออกเป็นหน่วยงานราชการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และสหกรณ์การเกษตรไม่เกิน 119 เมกะวัตต์ แยกเป็นแต่ละพื้นที่คือกรุงเทพฯ และปริมณฑล 25 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 5 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 15 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 5 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 29 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 70 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 70 เมกะวัตต์ สำหรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นระบบ FiT ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย อายุสัญญาการซื้อขายไฟ 25 ปี

ทั้งนี้ บจ.ที่ชนะการจับสลากในเฟส 1 ประกอบด้วย SUPER จำนวน 42 เมกะวัตต์, บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) 12 เมกะวัตต์, PSTC ได้ไป 10 เมกะวัตต์,บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) 9 เมกะวัตต์, บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) 6 เมกะวัตต์, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 5 เมกะวัตต์, บมจ.สแกนอินเตอร์ (SCN) 5 เมกะวัตต์ และ GUNKUL จำนวน 5 เมกะวัตต์

Back to top button