KKP จ่อประกาศกำไร Q2 สุดแจ่ม! รับสินเชื่อโตดี-ตั้งสำรองฯลดฮวบ

KKP จ่อประกาศกำไร Q2/60 สุดแจ่ม! รับสินเชื่อโตดี-ตั้งสำรองฯลดฮวบ ฟากโบรกฯ แนะ "ซื้อ" ให้เป้าสูง-อัพไซต์ยังเหลือ


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP หลังใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 2/60 ของกลุ่มสถาบันการเงิน โดยนักวิเคราะห์มองว่ากำไรในไตรมาส 2/60 ของ KKP จะเติบโตดีขึ้น และโดดเด่นกว่ากลุ่ม ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่เติบโตอย่างโดดเด่นและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่ลดลง

โดยราคาหุ้น KKP ปิดตลาดวานนี้ ( 11 ก.ค.) อยู่ที่ 71.75 บาท บวก 0.75 บาท หรือ 1.06% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 137.24 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่นักวิเคราะห์ให้ที่ 85 บาท อยู่ 18.47% นอกจากนี้ค่า P/E ณ วันที่ 7 ก.ค.60 อยู่ที่ 10.08 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่า P/E ของกลุ่มธนาคาร ซึ่งอยู่ที่ 10.80 เท่า

 

ด้านนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” KKP ราคาเป้าหมาย 85 บาท/หุ้น โดยคาด KKP จะรายงานกำไรไตรมาส 2/60 ที่ 1.44 พันล้านบาท สูงขึ้น 11% จากปีก่อน หนุนโดยสินเชื่อเติบโตและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯลดลง ประมาณการของฝ่ายวิจัยคาดว่าสินเชื่อเติบโต 4% จากปีก่อน และ 2% จากไตรมาสก่อน นำโดยกลุ่มลูกค้ารายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก

ขณะที่ KKP รายงานสินเชื่อเติบโต 3.7% ในห้าเดือนแรกของปี 2560 เติบโตเร็วกว่าคาดมาก ฝ่ายวิจัยจึงมองว่ามีโอกาสที่สินเชื่อของ KPP จะเติบโตมากกว่าประมาณการปี 2560 ของฝ่ายวิจัยที่ 5%

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงปรับประมาณการสินเชื่อเติบโตของ KKP ขึ้นจาก 5% มาอยู่ที่ 8% สำหรับปี 2560 และจาก 5% มาอยู่ที่ 6% สำหรับปี 2561 อีกทั้งการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯปี 2560 ของ KKP มีโอกาสน้อยกว่าประมาณการของฝ่ายวิจัยที่ 2.2 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารตั้งสำรองฯเพียง 167 ล้านบาทในไตรมาส 1/60 (คุณภาพสินทรัพย์ของทั้งลูกค้ารายย่อยที่ไม่ใช่สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบรรษัทดีขึ้น) ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการกำไรเติบโตของ KKP ขึ้น 3.3% สำหรับปี 2560 มาอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท และปรับเพิ่ม 3% สำหรับปี 2561 มาอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนสินเชื่อห้าเดือนแรกที่เติบโตแข็งแกร่ง ฝ่ายวิจัยคาดธนาคารจะประกาศเงินปันผล 8.3% ในปี 2560 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร

ขณะที่ในปีนี้ KKP ยังคงมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย และ SMEs ขนาดเล็ก ทั้งสองกลุ่มนี้ให้กำไรมากกว่าการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปี 2560 อย่างอนุรักษ์นิยมที่ 4.4% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารที่ 4.7-4.9% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปี 2559 ที่ 4.8% เนื่องจากฝ่ายวิจัยคาดการแข่งขันในตลาดสินเชื่อจะรุนแรงขึ้น กอปรกับฝ่ายวิจัยคาดว่า KKP จะมีกำไรจากมีการปรับโครงสร้างหนี้ลดลงจากปีก่อน หาก KKP สามารถบรรลุเป้าหมายส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยได้ กำไรปี 2560 จะมากกว่าประมาณการใหม่ของฝ่ายวิจัยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มี.ค. อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสะสมต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 110% และสัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 5.6% เทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่ 162% และ 2.6% ตามลำดับ จึงเชื่อว่าพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่ของกิจการส่วนมากมีสินทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่า

ดังนั้นธนาคารจึงไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองฯ มากเท่ากับธนาคารอื่นๆ (โดยปกติธนาคารไม่ได้ทำธุรกรรมทางการเงินเทรดไฟแนนซ์) ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยยังประเมินการตั้งสำรองฯ อย่างอนุรักษ์นิยมเท่าเดิมที่ 2.2 พันล้านบาทในปี 2560 และ 2.3 พันล้านบาทในปี 2561 (ธนาคารตั้งที่ 2.3 พันล้านบาทในปี 2559) และฝ่ายวิจัยคาดธนาคารจะปรับลดสัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลงเป็น 5.2% ปลายปี 2560

ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัยประเมินการตั้งสำรองฯ ในไตรมาสนี้ที่ 300 ล้านบาท ลดลง 51% จากปีก่อน และประเมินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไตรมาส 2/60 ที่ 4.75% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน แต่สูงขึ้น 8bps จากไตรมาสก่อน หนุนโดยสินเชื่อเติบโตมากขึ้น

 

ส่วนนักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ซื้อ” KKP ราคาเป้าหมาย 77 บาท/หุ้น ฝ่ายวิจัยคาดว่า KKP จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/60 มีความโดดเด่นทั้งสินเชื่อและการเติบโตของกำไรเมื่อเทียบกับกลุ่ม โดยคาดสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 3% จากต้นปีถึงปัจจุบัน (เทียบกับทั้งกลุ่มที่เติบโตน้อยกว่า 1%) และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน , เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เมื่อเทียบกับทั้งกลุ่มชะลอตัวทั้งจากไตรมาสก่อนและจากปีก่อน) พร้อมกันนี้ฝ่ายวิจัย ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2560 ขึ้น 4% เป็น 6.1 พันลบ. (เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน) เพื่อสะท้อนสินเชื่อที่ดีกว่าคาด

ขณะที่ KKP รายงานสินเชื่อเดือนพ.ค. เติบโตสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารที่อยู่ใน Coverage ของฝ่ายวิจัยที่ 2.5% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และ 5 เดือนแรกในปีนี้ สินเชื่อ เพิ่มขึ้น 3.7% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม เพิ่มขึ้น 0.6% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน) สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรายย่อยที่ไม่ใช่สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบรรษัทรวมถึงสินเชื่อ Lombard loan (สินเชื่ออเนกประสงค์ที่ให้กับลูกค้าในกลุ่มลูกค้าบุคคล)

นอกจากนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังชะลอตัวตามภาวะอุตสาหกรรม ฝ่ายวิจัยคาดการณ์สินเชื่อไตรมาส 2/60 จะเพิ่มขึ้น 2-3% จากไตรมาสก่อน ซึ่งดีกว่าการเติบโตในไตรมาสก่อนหน้า และโดดเด่นกว่ากลุ่ม ดังนั้นฝ่ายวิจัยคาดว่า KKP จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 2/60 ที่ 1.6 พันลบ. เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน และ เพิ่มขึ้น 24%จากปีก่อน น่าจะเป็นการเติบโตที่ดีกว่ากลุ่มเช่นกัน

โดยประมาณการดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่ 5.2% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน, Credit cost 0.5% (เมื่อเทียบกับทั้งกลุ่มในไตรมาส 1/60 ที่ 0.38%) ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งสำรองฯที่อยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับ NPL ที่ชะลอตัวและผลขาดทุนรถยึดที่ดีขึ้นมาก และ Cost to income ratio ที่ 47% ทรงตัวจากไตรมาสก่อน

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2560 ขึ้น 4% เป็น 6.1 พันลบ. (เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน) เนื่องจากปรับเพิ่มการเติบโตของสินเชื่อจากเดิม 5% เป็น 8% เพื่อสะท้อนการเติบโตของสินเชื่อในครึ่งแรกของปีนี้ ที่มีโมเมนตัมดีกว่าคาด (ครึ่งแรกของปีนี้คาดการณ์สินเชื่อ เพิ่มขึ้น 4% เมื่องเทียบกับทั้งกลุ่ม) ซึ่งเป็นการเติบโตของสินเชื่อที่กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปีจากกลยุทธการปรับส่วนผสมของสินเชื่อโดยลดการพึ่งพิงสินเชื่อเช่าซื้อ

Back to top button