ถึงเวลาเก็บ SCC รอรับปันผลสุดหรู จ่อประกาศงบ Q2 วันนี้!

ถึงเวลาเก็บ SCC รอรับปันผลสุดหรู จ่อประกาศงบ Q2 วันนี้ แถมทั้งปียังโตแตะ 5 หมื่นล้านบาท ฟากโบรกฯ เชียร์ "ซื้อ" อัพไซต์เหลือเพียบ


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC หลังเข้าสู่ช่วงประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/60 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า SCC จะประกาศกำไรประจำไตรมาส 2/60 ในวันนี้ (26 ก.ค.) โดยมองว่ากำไรของ SCC ในไตรมาส 2/60 จะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน จากส่วนต่าง (สเปรด) ปิโตรเคมีบางผลิตภัณฑ์ที่อ่อนตัวลง และราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และกระดาษยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าทั้งปี 60 บริษัทจะสามารถทำกำไรได้เกินกว่าระดับ 5 หมื่นล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งการมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีทิศทางดีขึ้น จึงมองว่ากำไรในปี 60 จะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ด้านราคาหุ้นปิดตลาดล่าสุด (25 ก.ค.) อยู่ที่ 506.00 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง สูงสุดที่ 508.00 บาท ต่ำสุดที่ 502.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 927.12 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่นักวิเคราะห์ให้ที่ 620 บาท อยู่ 22.53%

ขณะที่ค่า P/E อยู่ที่ระดับ 10.12 เท่า ณ วันที่ 24 ก.ค.60 ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งอยู่ที่ 12.40 เท่า

 

ด้านนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” SCC ด้วยราคาเป้าหมาย 620.00 บาท/หุ้น โดยประมาณการณ์กำไรสุทธิของ SCC ในไตรมาส 2/60 ที่ 1.44 หมื่นล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 17% จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 2/60 จะอ่อนตัวและการเติบโตในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจะไม่น่าตื่นเต้น แต่มองว่าโอกาสที่ราคาหุ้นจะลดลงมีจำกัด เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอัตราตอบแทนเงินปันผลที่น่าสนใจถึง 4.2% กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากธุรกิจเคมีภัณฑ์น่าจะหนุนให้ SCC สามารถจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นระหว่างกาลที่ 10.50 บาท/หุ้น คิดจากอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 40%

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” SCC ด้วยราคาเป้าหมาย 610.00 บาท/หุ้น โดยคาดการณ์กำไรปกติของ SCC ในไตรมาส 2/60 จะอยู่ที่ระดับ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 14% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมาร์จิ้นปิโตรเคมีที่ลดลงกดดันผลประกอบการกลุ่มเคมีภัณฑ์ และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในเครือ ขณะที่ธุรกิจวัสดุก่อสร้างถูกกดดันจากการก่อสร้างในประเทศยังไม่ฟื้นตัว และมีค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นจากโรงปูนซีเมนต์ในเมียนมาและลาวที่เปิดดำเนินการเมื่อปลายไตรมาส 1/60

อย่างไรก็ตาม กำไรของ SCC ในครึ่งแรกปีนี้น่าจะเท่ากับ 53% ของคาดการณ์กำไรทั้งปี ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3/60 น่าจะทำได้เพียงทรงตัว ก่อนจะเห็นการเติบโตอีกครั้งช่วงปลายปีตามการก่อสร้างภาครัฐที่จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้นจึงยังคงประมาณการกำไรปกติในปีนี้ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ทรงตัวในระดับเดียวกับปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของ SCC

 

ส่วนนักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” SCC ด้วยราคาเป้าหมาย 600 บาท/หุ้น โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานของ SCC ในไตรมาส 2/60 จะชะลอตัวลงเหลือระดับ 1.35 หมื่นล้านบาท ลดลง 22% จากไตรมาสก่อน และลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับลดลงของราคาปิโตรเคมีหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้อาจมีผลขาดทุนสต็อก ประกอบกับสเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอ่อนตัวลงกดดันต่อผลการดำเนินงาน

นอกจากนี้ ธุรกิจซีเมนต์ยังคงเผชิญกับการแข่งขันสูง และความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของตลาดรวมที่หดตัว 7-8% ในครึ่งแรกของปีนี้ รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ก็มีผลการดำเนินงานชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการส่งออก ขณะเดียวกันในงวดนี้ SCC ยังไม่มีกำไรพิเศษเหมือนในงวดไตรมาส 1/60 ที่มีกำไรจากการขายเงินลงทุนราว 1.9 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้กำไรในไตรมาส 2/60 ของ SCC จะหดตัวลง แต่เมื่อรวมกับกำไรที่ดีมากในไตรมาสแรก ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก SCC จะทำกำไรได้ราว 56-57% ของประมาณการกำไรทั้งปีนี้ที่ระดับ 5.5 หมื่นล้านบาท ลดลงราว 2% จากฐานกำไรที่สูงในปีที่แล้ว แต่กำไรทั้งปีที่ระดับดังกล่าวนับว่าอยู่ในระดับที่สูง และยังคงมีความสามารถในการจ่ายปันผลปีนี้ที่ราว 18-19 บาท/หุ้นได้ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล ในระดับ 3.7%

สำหรับการประกาศแผนลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามของ SCC ที่มีมูลค่าลงทุนทั้งโครงการสูงถึง 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.88 แสนล้านบาทนั้น ในส่วนนี้จะเป็นเงินกู้ราว 60% และส่วนทุน 40% โดย SCC ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว 71% คิดเป็นเงินลงทุนในส่วนของ SCC เพียงปีละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่กระทบต่อเป้าหมายงบลงทุนของ SCC ในแต่ละปีที่ 5 หมื่นล้านบาท

และเมื่อเทียบกับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในแต่ละปีที่ทำได้เกือบ 1 แสนล้านบาทนั้น ก็นับว่าไม่เป็นภาระต่อเงินลงทุน อีกทั้งยังไม่กระทบต่อการจ่ายเงินปันผลที่ SCC จะยังคงสามารถจ่ายปันผลในระดับสูงที่ 18-19 บาท/หุ้นได้ต่อเนื่องด้วย

Back to top button