เปิดสถิติ 14 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองกับตลาดหุ้นไทย
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากเหตุกา …
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศที่สำคัญรวม 14 เหตุการณ์หลักๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยเหตุการณ์ทางการเมืองนั้นจะมีผลกระทบต่อ SET และการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด รวมถึงระยะเวลาที่ SET จะกลับมาที่จุดเดิมจะใช้เวลามากที่สุดด้วย
ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นออนไลน์” จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2540-2560 รวมระยะเวลา 11 ปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย รวมทั้งสิ้น 14 เหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อ SET ดังตารางประกอบ
(คลิกที่ตารางเพื่อขยายขนาด)
– ในปี 2540 เป็นวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการณ์ครั้งนี้ เริ่มจากปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน จนทำให้นักลงทุนต่างชาติ โจมตีค่าเงินบาทอย่างรุนแรง ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลค่าเงินบาท ได้ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศปกป้องค่าเงินบาทไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในค่าเงินบาท จนนำมาสู่การตัดสินใจในการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวแบบ Managed Float ในวันที่ 2 ก.ค. 2540
– ในปี 2549 มี 2 เหตุการณ์สำคัญคือการปฏิวัติ (19 ก.ย.) รัฐประหารในประเทศ เกิดในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกสั่งให้เป็นโมฆะ
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2549 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี (ยศในขณะนั้น) ได้ออกกฎอายัดเงินนำเข้า 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวจาก 730 จุดในช่วงเช้า ก่อนมาปิดตลาดที่ 622 จุด หรือลดลง 108 จุด ปรากฏว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และ รมว.คลังได้เรียกผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าวมาประชุมที่กระทรวงการคลังในเวลา 18.00 น. ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย โบรกเกอร์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายหลังการหารือร่วม 2 ชั่วโมง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้แถลงข่าวจากกระทรวงการคลังผ่านโมเดิร์นไนน์ทีวีว่า ขอยกเลิกการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวกับเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่วันนี้ (20 ธ.ค.)
– ในปี 2551 มี 2 เหตุการณ์สำคัญคือ การปิดล้อมท่าอากาศยานในประเทศไทย ในวันที่ 24 พ.ย.2551 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้บุกเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้สำเร็จ ทำให้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในทั้งสองพื้นที่
โดยมี พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็น ผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พลตำรวจโท ฉลอง สนใจ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่ก็มิได้มีการดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด และกลุ่มพันธมิตรฯก็ได้ประกาศยุติการชุมนุมไปในที่สุดในวันที่ 3 ธันวาคม หลังจากที่นายสมชายพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม
และในวันที่ 15 ก.ย.51 ข่าวเลห์แมนบราเธอร์สประกาศภาวะล้มละลาย (เริ่มวิกฤต sub-prime) (15 ก.ย.) เลห์แมนบราเธอร์สประกาศยื่นขอพิทักษ์ตามกระบวนการล้มละลายในวันที่ 15 ก.ย.51 เนื่องจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเกาหลีใต้ หรือ เคดีบี แบงก์ออฟอเมริกาคอร์ป และบาร์เคลย์ส ได้ถอนการเจรจากลางคัน รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปฎิเสธให้ความช่วยเหลือ ส่งผลให้ตลาดสินเชื่อโลกเกิดภาวะตึงตัวอย่างรุนแรง จนทำให้เฟด, ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ, ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี และธนาคารกลางอีกหลายแห่งทั่วโลกต้องอัดสภาพคล่องเข้าระบบตลาดเงินโลกโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์ เพื่อคลี่คลายวิกฤตและเรียกความเชื่อมั่นในตลาดการเงินกลับคืนมา
นอกจากนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญผลกระทบทั้งทางตรงหรือทางอ้อมซึ่งเห็นได้ชัดเจนก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกต่างทยอยปรับลดลงอย่างรุนแรงในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย.51
อนึ่ง เลห์แมนบราเธอร์ส อดีตวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก หนึ่งในธนาคารที่เป็นหัวใจสำคัญในภาคเงินสหรัฐฯ และโลก เป็นกลไกสำคัญในตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ รวมทั้งมีการลงทุนในตลาดสินเชื่อซับไพร์มมากถึง 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และพอร์ตการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งยังดำเนินธุรกิจด้านธนาคารเพื่อการลงทุน และการบริหารสินทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการล้มละลายในครั้งนี้ย่อมต้องส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงานในภาคการเงินของสหรัฐฯ
– ในปี 2552 เกิดเหตุการณ์รัฐบาลดูไบขอเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทดูไบเวิลด์ (27 พ.ย.) โดยมีแผนเลื่อนการชำระหนี้จำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรรัฐฯ เป็นมาตรการแรกในการปรับโครงสร้างดูไบเวิลด์ กลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจรัฐดูไบขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
โดยการประกาศเลื่อนการชำระหนี้อย่างกะทันหันของรัฐบาลดูไบครั้งนี้ ทำให้มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ซึ่งเป็น 2 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของโลก ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลดูไบ โดยมูดี้ส์ลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลดูไบ โดยมูดี้ส์ลดอันดับความน่าเชื่อถือของบางบริษัทลงสู่สถานะ “junk” หรือ “ขยะ” ขณะที่เอสแอนด์พีระบุว่าการที่รัฐบาลดูไบประกาศปรับโครงสร้างดูไบเวิลด์ อาจถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ตามเกณฑ์ของเอสแอนด์พี
ทั้งนี้ บริษัทนาคีล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือดูไบเวิลด์ แจ้งว่าดูไบเวิลด์มีหนี้สิน 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนใหญ่จากหนี้สินทั้งหมดจำนวน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของรัฐบาลดูไบ นอกจากนี้ บริษัทนาคีล ซึ่งเป็นผู้พัฒนาย่านคฤหาสน์หรูหราบนหมู่เกาะเป็นรูปต้นปาล์มที่มีชื่อเสียงของดูไบ มีหุ้นกู้อิสลามในวงเงิน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ และมีหนี้ตราสารหนี้ในวงเงิน 980 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 13 พ.ค.ปีหน้า ขณะที่บริษัทลิ-มิทเลส ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบเวิลด์อีกรายหนึ่ง มีหุ้นกู้ในวงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 31 มี.ค.ปีหน้า
– ในปี 2553 เกิดเหตุการณ์การชุมนุมนปช.(8 เม.ย.) การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2552 เนื่องจากผู้ชุมนุมมีข้อสงสัยว่ากองทัพไทยอยู่เบื้องหลังการยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในปีต่อมา นปช. ประกาศจะเริ่มการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553
ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ จึงเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงอย่างมาก รวมทั้งเข้มงวดกับการตรวจพิจารณาสื่อมวลชนและอินเทอร์เน็ต ตลอดจนสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุที่ดำเนินงานโดยกลุ่มผู้ชุมนุม
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่สามารถยับยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมิให้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครได้ ผู้ชุมนุมส่วนมากเดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่ก็มีชาวกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมเช่นกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ไทย
โดยในช่วงแรก การชุมนุมเกิดขึ้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศบนถนนราชดำเนินและเป็นไปโดยสงบ กลุ่มผู้ชุมนุมใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การเดินขบวนรอบกรุงเทพมหานคร การรวบรวมเลือดไปเทที่หน้าประตูทำเนียบรัฐบาล หน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านพักอภิสิทธิ์เพื่อกดดันรัฐบาล
จากนั้นมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมสองครั้ง ได้ข้อสรุปว่าจะมีการยุบสภา แต่ไม่สามารถสรุปวันเวลาได้ โดยทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุม มีการยิงลูกระเบิดชนิดเอ็ม-79 หลายสิบครั้งแต่ก็ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน
ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดการจราจรที่แยกราชประสงค์ รวมทั้งสร้างแนวป้องกันในบริเวณโดยรอบ วันที่ 8 เมษายน อภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนขึ้นไป และในวันที่ 10 เมษายนกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ทั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ศพ มีช่างภาพชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตรวมอยู่ด้วย 1 คน และทหารเสียชีวิต 5 นาย ตลอดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 800 คน สื่อไทยเรียกการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า “เมษาโหด”
พร้อมกันนี้ วันที่ 14 เมษายน แกนนำประกาศรวมที่ชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว วันที่22 เมษายน เหตุปาระเบิดมือทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 86 คน กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนบุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อหาตัวผู้ลงมือ แต่หาไม่พบ
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในภายหลังชี้ว่าโรงพยาบาลอาจเป็นแหล่งของผู้ลงมือ แต่ไม่มีการจับกุมผู้กระทำแต่อย่างใด
– ในปี 2554 มี 3 เหตุการณ์สำคัญคือเหตุการณ์ความไม่สงบอียิปต์ (10 ก.พ.) อีกทั้งการที่ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐ จาก AAA เป็น AA+ และการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในกรีซไม่คืบหน้า (ส.ค.-ก.ย.) ขณะที่อีกเหตุการณ์สำคัญคือ สึนามิในประเทศญี่ปุ่น (11 มี.ค.) รวมถึงน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย (เริ่มกลางเดือน ก.ย.)
– ในปี 2555 มีเหตุการณ์ผลเลือกตั้งของกรีซ ซึ่งพรรค Syriza ได้รับเลือกอาจกระทบต่อแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและการเป็นสมาชิกกลุ่ม EU (8 พ.ค.)
– ในปี 2556 มีเหตุการณ์สงครามซีเรีย (28 ส.ค.) และการชุมนุมต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรมและขับไล่รัฐบาล (1 พ.ย.) ส่วนเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจคือความกังวลว่าเฟดจะลด QE (23 พ.ค.)
– ในปี 2557 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย
โดยมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านการเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง “สภาประชาชน” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
– ในปี 2558 เกิดวิกฤตการณ์ก่อการร้ายราชประสงค์ เป็นเหตุระเบิดที่เกิดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 เวลา 18.55 น.บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมาวันอังคารที่ 18 ส.ค.2557 เมื่อตลาดหุ้นไทยเปิดในเวลา 10.00 น. ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงทันที -38 จุด อยู่ที่ระดับ 1,370.54 จุด
ซึ่งในขณะนั้น นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ชี้แจงว่า ทั้ง ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้เตรียมพร้อมระบบเพื่อรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นแล้ว
โดยหากเกิดเหตุการณ์สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนอย่างรุนแรง รวมไปถึงราคาหุ้นโดยรวมเปลี่ยนแปลงลดลงมาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน
– ในปี 2559 เกิดวิกฤตการณ์สหราชอาณาจักร หรือ อังกฤษ ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ถือเป็นเหตุการณ์ที่เหล่ากูรูนักวิเคราะห์ของแต่ละสถาบัน ต่างออกมาเปิดเผยว่า จะไม่กระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก แต่วันที่ 24 มิ.ย. 2559 เมื่อผลการลงประชามติออกมาว่าอังกฤษจะออกจาก EU ทำเอาช็อกไปทั่วโลก โดยผลโหวตปรากฏว่า 51.9% ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป และ 48.1% ให้สหราชอาณาจักรอยู่กับสหภาพยุโรป ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจ จนส่งผลกระทบมายังตลาดหุ้นไทยจนได้
โดยในช่วงเช้าของวันที่ 24 มิ.ย.2559 ก่อนผลประชามติจะออกมาอย่างเป็นทางการ ดัชนีหุ้นไทยร่วงหนักไปเกือบ -42 จุด หรือเกือบ 3% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในต่างประเทศ และในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดลบไป -23.21 จุด รวมถึงราคาทองผันผวนหนักถึงขั้นปรับขึ้น-ลงทำสถิติสูงสุด 31 ครั้ง ในวันเดียว ซึ่งเหตุกาณ์ดังกล่าวถือว่าส่งผลกระทบมายังตลาดหุ้นไทยไม่มากเท่าไหร่นัก
และล่าสุดในวันที่ 25 ส.ค.60 จะเป็นวัดนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย โดยคดีจำนำข้าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
สำหรับข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 นั้นระวางโทษจำคุกเช่นเดียวกัน แต่ระวางโทษปรับที่สูงกว่า คือ 20,000 – 200,000 บาท
โดยการระวางโทษปรับดังกล่าว เป็นคนละส่วนกันกับมูลค่าความเสียหายทางแพ่ง ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งได้สรุปตัวเลขที่เกิดขึ้นคิดเป็น 20% ของความเสียหายทั้งหมดของโครงการ หรือคิดเป็นมูลค่า 3.57 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ออกคำสั่งการบังคับคดีที่เป็นคำสั่งทางปกครองต่างหาก
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ทั้งหมด พบว่าเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีมากที่สุดคือ ข่าวเลห์แมนบราเธอร์สประกาศภาวะล้มละลาย (เริ่มวิกฤต sub-prime) (15 ก.ย.51) ที่ฉุดดัชนีร่วงลงถึง 108.41 จุด หรือ 14.84% อย่างไรก็ตามดัชนีที่ปรับตัวลงหลังมีเหตุการณ์ทางการเมืองมักจะมีการปรับตัวกลับมาที่จุดเดิมก่อนที่จะลงหนักได้ในเวลาต่อมา จึงเป็นที่น่าสังเกตุว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะยังส่งผลกระทบต่อดัชนีไทยมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่จับตา คือ สถานการณ์การเมือง ซึ่งจะมีการตัดสินคดีการขายข้าวจีทูจี และคดีรับจำนำข้าวในวันที่ 25 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ารัฐบาลน่าจะดูแลบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้
ด้าน บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามสำหรับตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า คาดกรณีคำตัดสินคดีจำนำข้าว 25 ส.ค.60 จะไม่มีผลต่อตลาดหุ้นไทย เช่นเดียวกับคดียุบพรรคการเมืองรวมถึงคดีการเมืองอื่นๆ ในอดีต ยกตัวอย่างเช่น คดียุบพรรคพลังประชาชน เมื่อ 2 ธ.ค.2551 หุ้นไทยกลับตัวขึ้นจาก 387 จุด เป็น 392 จุด ในวันถัดมา และบวกต่อ 23% เทียบกับเดือนก่อน หลังคำตัดสิน 1 เดือน