เปิด 20 หุ้นวิ่งแรงติดเทอร์โบ! ชู 8 เดือนโกยรีเทิร์นเกิน 50%

ภาวะตลาดหุ้นไทยปี 60 ผ่านพ้นไปแล้ว 8 เดือน และผลตอบแทนในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 4.75% โดยเป็นระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งก็เป็นไปตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่สูงเกือบ 20% ในปี 59 ชนะตลาดหุ้นอื่นๆ ทั้งหมดที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยจึง underperform กว่าอย่างเห็นได้ชัด


ภาวะตลาดหุ้นไทยปี 60 ผ่านพ้นไปแล้ว 8 เดือน และผลตอบแทนในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 4.75% โดยเป็นระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งก็เป็นไปตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่สูงเกือบ 20% ในปี 59 ชนะตลาดหุ้นอื่นๆ ทั้งหมดที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยจึง underperform กว่าอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตามเห็นการสลับการลงทุนในประเทศที่ Outperform มายังประเทศที่ Underperform โดยเฉพาะเดือน ส.ค. เห็นการปรับลดลงของตลาดหุ้นอินเดีย,สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ขณะที่ตลาดหุ้นที่ปรับขึ้น คือ ตลาดหุ้นจีน และ SET Index บวกกับ Valuation หลายตลาดค่อนข้างแพงแล้ว ยกเว้นตลาดหุ้นจีน และตลาดหุ้นไทยที่ยังมีระดับ Expected P/E ต่ำสุดในภูมิภาค คือ 15.9 เท่า ในปี 60 และจะลดลงเหลือ 14.7 เท่าในปี 61 ตรงนี้น่าจะดึงดูดให้ Fund Flow มีโอกาสไหลกลับเข้ามาในระยะถัดไป

สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทยในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากดัชนีปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,616.16 จุด (31 ส.ค.) บวก 73.22 จุด  หรือ 4.75%  จากระดับ 1542.94 จุด (30 ธ.ค.59)  ขณะเดียวกันส่งผลให้ราคาหุ้นหลายตัวปรับตัวขึ้นแรงหลายตัว

ดังนั้น“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงทำการรวบรวมหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงมานำเสนอ โดยคัดเลือกหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงเกิน 50% โดยครั้งนี้มีหุ้นเข้ามาติดเกณฑ์ดังกล่าว 20 อันดับ คือ ASIAN, BAT-3K, ECL, ORI, PLE, RS, SYNEX, IHL, TCB, WORK, RCI, COL, IT, AMATA, MACO, SQ, AH, TKS, GIFT และ SPI

โดยหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงดังกล่าว ส่วนใหญ่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนทั้งแผนงานและผลประกอบการที่ออกมาโดดเด่น แต่อย่างไรก็ตามการสำรวจครั้งนี้ไม่สามารถนำข้อมูลมาเสนอได้ครบทุกตัว ดังนั้นจึงขอนำเสนอข้อมูลหุ้นมี่ปรับตัวขึ้นแรง 5 อันดับแรกของกลุ่มเท่านั้น

 

สำหรับอันดับ 1 คือ บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ราคาหุ้นช่วง 8 เดือนปรับตัวขึ้น 213.33% มาอยู่ที่ระดับ 14.10 บาท (31ส.ค.60) บวก 9.60 บาท จากระดับ 4.50 บาท(30 ธ.ค. 59)

โดยบริษัทดำเนินธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็ง จำหน่าย และส่งออก ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท อันได้แก่ TCC SAKURA และ ASIAN SEAFOODS และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า

สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงคาดเป็นผลมาจากแรงซื้อเก็งกำไรแผนงานที่ออกมาต่อเนื่อง อีกทั้งผลงานล่าสุดบริษัทประกาศงบไตรมาส 2/60 ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 918% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 9.27 ล้านบาท พร้อมทั้งประกาศจ่ายปันผล เป็นหุ้น 2:1 (หุ้นเดิม:หุ้นปันผล) และเงินสด 0.056 บ./หุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 28 ก.ย.60 และกำหนดวันจ่ายปันผลในวันที่ 16 ต.ค.60 ทำให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นแรง

ขณะที่บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ที่ 10,500 ล้านบาท หรือเติบโตราว 14% จากปี 2559 ที่มีรายได้ 9,206 ล้านบาท โดยปกติในช่วงครึ่งปีหลังเป็นไฮซีซั่นคาดปีนี้รายได้ กำไรครึ่งปีหลังยังเติบโตต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารแช่เยือกแข็ง ธุรกิจขายอาหารสัตว์ และธุรกิจขายอาหารสัตว์เลี้ยง มีทิศทางการขยายตัวที่ดีทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรหุ้นรายนี้

 

อันดับ 2 บริษัท ไทยสโตเรจ แบตเตอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ BAT-3K ราคาหุ้นช่วง 8 เดือนปรับตัวขึ้น 100.75% มาอยู่ที่ระดับ 268.00 บาท (31ส.ค.60) บวก 134.50 บาท จากระดับ 133.50 บาท(30 ธ.ค. 59)

โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead Acid Battery) สำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถฟอล์คลิฟท์ไฟฟ้า แบตเตอรี่สำรองไฟ เป็นต้น ภายใต้แบรนด์ 3K เป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของไทย มีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ประมาณร้อยละ 50:50

สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงส่วนใหญ่มาจากปัจจัยการที่กลุ่มครอบครัวขอไพบูลย์ ประกอบด้วยนายกวี นางศรีสุวรรณ นายวีรวัฒน์ นางสาววีรวรรณและนายวีรวิน ขอไพบูลย์ ประกาศขายหุ้นให้กับบริษัท สยาม มากิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ฮิตาชิ เคมิคอล จำกัด โดยขายหุ้นจำนวน 8,780,730 หุ้น คิดเป็น 43.9% ของหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมด

นอกจากนี้บริษัทสยาม มากิ จำกัด จะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดใน BAT-3K ที่เหลือจำนวน 56.10% ในราคาหุ้นละ 275 บาท และเตรียมถอนหุ้นออกจากตลาดฯจึงเป็นเหตุให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา

 

อันดับ 3 บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL  ราคาหุ้นช่วง 8 เดือนปรับตัวขึ้น 100.00% มาอยู่ที่ระดับ 3.24 บาท (31ส.ค.60) บวก 1.62 บาท จากระดับ 1.62 บาท(30 ธ.ค. 59)

โดยบริษัทให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถ โดยมุ่งเน้นรถยนต์มือสองประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถตู้ รถกระบะ และอื่น ๆ สินเชื่อ Floor Plan เป็นการให้บริการเงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการซื้อรถยนต์ นอกจากนี้บริษัทยังมีการให้บริการหลังการขาย โดยการให้บริการรับต่อทะเบียนรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัย และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์

สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงส่วนใหญ่มาแรงเก็งกำไรแผนธุรกิจที่น่าสนใจ และผลประกอบการที่ออกมาสใส อีกทั้งแรงหนุนนักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรปีนี้ของ ECL เพิ่มขึ้น หลังแนวโน้มสินเชื่อเติบโตดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งศูนย์ซ่อมรถยนต์ครบวงจร ภายใต้แบรนด์ “FIXMAN” ที่เริ่มเปิดบริการเมื่อเดือนก.ค.60 และเตรียมจะขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดย ECL ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 50 สาขา ภายในปี 63 จะช่วยหนุนให้กำไรของ ECL เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำซื้อ ECL ให้ราคาเป้าหมายที่ 4.07 บาทต่อหุ้น คาดว่ากำไรปี 60 จะอยู่ที่ 96 ล้านบาท จากปี 59 ที่ 25 ล้านบาท หนุนด้วยเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้ที่ 4.5 พันล้านบาท โต 55% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอุปสงค์สินเชื่อซื้อบิ๊กไบค์มือสองที่โตต่อเนื่องอีกทั้งครึ่งปีหลังเตรียมเปิดธุรกิจใหม่ศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์มือสองก่อนซื้อและรับประกันดูแลซ่อมเปลี่ยนอะไหล่ และคาดให้ Div.Yield ปีนี้ 1.7%

 

อันดับ 4 บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ราคาหุ้นช่วง 8 เดือนปรับตัวขึ้น 100.00% มาอยู่ที่ระดับ 3.24 บาท (31ส.ค.60) บวก 1.62 บาท จากระดับ 1.62 บาท(30 ธ.ค. 59)

โดยบริษัททำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมตามแนวสถานีขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริการจัดหาผู้เช่าห้องชุด และบริการรับจ้างบริหารโครงการนิติบุคคลอาคารชุดแก่โครงการที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาเท่านั้น

สำหรับราคาที่ปรับตัวแรงส่วนใหญ่มาจากปัจจัยผลประกอบการที่โดดเด่นตั้งแต่เข้าตลาดฯ  ประกอบนักวิเคราะห์แนะนำเข้าลงทุนทำให้ราคาหุ้นน่าสนใจและขึ้นแรงตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

บริษัทมั่นใจเป้าหมายยอดขายปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 13,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวน 3-4 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการแล้วทั้งหมด

 

อันดับ 5 บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE ราคาหุ้นช่วง 8 เดือนปรับตัวขึ้น 100.00% มาอยู่ที่ระดับ 1.64 บาท (31ส.ค.60) บวก 1.64 บาท จากระดับ 0.82 บาท(30 ธ.ค. 59)

โดยบริษัทบริษัทประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมางานก่อสร้างทั่วไป รวมถึงงานออกแบบ จัดหา และรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมอย่างครบวงจร รับงานทั้งจากภาคเอกชน และภาครัฐ โดยเป็นทั้งผู้รับเหมาโดยตรง (Main Contractor) และเป็นผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractor)

สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงคาดได้แรงหนุนจากการคว้างานรับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งบทวิเคราะห์แนะนำให้เข้าลงทุนทำให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นแรงตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

บล.ดีบีเอสฯ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE ได้พันธมิตรจีนประมูลงานขนาดใหญ่ของ AOT เสนอราคาต่ำสุดงานอาคารแซทเทิลไลท์ชั้น 2-4 สุวรรณภูมิเฟส 2 ที่ 1.42 หมื่นลบ. กลุ่มกิจการร่วมค้า PCS ที่ประกอบด้วย บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) และบริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 1.42 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 12% หรือประมาณเกือบ 2 พันล้านบาท จากที่กำหนดไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นงานขนาดใหญ่มากสำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดกลางอย่าง PLE แต่ยังไม่เปิดเผยถึงสัดส่วนการถือหุ้น และอัตรากำไรที่ได้รับ

ทำ MOU ขายหุ้นบำรุงเมืองพลาซ่าให้ธนบุรี เฮลท์แคร์ บอร์ดมีมติอนุมัติให้ PLE เข้าลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (“MOU”) สำหรับการขายหุ้นของ บริษัท บำรุงเมืองพลาซ่า จำกัด (“BMP”) (บริษัทย่อย)ที่ PLE ถืออยู่ทั้งหมด 23.3 ล้านหุ้น (99.997%) ให้แก่บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) เป็นเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญบางประการ

ผลกระทบเป็นบวกมากจากดีลขาย BMP ในกรณีที่ดีลนี้สำเร็จ คือจากหมายเหตุงบการเงินไตรมาส1/60 ต้นทุนของหุ้น BMP คือ 1,826.2 ล้านบาท ดังนั้นจะมีกำไรก่อนภาษีที่ประมาณ 273.8 ล้านบาท ซึ่งจะบันทึกในช่วงไตรมาส 4/60 ตามกำหนดการดีลนี้แล้วเสร็จภายใน 31 ต.ค.60 และการได้รับเงินเข้ามา 2,100 ล้านบาท จากการขายหุ้น BMP จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นมาก เพราะ PLE มีเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในปีนี้ที่ 2,388 ล้านบาท

รอคอยการขายหุ้นเพิ่มทุน PP ในส่วนที่เหลือให้สำเร็จ หลังขายหุ้นเพิ่มทุนพีพี 170 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ1.1939บ. จ่ายเงิน 8-11ส.ค.60 ที่ผ่านมา ยังเหลือหุ้นอีก 816.3 ล้านหุ้น หากขายได้สำเร็จจะได้รับเงินเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 974.5 ล้านบาท มีข้อดีคือ บริษัทสามารถนำไปใช้ลงทุน คืนหนี้ และสภาพคล่องการเงินดีขึ้น แม้ว่าจะมี dilution effect และไม่มีระยะเวลาห้ามขายหุ้น (silence period) ซึ่งไม่ถือว่าเสนอขายในราคาที่ต่ำตามเกณฑ์ของตลาดฯ

แนะนำ ซื้อเก็งกำไร จากข่าวดีที่ทยอยเข้ามา กำไรสุทธิในรอบครึ่งแรกปีนี้ดีขึ้น 68% เป็น 47 ล้านบาท หากไม่นับกำไรพิเศษ กำไรหลักในรอบ 1H60 เป็น 18 ล้านบาท ฟื้นตัวจาก y-o-y ที่ -4 ล้านบาท เพราะรายได้หลักและรายได้อื่นๆเพิ่ม รวมทั้งสัดส่วนค่าใช้จ่ายขาย-บริหารเทียบกับรายได้ลด ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายด้วย P/E และ P/BV 4 ไตรมาสย้อนหลัง (Trailing) ที่ 8.6 และ 1.7 เท่า เทียบกับอุตสาหกรรมที่ 39.3 และ 2.2 เท่า ตามลำดับ หากเบื้องต้นกำหนดให้ซื้อขายด้วย P/BV ในช่วง 2.0-2.2 เท่า ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม จะได้ราคาพื้นฐานที่ 1.76-1.94 บาท จากมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ณ สิ้นไตรมาส2/60 ที่ 0.88 บาท

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button