ยลโฉม 8 หุ้นทำเม่าเสียศูนย์! 9 เดือนราคาทรุด 40% สวนภาวะดัชนี
ยลโฉม 8 หุ้นทำเม่าเสียศูนย์ 9 เดือนราคาทรุด 40% สวนภาวะดัชนีพุ่งทะลุ 1,700 จุด!
ภาวะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 8.44% โดยเทียบจากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 1,542.94 จุด (30 ธ.ค. 59) มาอยู่ที่ระดับ 1,673.16 จุด ( 29 ก.ย.60) บวกไป 130.22 จุด อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่ราคาหุ้นยังปรับตัวลดลงสวนภาวะตลาด
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ SET ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา โดยคัดเลือกราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงตั้งแต่ระดับ 40% ไปจนถึงระดับเกิน 50% และเป็นบจ.ที่มีสภาพการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ มานำเสนอให้นักลงทุนได้เห็นภาพชัดเจน
โดยครั้งนี้มีหุ้นเข้ามาติดในเกณฑ์ดังกล่าว 8 ตัว ประกอบด้วย GL ,TRITN ,FER ,FN ,SCN , NMG ,STA และ SCI
โดยการนำเสนอครั้งนี้จะยกตัวอย่าง 5 อันดับแรกดังนี้
อันดับ 1 บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 57.25 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 23.40 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 33.85 บาท หรือลดลง 59.13%
โดยราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปล่อยกู้ให้แก่บริษัทย่อย Group Lease Holdings Pte. Ltd (GLH) และ GLH ได้นำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้บริษัทย่อยในสิงคโปร์ และไซปรัส โดยมีการนำหุ้น GL มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม
ขณะที่ก่อนหน้านี้สำนักงานกำกับการบริการทางการเงินแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ FSA อนุมัติคำสั่งปรับบุคคลซึ่งถูกกล่าวโทษโดยคณะกรรมาธิการตรวจสอบและกำกับหลักทรัพย์ประเทศญี่ปุ่น ต่อนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GL กรณีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ Wedge Holdings Co.,Ltd ด้วยวิธีการฉ้อฉลเป็นจำนวนเงิน 4.10 พันล้านเยน หรือราว 1.30 พันล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อความโปร่งใสในการทำธุรกรรมของบริษัท
นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการตั้งด้อยค่า หลังจากที่ GL ได้เข้าทำการซื้อหุ้นบริษัท Commercial Credit and Finance PLC หรือ CCF ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา ทั้งหมดร้อยละ 29.99 ของหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัทย่อยในราคาซื้อ 2.46 พันล้านบาท โดยบริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวทั้งหมดราว 95.37 ล้านหุ้น ที่ราคาประมาณ 25.81 บาทต่อหุ้น แต่เมื่ออ้างอิงจากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา ณ วันสิ้นไตรมาส 2/60 คือ 30 มิ.ย.2560 มูลค่าหุ้นดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 909 ล้านบาท
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ ซึ่งคาดว่าการประเมินมูลค่ายุติธรรมจะแล้วเสร็จในไตรมาสสามของปี 2560 จึงส่งผลให้เกิดความกังวลต่อผลประกอบการในไตรมาสดังกล่าว ว่าหากมีการตั้งด้อยค่าดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทประสบผลขาดทุนสุทธิได้
อันดับ 2 บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TRITN ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 0.48 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 0.22 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 0.26 บาท หรือลดลง 54.17%
โดยราคาหุ้นปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่บริษัทประสบผลขาดทุนสุทธิมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่ล่าสุดช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 37.97 ล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง
อันดับ 3 บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 0.88 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 0.45 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 0.43 บาท หรือลดลง 48.86%
โดยราคาหุ้นปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่บริษัทประสบผลขาดทุนสุทธิมาตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ล่าสุดช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 209.44 ล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง
อันดับ 4 บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 9.50 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 5.15 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 4.35 บาท หรือลดลง 45.79% โดยราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลงหลังผลประกอบการไตรมาส 2/60 ปรับตัวลดลงมาที่ 20.88 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 36.23 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ซื้อ” FN ราคาเป้าหมาย 5.60 บาท/หุ้น มองผ่านกำไรต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2/60 แม้ปกติไตรมาส 3/60 จะเป็น Low Season ของธุรกิจแต่คาดว่ากำไรน่าจะพอทรงตัวได้จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเน้นทำโปรโมชั่น กอปรกับค่อนข้างประสบความสำเร็จจากการจัดงาน Fair ครั้งใหญ่ที่พระราม 9 และคาดกำไรจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4/60 จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อ และมีแผนเปิดสาขาใหม่แห่งที่ 2 ของปีที่ฉะเชิงเทรา
อย่างไรก็ตาม ด้วยคาดการณ์กำไร 9 เดือนแรกที่ต่ำกว่าประมาณการเดิมของเรา จึงนำไปสู่การปรับลดกำไรสุทธิปี 60 ลง 30% เป็น 97 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 34% และคาดจะกลับมาเติบโตโดดเด่นอีกครั้งในปี 61 ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำมากในปีนี้ โดยคาดกำไรจะโต 65% จากปีก่อน และปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 61 ที่ 5.6 บาท (อิง DCF) ยังมี Upside 19% จึงปรับคำแนะนำขึ้นเป็น ทยอยซื้อ จากเดิม ถือ
อันดับ 5 บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 9.00 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 5.00 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 4.00 บาท หรือลดลง 44.44% โดยราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลงหลังผลประกอบการไตรมาส 2/60 ปรับตัวลดลงมาที่ 55.64 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 71.43
ทั้งนี้หากสังเกตหุ้นปรับตัวลงแรง ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบในเรื่องผลประกอบการ และทิศทางธุรกิจยังไม่สดใสทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหากมองอีกด้านหนึ่งถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้สะสมหุ้นกลุ่มนี้ เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนปีนี้ที่หุ้นเหล่านี้จะได้พิสูจน์ผลงงาน และโชว์แผนธุรกิจให้กับนักลงทุนได้มั่นใจ ถึงตอนนั้นหุ้นเหล่านี้ก็มีโอกาสกลับมาสดใสและดีดกลับไปราคาเดิมที่เคยร่วงลงมาก็เป็นได้
*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน