KTB แจ้งงบ Q3/60 ลุ้นกำไรทะลุ 7 พันลบ. หลังหมดปัญหาตั้งสำรองหนี้ EARTH

KTB แจ้งงบ Q3/60 ลุ้นกำไรทะลุ 7 พันลบ. หลังหมดปัญหาตั้งสำรองหนี้ EARTH ฟากโบรกฯ แนะซื้อลงทุน ชูเป้า 24 บาท/หุ้น


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB หลังเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 3/60 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย กลุ่มธุรกิจการเงิน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า KTB จะประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/60 ในวันนี้ (19 ต.ค.) โดย KTB จะได้รับปัจจัยบวกจากค่าใช้จ่ายสำรองค่าเผื่อหนี้สูญจากบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ลดลงจากไตรมาสก่อน

ขณะที่ ราคาหุ้น KTB ปิดตลาดวานนี้ (18 ต.ค.) อยู่ที่ 19 บาท ลบ 0.40 บาท หรือ 2.06% ด้วยมูลค่า 1.23 พันล้านบาท ทั้งนี้ยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 24 บาท อยู่ 26.32%

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น KTB ในราคาเป้าหมายปี 61 ที่ 24 บาทต่อหุ้น โดยมองว่า KTB ยังขาด Catalyst ในการลงทุนระยะสั้น สินเชื่อยังหดตัว เนื่องจากการจ่ายคืนของกลุ่มลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจ ถึงแม้จะคาดแนวโน้มกำไรในไตรมาส 3/60 จะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนราว 112% แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากคาดการณ์การตั้งสำรองฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูงตลอด

โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 60 นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรลงตามทิศทางการตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้นรองรับการ Write-off NPL และรองรับมาตรฐานบัญชี IFRS9 รวมถึงการเพิ่ม Coverage ratio ให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลุ่มให้เร็วที่สุด โดยคาดการณ์กำไรจะ -22% ในปี 60 และค่อยๆ ฟื้นตัว 14% ในปี 61 ซึ่งยังถือเป็นระดับกำไรที่ยังไม่น่าพอใจนัก

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์กำไรสุทธิในไตรมาส 3/60 จะอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท ฟื้นตัวขึ้น 111.6% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรที่ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนเนื่องจากคาดการณ์ค่าใช้จ่ายสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่ลดลง 28% จากไตรมาสก่อน

โดยในไตรมาสก่อนมีการตั้งสำรองฯ พิเศษเพื่อรองรับหนี้ NPL ของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ค่าใช้จ่ายสำรองฯ ในไตรมาส 3/60 จะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น Credit cost ที่ราว 2.1% และสูงกว่านโยบายการตั้งสำรองฯ ที่ 3 พันล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากแนวโน้ม NPL ที่คาดว่ายังสูงขึ้น ผู้บริหารมีความระมัดระวังต่อคุณภาพหนี้เพิ่มขึ้น, รองรับการ Write-off NPL (ไตรมาสก่อนหน้ามีการ Write-off ราว 1.5 หมื่นลบ.) รวมถึงการตั้งสำรองฯ เพื่อรองรับมาตรฐานบัญชี IFRS9

ขณะที่ในช่วงไตรมาส 2/60 KTB มี Coverage ratio ที่ราว 112% ต่ำที่สุดใน 5 ธนาคารหลัก และค่าเฉลี่ยที่ 130% ทำให้คาดว่า KTB จะตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงกว่านโยบายฯ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ หากไม่รวมรายการสำรองฯ PPOP ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน และ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยคาดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น 9% เทียบกับไตรมาสก่อน (กำไรจากการปริวรรตเงินตราเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ) และค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะลดลง 10% เทียบกับปีก่อน (จากการควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ)

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ  AQ ซึ่งศาลแพ่งได้ตัดสินคดีที่มีระหว่างธนาคารและ Golden Technology Industrial Park เมื่อวันที่ 28 ก.ย. นั้น มียอดเงินต้นจำนวน 8,368.73 ล้านบาท จำนวนเดียวกับศาลฏีกาแผนกคดีอาญาฯ ให้ลูกหนี้ทำการชำระเงินดังกล่าวรวมดอกเบี้ย 10% ของเงินต้นนับตั้งแต่ 31 พ.ค. 2014 จนกว่าจะเสร็จสิ้น (คำนวนถึงสิ้นก.ย.จะอยู่ที่ราว 2.8 พันลบ.)

ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว KTB และ AQ น่าจะอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามคำสั่งศาล โดยอาจมีรายละเอียดของการชำระหนี้และการบังคับหลักประกันที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นคาดว่ายังไม่เห็นการรับรู้รายการจากการชำระหนี้ในไตรมาส 3/60 โดยกรณีที่ดีที่สุดหากกระบวนการชำระหนี้สำเร็จในไตรมาส 4/60 คาดธนาคารจะมีการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยค้างรับและการนำสำรองฯ กลับคืนเป็น General provision ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Coverage ratio ได้ราว 4-5% (อิงสมมติฐานการตั้งสำรองฯที่ราว 50% ของมูลหนี้)

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 60 ลง 11% เป็น 2.52 หมื่นลบ. (-22% เมื่อเทียบกับปีก่อน) โดยปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯ หนี้สูญเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 8% เป็น 4.2 หมื่นล้านบาท (Credit cost 2.15%) พร้อมประเมินแนวโน้มการตั้งสำรองฯ น่าจะอยู่ในทิศทางที่เข้มงวดขึ้น

อีกทั้งแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะสูงกว่าที่คาดจากการลงทุนในระบบเทคโนโลยีในไตรมาส 4/60 ซึ่งส่งผลให้ Cost to income ขยับเป็น 40% จากประมาณการเดิม 39% และคาดการณ์กำไรสุทธิปี 61 อยู่ที่ 2.88 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เทียบกับปี 60 โดยส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งสำรองฯ ที่คาดจะผ่อนคลายลงจากปี 60 และคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยน่าจะฟื้นตัวขึ้นจากสินเชื่อที่น่าจะกลับมาขยายตัว 5% เทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายต่ำกว่า Prospective 2018 BVS ที่ 22.2 บาท ขณะที่คาดการณ์อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ราว 3.7% ต่อปี (สูงสุดในกลุ่มธนาคารใหญ่) ทั้งสองเหตุผลทำให้ KTB จัดเป็น Valued-play stock ได้ จึงแนะนำซื้อลงทุน

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น KTB ในราคาเป้าหมายปี 61ที่ 21 บาทต่อหุ้น เนื่องจากปัจจุบันยังพอมี Upside โดยคาดกำไรไตรมาส 3/60 จะอยู่ที่ 7.12 พันล้านบาท ฟื้นตัว 121% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการสำรองหนี้ก้อนใหญ่จาก EARTH โดยคาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมยังเติบโตได้ไม่ดี แต่อาจมีรายได้อื่นเข้ามาช่วยหนุนได้บ้าง

สำหรับค่าใช้จ่ายสำรองหนี้คาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย ในไตรมาสสุดท้าย นักวิเคราะห์คาดว่าสินเชื่อจะได้แรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญต้องรอดูความคืบหน้ากรณี AQ ซึ่งอาจทำให้สำรองหนี้ลดลงได้ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดกำไรสุทธิปี 60 จะอยู่ที่ 2.71 หมื่นล้านบาท โดยกำไรงวด 9 เดือนที่คาดคิดเป็นราว 70% ของประมาณการทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายยังคาดหวังการเติบโตของสินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อธุรกิจจากการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังต้องติดตามการชำระหนี้ของ AQ ซึ่งธนาคารได้รับชำระหนี้บางส่วนจากการเพิ่มทุนของ AQ ก่อนหน้านี้แล้วราว 1.64 พันล้านบาท และหากธนาคารสามารถนำที่ดินที่เป็นหลักประกันมาขายทอดตลาดได้ (AQ และลูกหนี้ร่วมยังต้องชำระหนี้ในส่วนที่เหลือ) จะส่งผลให้ธนาคารสามารถ Write-back สำรองส่วนของหนี้ที่ Write-off ไปก่อนหน้าได้

โดยในกรณีดังกล่าว นักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า NPL Coverage Ratio จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 125-130% ซึ่งเป็นผลบวกอย่างมาก เนื่องจากธนาคารสามารถลดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ในระยะถัดไปได้

ขณะที่ นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ทยอยซื้อ” หุ้น KTB ในราคาเป้าหมาย 20.40 บาทต่อหุ้น โดยวานนี้ (18 ต.ค.) ราคาหุ้น KTB อ่อนตัวลง คาดเป็นผลมาจากนักลงทุนส่วนหนึ่ง Sell on fact ออกมาก่อนที่ KTB จะประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/60

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรของ KTB ในไตรมาส 3/60 จะอยู่ที่ 9.2 พันล้านบาท เติบโต 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ รวมถึงค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง และเติบโต 187% จากไตรมาสก่อน โดยหลักๆ มาจากการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของ KTB มีแนวโน้มที่จะไม่ดีนักในไตรมาส 4/60 เนื่องจากคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายมาก และยังต้องรอดูในส่วนของการตั้งสำรองฯ ด้วย ซึ่งผลประกอบการงวดไตรมาส 4/60 คาดว่าจะไม่ดีเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/60 แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็เป็นไปได้ที่จะดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอดู NPL ด้วยว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีมากขึ้นอาจทำให้ต้องตั้งสำรองฯ มากในไตรมาส 4/60

Back to top button