ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 – หนี้ตั๋วบี/อี ถล่ม EARTH จอดสนิท!
EARTH สะสมหนี้บานเบอะ ยอดทะลุ 4 หมื่นลบ. ตลท.สั่งแขวนป้าย SP ยับยั้งการซื้อขายหุ้นในกระดานยาว ก่อนเข้าฟื้นฟูกิจการพร้อมตั้ง “อีวาย” เป็นผู้ทำแผน ฟาก KTB เจ้าหนี้รายใหญ่สอบพบหลักฐานปลอบใบนำเข้าถ่านหินใช้เป็นหลักประกันกู้เงิน ร้อง DSI ตรวจสอบด่วน!
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในรอบปี 2560 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านอีกครั้ง โดยในวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นร้อนที่ทุกคนจะต้องนึกถึง กรณีของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ไร่เรียงมาจากการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (Bill of Exchange) หรือตั๋ว B/E มูลค่า 40 ล้านบาท ลากยาวจนถึงนำเข้าถ่านหินล่องหน
โดยเรื่องดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 60 ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับบริษัทที่จดทะเบียนกับหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E และหุ้นกู้ออกมาอย่างต่อเนื่องจนนักลงทุนต่างหวาดผวา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังต้องออกโรงประกาศปรับเกณฑ์การออกหุ้นกู้และตั๋ว B/E ใหม่เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์บจ.ผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย
ซึ่งทาง EARTH ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ บริษัทที่ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทได้ผิดนัดผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E เช่นเดียวกัน โดย EARTH แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทได้ผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E มูลค่ารวม 90 ล้านบาท ที่ครบกำหนดวันที่ 6 มิ.ย.60 และ 8 มิ.ย.60 เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่อง พร้อมกันนี้บริษัท ทริสเรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศหั่นอันดับเครดิตจาก BBB- เป็น D ทันที
ทั้งนี้ EARTH ได้ทยอยแจ้งยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมียอดรวมหนี้สินทั้งสิ้นที่ผิดนัดชำระตั้งแต่เดือนมิ.ย.ถึงเดือนก.ค.60 จำนวน 717.50 ล้านบาท ส่งผลให้วันที่ 26 มิ.ย.60 ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องขึ้นเครื่องหมาย SP (หยุดพักการซื้อขาย)
ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) เกี่ยวกับการทำรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าและค่าจองสิทธิในการซื้อสินค้า ต้องส่งข้อมูลนี้ภายในวันที่ 24 ก.ค. 60
ฟากธนาคารกรุงไทย จำกัด หรือ KTB เจ้าหนี้รายใหญ่ยื่นฟ้องต่อศาลต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ขอให้อายัดบัญชีเงินฝากของบริษัท ในคดีหมายเลขดำที่ กค 129/2560 ลงวันที่ 21 ก.ค.2560 และในคดีหมายเลขดำที่ กค 131/2560 ลงวันที่ 24 ก.ค.60
อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 ก.ย.60 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่อายัดเงินฝากของบริษัทในบัญชีของสถาบันการเงินนั้นแล้ว
ต่อมาวันที่ 24 ก.ค.60 คณะกรรมการบริษัท EARTH มีมติให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พร้อมยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยแจ้งต่อตลท.ว่า บริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ เนื่องจากมีคู่ค้าได้ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาล เป็นยอดหนี้ทั้งสิ้นกว่า 26,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 47,400 ล้านบาท เพิ่มจากหนี้สินและสินทรัพย์บริษัท ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 60 มีอยู่ 35,725 ล้านบาท
โดยมูลหนี้ของที่บริษัทมีรวมทั้งสิ้น 47,480,010,868 บาท แบ่งเป็น 1.เงินกู้สถาบันการเงิน 11,032,836,686 บาท 2.หุ้นกู้ 5,500,000,000 บาท 3.ตั๋วแลกเงิน 2,395,000,000 บาท 4.เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น 938,239,401 บาท 5.เงินกู้ยืมระยะสั้นจากบริษัทย่อย 1,205,252,068 บาท 5.ประมาณการหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 26,000,000,000 บาท 6.หนี้สินอื่นๆ 408,682,713 บาท
ทั้งนี้ EARTH มีภาระหนี้ที่ต้องชำระให้กับทางสถาบันการเงินในปัจจุบันเป็นมูลค่ารวมเกินกว่าระดับ 1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ EARTH มีหนี้มากที่สุดถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ทางบริษัทมีหนี้อยู่ประมาณ 2,800 ล้านบาท ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) มีหนี้อยู่ประมาณ 300 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีหนี้อยู่ประมาณ 1,300 ล้านบาท
โดยในวันที่ 8 ส.ค.60 นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร EARTH พร้อมผู้บริหารตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยว่า ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาละเมิดต่อ “ธนาคารธนชาต” เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารธนชาตได้นำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทไปเปิดเผยต่อ KTB จนเป็นเหตุให้ KTB ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเงินของ EARTH
ในเวลาต่อมา ธนาคารธนชาต ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา และเตรียมฟ้องกลับทั้งทางแพ่งและอาญาต่อ EARTH เนื่องจากการกล่าวหาของ EARTH ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย ซึ่งภายหลังการชี้แจง EARTH ได้ถอนฟ้อง ธนาคารธนชาต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยในวันที่ 18 ก.ย.60 ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนรอบแรกกรณี EARTH ยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินจำนวน 7 ราย ได้ยื่นคัดค้านไม่ให้ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงทำให้ศาลมีคำสั่ง ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่าง EARTH กับผู้คัดค้านในวันที่ 21 ก.ย.60 โดยผลการไกล่เป็นไปในทิศทางที่ดีเนื่องจากเจ้าหนี้ทั้งหมดยินยอมถอนคำคัดค้าน
และในวันที่ 21 ก.ย. 60 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามที่ได้ยื่นคำร้องและมีคำสั่งตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ EY เป็นผู้จัดทำแผน และบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
ส่วนคดีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้ฟ้องร้อง EARTH ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง รวมจำนวน 2 คดีนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้นัดคู่ความทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยวันที่ 17 ต.ค. 60
ต่อมาในวันที่ 27 พ.ย.60 ทาง EARTH นำส่งรายงานผลการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับเกี่ยวกับการทำรายการในส่วนของบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้าดังกล่าว ซึ่งมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยรายงานข้อสังเกตที่สำคัญจากการปฏิบัติงานตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ระบุว่า สัญญาที่เกี่ยวข้องกับเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้า ณ วันที่ 31 ธ.ค.59 และ 31 มี.ค. 60 มีจำนวนมาก ซึ่งทางผู้บริหารเดิมแจ้งสัญญาบางส่วนถูกยกเลิกแล้วและสัญญาบางส่วนสูญหาย ทำให้ไม่สามารถอ่านสัญญาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นสัญญาตั้งต้นของการทำรายการเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้า และได้รับเพียงสัญญาส่วนที่จัดทำช่วงปลายปี 2559
ส่วนตามที่บริษัทได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 17 เรื่อง เงินจองสิทธิในการซื้อสินค้าในงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.59 และในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 15 เรื่อง เงินจองสิทธิในการซื้อสินค้า ในงบการเงินสำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุด 31 มี.ค.60 ว่า เงินจองสิทธิในการซื้อสินค้าเป็นเงินที่กลุ่มกิจการชำระเงินให้แก่คู่สัญญา เพื่อให้ได้สิทธิในการซื้อถ่านหินในอนาคตเป็นเวลา 15 ตามสัญญา อย่างไรก็ตามในสัญญาเงินจองสิทธิค่าซื้อสินค้าแต่ละฉบับที่ได้รับระบุอายุสัญญาเพียง 5 ปี
ด้าน บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของ EARTH เปิดเผยว่า ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการทางผู้ทำแผนต้องประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่มีนัยสำคัญ รวมถึงสินทรัพย์ที่ได้รับจากการที่กลุ่มกิจการเข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ ตามที่ได้ปรากฏในรายงานการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษ
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวทางผู้ทำแผนจึงอยู่ในระหว่างการประเมินมูลค่ารายการสินทรัพย์ที่ได้รับจากการที่กลุ่มกิจการของบริษัทเข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ข้างต้น ซึ่งผู้ทำแผนคาดการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน
ขณะที่มีรายงานว่า KTB ได้กล่าวโทษร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ฉ้อโกงธนาคารเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดยการปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of lading-B/L) นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียของ EARTH และนำมาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินกับ KTB ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า มีการปลอมแปลงหลายสิบฉบับมูลค่าหลายพันล้านบาท
จากเหตุการณ์ที่ KTB ร้องต่อ DSI ตรวจสอบ EARTH หลังพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการนำเข้าถ่านหิน เพื่อให้เป็นหลักฐานในการขอกู้เงินกับ KTB ส่งผลให้กระทรวงการคลังเรียก KTB เข้าชี้แจงเรื่องดังกล่าวโดยด่วน
โดยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเรื่องเพื่อตรวจสอบคดี EARTH เป็นคดีพิเศษแล้ว หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของทางดีเอสไอในการสืบสวนต่อไป คดีดังกล่าวถือเป็นคดีทางอาญาและทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเช่นกัน พร้อมเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.60 บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของ EARTH ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือสอบถาม เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่อย่างใด
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการชำระหนี้สินของ EARTH กับสถาบันการเงินน่าจะสามารถคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอเข้าฟื้นฟูกิจการของ EARTH
แต่จุดที่น่าเป็นกังวล ณ ปัจจุบันนี้น่าจะอยู่ที่ปัญหาใหม่ที่เข้ามาเคาะประตูบ้านแบบสดๆ ร้อนๆ อย่างข้อกล่าวหาว่า EARTH ปลอมแปลงเอกสารนำเข้าถ่านหิน ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่า บทสรุปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร