ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 – “GL“ หมายเหตุงบการเงินทำพิษ ฉุดธุรกิจพัง!
ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 “GL หมายเหตุงบการเงินทำพิษ! ฉุดธุรกิจพัง-นลท.เจ๊งหุ้นระนาว”
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกข่าวประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในปี 2560 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านอีกครั้ง โดยในวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ซึ่งถือเป็นหนึ่งบริษัทที่มีประเด็นร้อนๆฉาวๆออกมากระทบธุรกิจแทบพังและกระทบราคานักลงทุนต้องเจ๊งกันระนาว โดยสาเหตุที่ทำให้ GL ต้องเปลี่ยนจากหุ้นดาวรุ่งเป็นหุ้นฉาวไร่เรียงมาจากเหตการณ์ดังต่อไปนี้
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ GL นั่งไม่ติดเก้าอี้ต้องขอบคุณผู้ตรวจบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 3182 ที่ชื่อ นาย โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ สังกัดบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ที่ได้มาเปิดโลกด้านมืดของบริษัทที่มีราคาหุ้นและกำไรร้อนแรงที่สุดระดับหัวแถวของตลาดหุ้นไทยในปี 2559 อย่างหมดจด
โดยนายโสภณ ระบุไว้ใน หมายเหตุประกอบงบการเงินสิ้นงวดปี 2559 ถึงความผิดปกติว่า “..ขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 11 เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ บริษัทฯได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์ โดยบริษัทย่อยนี้ได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัสและสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อซึ่งผู้กู้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทฯด้วยและได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทฯมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยดังกล่าว…”
พร้อมให้ความเห็นว่า “…เงินให้กู้ยืมเหล่านี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอันประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ในเกาะไซปรัสและประเทศบราซิล พันธบัตรรัฐบาลไซปรัส หุ้นในบริษัทอื่นในต่างประเทศ และหุ้นของบริษัทฯซึ่งถือโดยผู้กู้ ...”
ด้านนาย มิทซิจิ โคโนชิตะ ผู้บริหารผู้บริหารของ GL ได้ออกมาชี้แจงว่า “…มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน (รวมถึงหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งถูกตีมูลค่าด้วยราคาปิดใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันสิ้นปี) มีมูลค่าประมาณร้อยละ 106 และร้อยละ 238 ตามลำดับของจำนวนเงินให้กู้ยืมของผู้กู้สองกลุ่มนี้...”
คำชี้แจงดังกล่าว ได้ถูกผู้สอบบัญชีตั้งคำถามอันสำคัญยิ่งว่า “..ถ้าไม่คิดมูลค่าหุ้นของบริษัทฯที่นำมาค้ำประกันแล้ว (ตามหลักความระมัดระวังที่พึงปฏิบัติในการวิเคราะห์มูลค่าหลักประกัน หุ้นของบริษัทผู้ให้กู้ยืมเงิน ไม่ควรถูกคำนวณนับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ที่บริษัทนั้นได้ให้กู้ยืม) มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 60 และ ร้อยละ 53 ตามลำดับ…”
ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วการนำหลักทรัพย์ของบริษัทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมนั้น ถือว่าเป็นความเสี่ยงทางการเงิน เนื่องจากยิ่งราคาหุ้นปรับตัวลงแรงมากเท่าไหร่ก็ย่อมส่งผลให้มูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันปรับตัวน้อยลงตามไปด้วย
นอกจากวงเงินค้ำประกันเงินกู้ต่ำกว่ามูลหนี้ที่ปล่อยออกไปเป็นแค่โจทย์ของแรกเพราะยังมีข้อที่สองตามมาคือ ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีกำหนดชำระคืนเงินต้นแตกต่างกันตามระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี โดยมีกำหนดการจ่ายชำระเงินต้นคืนเมื่อถึงวันสิ้นสุดของสัญญา มีลูกหนี้บางรายที่เมื่อถึงกำหนดจ่ายชำระเงินต้นคืนในระหว่างปี แต่บริษัทย่อยได้ขยายตารางการชำระหนี้ให้ลูกหนี้เหล่านั้นออกไปอีก 2-3 ปี โดยยอดเงินให้กู้ยืมที่มีการแก้ไขสัญญาขยายตารางการชำระหนี้มีจำนวนประมาณ 2,129 ล้านบาท (59 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่าด้วย “ความโปร่งใส” ของธุรกรรม GL ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่โดยพฤตินัย ขึ้นมาทันที ว่า GL ไม่ได้ทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อปกติเสียแล้ว แต่กำลังทำธุรกรรม “แครี่เทรดข้ามชาติ” อย่างไม่ต้องสงสัย
ขณะที่ราคาหุ้น GL หลังตลาดรู้เรื่องหมายเหตุผู้สอบบัญชีก็ร่วงหล่นราวกับใบไม้หลุดขั้ว ตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 57 บาทเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 60 ที่อ่อนตัวลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 25.25 บาท ณ วันที่ 10 มี.ค.60 หรือลดลง 55.70%
นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นหรือ SESC ได้สั่งปรับตระกูล “โคโนชิตะ” ซึ่งเป็นตระกูลของผู้บริหาร GL นำโดย “นายทัตซึยะ โคโนชิตะ” ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท GL ในข้อหาใช้ข้อมูลเท็จจากการซื้อ-ขายหุ้นกู้แปลงสภาพ เพื่อปั่นราคาหุ้น Wedge Holdings Co.Ltd. เป็นจำนวนเงิน 4,096.05 ล้านเยน
อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์เร่งให้ GL ออกมาชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี กรณีที่บริษัทได้ให้เงินกู้ยืมจำนวน 3.48 พันล้านบาท แก่ Group Lease Holdings Pte. Ltd. หรือ GLH ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสิงคโปร์ โดย GLH ได้ให้บริษัทอื่น 2 กลุ่มในเกาะไซปรัส และสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อ โดยมีการนำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืม
โดยในเดือนมีนาคม 2560 GL ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึง 3 ครั้ง
ฟากกลุ่มนักลงทุนต้องแปลงสถานะเป็น “ชาวดอย” กับหุ้น GL และพยายามจะใช้ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เป็นที่ระบายอารมณ์กันจ้าละหวั่นเพื่อหา “แพะ” โดยลืมไปว่าสื่อที่ทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน” นั้น ไม่ได้พบกันง่ายๆ..ที่เห็นเกลื่อนกลาด มีแต่พวกชมชอบ “เศษเนื้อข้างเขียง” กันมากกว่า
ขณะที่ต้นเดือนเมษายน 2560 ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนชุดปัจจุบันของ GL ที่ระดับ “A-” ขณะที่ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ชุดดังกล่าวเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จากเดิม “Stable” หรือ “คงที่”
ต่อมาผู้บริหาร GL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทได้รับชำระดอกเบี้ยจากการปรับปรุงกระบวนการออกใบแจ้งหนี้ และการเรียกชำระหนี้ ทางบริษัทลูกในสิงคโปร์ Group Lease Holdings Pte.Ltd. หรือ GLH ได้รับชำระดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ และถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง…ตามประสาบริษัทที่ไม่ธรรมดา และถือเป็นการปิดจ๊อบเงินกู้ไซปรัส! ป้องสุนัขดมเจอกลิ่นเน่าต่ออีกระลอก
ขณะเดียวกัน นายโนบูโยชิ ฟูจิซาวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท J Trust Co., Ltd. ได้ทำการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 เม.ย.60 ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับกรณีการปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานงวดปีงบประมาณ 2560 ซึ่งสาเหตุของการปรับลดประมาณการในครั้งนี้มาจากการที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพของ GL และต้องประสบกับผลขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จำนวน 3.10 พันล้านเยน
โดยบริษัทในเครือของ J Trust ชื่อ J Trust Asia หรือ JTA เป็นผู้ถือครองหุ้นกู้แปลงสภาพของ GL จำนวนทั้งหมด 3 ชุด มูลค่ารวมกัน 210 ล้านเหรียญสหรัฐฯได้มีการนำมาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) มาใช้สำหรับการจัดทำบัญชีของบริษัท ซึ่งมีความแตกต่างจากมาตรฐานที่ถูกยอมรับทั่วไปตามหลักของประเทศญี่ปุ่น (J-GAPP) โดยภายใต้ระบบดังกล่าว บริษัทจำเป็นต้องทำการบันทึกผลกำไร/ขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ลงในงบกำไรขาดทุน (Income Statement) เป็นรายไตรมาสด้วย
อย่างไรก็ตาม J Trust ระบุว่า หุ้นกู้แปลงสภาพทั้งหมดสามารถถูกไถ่ถอนด้วยเงินสดได้ ในกรณีที่ทาง JTA ไม่ต้องการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของ GL ซึ่งนายโนบูโยชิกล่าวต่อด้วยว่า มูลค่าแท้จริงของหุ้นกู้ฯทั้ง 3 ชุดนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทยังจะได้รับดอกเบี้ยอีกจำนวน 5% ของมูลหนี้ทั้งหมดในทุกปีจนกว่าจะถึงวันครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ฯอีกด้วย
ทั้งนี้มองว่าหาก J Trust เรียกไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพโดยการเรียกคืนเป็นเงินสดกับทาง GL เนื่องจากไม่ต้องการบันทึกผลขาดทุน ทาง GL จะไม่สามารถนำเงินมาชำระหนี้ และจะส่งผลให้บริษัทฯ ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างมาก
ต่อมาเดือนมิถุนายน 2560 สำนักงานกำกับการบริการทางการเงินแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ FSA อนุมัติคำสั่งปรับบุคคลซึ่งถูกกล่าวโทษ โดยคณะกรรมาธิการตรวจสอบและกำกับหลักทรัพย์ ประเทศญี่ปุ่น หรือ SESC ต่อนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GL กรณีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ Wedge Holdings Co., Ltd. ด้วยวิธีการฉ้อฉลเป็นจำนวนเงิน 4.10 พันล้านเยน หรือราว 1.30 พันล้านบาท โดยมีกำหนดจ่ายวันที่ 12 มิ.ย.60
ขณะที่นายมิทซึจิ เคยปฏิเสธข่าวดังกล่าวมาโดยตลอด ว่าตนไม่เคยถูกดำเนินการทางกฏหมายโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดทุนต่างประเทศแต่อย่างใด
ทำให้วันที่ 2 มิ.ย.60 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ให้นายมิทซึจิ ต้องมาชี้แจง กรณีที่เคยให้ข่าวว่าตนไม่เคยถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดทุนต่างประเทศ โดยให้ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. และเปิดเผยคำชี้แจงผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 7 วัน ตามที่ปรากฏข่าวซึ่งอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของนายมิทซึจิในสื่อมวลชนช่วงก่อนหน้านี้
โดยนายมิทซึจิ ชี้แจงว่า ช่วงเวลาที่ถูกกล่าวโทษนั้น เป็นหลังจากที่ตนเคยให้ออกมาสัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ขณะที่ยังยืนยันว่าตนไม่เคยถูกดำเนินการทางกฏหมายโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดทุนต่างประเทศ
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2560 นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัท Commercial Credit and Finance PLC หรือ CCF ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา ซึ่งอาจส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 3/60 หรือ ไตรมาส 4/60 ของ GL ขาดทุนได้
เนื่องจาก GL ได้เข้าซื้อหุ้น CCF ทั้งหมดร้อยละ 29.99 ของหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัทย่อยในราคาซื้อ 2.46 พันล้านบาท โดยบริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวทั้งหมดราว 95.37 ล้านหุ้น ที่ราคาประมาณ 25.81 บาทต่อหุ้น แต่เมื่ออ้างอิงจากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา ณ วันสิ้นไตรมาส 2/60 คือ 30 มิถุนายน 2560 มูลค่าหุ้นดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 909 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่มีประกาศจากสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพฯ เรื่องการขายทอดตลาดหุ้นสามัญ GL ในส่วนของ บริษัท เอ.พี.เอฟ.โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ APF จำนวน 13,395,771 หุ้น
อีกทั้งบริษัทหลักทรัพย์หลายสถาบันต่างออกมาปรับลดราคาเป้าหมาย และกำไรลง สะท้อนปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวของ GL คือเรื่องความโปร่งใสของธุรกรรมในต่างประเทศยิ่งทำให้ราคาหุ้นทรุดหนัก
ต่อมาเดือนตุลาคม 2560 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นครั้งใหญ่ ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีหนังสือกล่าวโทษ นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ผู้บริหาร GL ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีทุจริตทำธุรกรรมอำพรางเพื่อให้ผลประกอบการสูงเกินความจริง ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงติดฟลอทันที 2 วันต่อเนื่อง
โดย ก.ล.ต.ตรวจสอบพบว่า นายมิทซึจิ ให้ GLH ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GL ที่ประเทศสิงคโปร์ ปล่อยกู้แก่บริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง และพบหลักฐานว่า GLH ให้กู้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส 4 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง เป็นเงินให้กู้รวมประมาณ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีนายมิทซึจิ เป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
ทั้งนี้เมื่อบริษัททั้ง 5 แห่งได้รับเงินกู้จาก GLH ไปแล้ว ได้นำไปหมุนเวียนในกลุ่มบริษัทผู้กู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ GLH เป็นงวดๆ ซึ่งยอดดอกเบี้ยถูกนำไปรวมเป็นรายได้ในงบการเงิน อันเป็นการแต่งบัญชีและสร้างผลประกอบการของ GL ให้สูงเกินจริง
สำหรับการกระทำของนายมิทซึจิข้างต้นเป็นการทำธุรกรรมอำพราง การยักยอก ยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง รวมถึงบอกกล่าว เผยแพร่ ข้อความเท็จ ส่งผลกระทบต่อราคาหรือการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์
ดังนั้น การถูกกล่าวโทษทำให้นายมิทซึจิเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งให้ GL เร่งแก้ไขงบการเงินให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงโดยเร็ว โดยหาก GL ไม่แก้ไขงบการเงิน แบบรายงาน 56-1 และแบบรายงาน 56-2 ให้ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
รวมทั้งหากกรรมการของบริษัทไม่ดำเนินการให้มีการแก้ไขงบการเงินให้ถูกต้อง โดยยินยอมให้งบการเงินเป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อาจส่งผลให้มีความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันด้วย
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้สอบบัญชีพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็อาจทำให้จำนวนเงินที่ GL ต้องแก้ไขในงบการเงินเพิ่มขึ้นจากที่กล่าวข้างต้นได้
ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งนายทัตซึยะ โคโนชิตะ ซึ่งเป็นน้องชายของนายมิทซิจิ ขึ้นเป็นประธานกรรมการ เพื่อขัดตาทัพ!!!
ด้านสำนักงาน อีวาย จำกัด ในฐานะผู้สอบบัญชีของ GL ภายหลังจากการถูกกล่าวโทษ ได้ประกาศว่าไม่สามารถให้ข้อสรุปต่องบการเงินอีกต่อไป ส่งผลทำให้บริษัทฯ ต้องหาผู้รับรองงบการเงินใหม่ตั้งแต่งบปี 2559 ,งบไตรมาส 1/2560 และงบไตรมาส 2/2560 ซึ่งกรณีดังกล่าวจะต้องใช้ระยะเวลานานเกิน 1 ปี และหากทาง GL ยังไม่มีการแก้ไขงบการเงิน รวมทั้งหาผู้รับรองรองงบได้ GL อาจจะถูกตลท.ขึ้นเครื่องหมาย SP อย่างไม่มีกำหนด
เดือนพฤศจิกายน 2560 บริษัทประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/60 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 ของ GL มีผลขาดทุน 2.61 พันล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 260.34 ล้านบาท มาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับในงบการเงินรวมมีจำนวน 1.95 พันล้านบาท เกิดจากการตั้งสำรองพิเศษเต็มจำนวนสำหรับเงินให้กู้ยืมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังและเพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต ในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด
รวมถึงผลขาดทุนจากการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วม มีจำนวน 582.09 ล้านบาท ซึ่งตั้งสำรองโดยอิงจากข้อมูลและเหตุการณ์ที่เน้นในรายงานของผู้สอบบัญชีของบริษัทในไตรมาสก่อน
ผลพวงจากการตั้งสำรองดังกล่าวฉุดให้ทั้งราคาหุ้น GL ร่วงต่อ และกลายเป็นโดมิโนกระทบราคาหุ้นบริษัท Wedge Holdings Co.,Ltd. หรือ WEDGE ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันราคาหุ้นบริษัท Showa Holdings Co.,Ltd. หรือ SHOWA ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวทรุดหนักเช่นกัน โดย WEDGE และ SHOWA เป็นผู้ถือหุ้นของ GL โดยถือหุ้นผ่าน Engine Holdings Asia Pte.Ltd. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ GL
ขณะที่ บริษัท J Trust Co., Ltd. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ และเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของ GL ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาผูกพัน หลัง นายมิทซึจิ อดีตผู้บริหารของ GL ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย กล่าวโทษทางอาญา
โดย J Trust ได้ทำการออกหนังสือแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันของ GL และการกำหนดแนวทางสำหรับอนาคต โดยในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า J Trust ได้เรียกร้องให้ GL ดำเนินการชำระหนี้ที่เหลืออยู่จากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) คืนทั้งจำนวนรวมถึง J Trust จะหยุดให้การสนับสนุนด้านเงินทุนทั้งหมดแก่ GL
ขณะที่ J Trust Asia Pte., Ltd. หรือ JTA ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และในฐานะผู้ซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อ GL เพื่อยกเลิกข้อตกลงต่างๆ ตามสัญญาของหุ้นกู้แปลงสภาพที่ยังเหลืออยู่อีก 2 ชุด คิดเป็นมูลค่ารวม 180 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6 พันล้านบาท
อีกทั้งได้มีการกำหนดให้ GL ในฐานะลูกหนี้ต้องชำระคืนหนี้จำนวนดังกล่าวทั้งหมดในทันที รวมถึงได้แสดงความจำนงในการเข้าครอบครองกิจการทั้งหมดของ บริษัท PT Group Lease Finance Indonesia หรือ GLFI ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GL และ JTA อีกด้วย
ด้าน GL ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ระหว่าง J Trust กับบริษัท อย่างไรก็ตาม หากบริษัทได้รับข้อเสนอใดๆ อย่างเป็นทางการจาก J Trust บริษัทมีความยินดีที่จะพิจารณาแต่ละข้อเสนอเป็นกรณีไป ทั้งนี้บริษัทยังไม่มีแผนในการยกเลิกหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกให้แก่ JTA หรือแผนในการขายธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียแต่อย่างใด
ทั้งนี้หลังจากบริษัทได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายทั้งภายในและภายนอกแล้ว บริษัทมีความเห็นว่า กรณียังไม่ปรากฏว่า JTA จะสามารถยกเลิกการลงทุนภายใต้สัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพได้แต่อย่างใดไม่ว่าด้วยเหตุตามกฎหมายหรือตามข้อกำหนดในสัญญา และยังไม่ปรากฏหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะส่งผลให้บริษัทจะต้องคืนเงินก่อนวันครบกำหนดตามสัญญา
อีกทั้งในส่วนของรายละเอียดข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพประการอื่นๆ บริษัทไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากมีหน้าที่ตามสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพที่จะต้องไม่เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว และหากไม่ปฏิบัติตามก็จะเป็นเหตุให้ผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพกับ JTA
นอกจากนี้บริษัทขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพครบถ้วนทุกประการ และในขณะนี้บริษัทก็ไม่มีการผิดข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพกับ JTA ในประการใดๆ และไม่มีหน้าที่จะต้องชำระคืนเงินใดๆ ให้แก่ JTA ไม่ว่าด้วยเหตุตามสัญญาหรือตามกฎหมาย
ประเด็นดังกล่าวยังต้องจับตากันต่อว่าทิศทางธุรกิจและราคาหุ้น GL จะเป็นเช่นไร โดยเฉพาะประเด็นหุ้นกู้แปลงสภาพ J Trust ที่น่าจะเป็นหนังม้วนยาวให้ที่ต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร รวมไปถึงการสะสางปัญหาตามที่ ก.ล.ต.ได้สั่งให้ GL ไปแก้ไขงบการเงิน แบบรายงาน 56-1 และแบบรายงาน 56-2 ให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงจะสำเร็จหรือไม่
เพราะจนถึงขณะนี้บริษัทยังสรรหา“สเปเชียล ออดิท”ที่เหมาะสมไม่ได้ หากนับตั้งแต่แจ้งเรื่องการสรรหาเมื่อวันที่ 20 ต.ค.60 บริษัทได้ระบุไว้ว่า จะสามารถเลือกและแจ้งให้นักลงทุนทราบได้ภายใน 1 เดือน แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้วถึง 2 เดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจนเพิ่มเติม