DTAC ขึ้นท็อปพิคกลุ่ม! ลุ้นกำไร Q4 โตแจ่ม-ไม่หวั่นแม้พลาดคลื่น 2100 MHz
DTAC ขึ้นท็อปพิคกลุ่ม! ลุ้นกำไร Q4 โตแจ่ม-ไม่หวั่นหากพลาดคลื่น 2100 MHz หลัง กสทช.อนุมัติแผนคู่ค้าคลื่น 2300 MHz กับ TOT
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจข้อมูลแล้วบทวิเคราะห์หุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC หลังราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง โดยปิดตลาดวานนี้ (10 ม.ค.) อยู่ที่ 50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 3.09% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 664.83 ล้านบาท ซึ่งยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 75 บาท อยู่ 50%
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ เลือก DTAC เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มสื่อสาร โดยมองว่า แนวโน้มกำไรในไตรมาส 4/60 ของ DTAC จะปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแก่ง จากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่ลดลง ขาดทุนจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง และรายได้บริการที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงยังได้รับปัจจัยบวกจากกรณีกสทช.อนุมัติแผนธุรกิจคลื่นความถี่ 2300 MHz ให้กับทีโอที และคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญากับทีโอทีได้ภายในครึ่งแรกปี 61 ซึ่งอาจทำให้ DTAC คลายความกดดันที่จะชนะการได้คลื่นความถี่ใหม่จากการประมูลของกสทช. เพื่อที่จะทดแทนคลื่นความถี่ที่จะหายไปหลังจากหมดอายุของสองสัญญาสัมปทานในก.ย.61
โดย นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” DTAC ให้ราคาเป้าหมาย 75 บาทต่อหุ้น โดยกสทช. ได้อนุมัติแผนธุรกิจคลื่นความถี่ 2300 MHz ให้กับทีโอทีและ DTAC ในขณะเดียวกันทีโอที ดังนั้นจึงประเมินว่าสองปัจจัยข้างต้นถือว่าเป็นพัฒนาเชิงบวกที่จะนำไปสู่การเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2300 MHz อย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 การเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลให้ DTAC ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงหรือลดการพึ่งพิงการประมูลคลื่นความถี่ของกสทช.ที่จะมาถึงในเดือนพ.ค.ปีนี้
รวมทั้งคาดว่าจะนำไปสู่บรรยากาศของการประมูลที่มีการแข่งขัน ด้านราคาที่ลดลง DTAC ยังคงเป็นหุ้นที่บล.บัวหลวง ชอบมากที่สุดในกลุ่ม โดยมูลค่าหุ้นของ DTAC ถือว่าถูกที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยอัตราส่วน EV/EBITDA ปี 2561 อยู่เพียงแค่ 4.6 เท่า
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการที่กสทช. อนุมัติแผนธุรกิจคลื่นความถี่ 2300 MHz ให้กับทีโอทีและ DTAC ในการเข้าใช้คลื่นความถี่ 2300 MHz ของทีโอที และการเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2100 MHz อย่างเป็นทางการระหว่างทีโอทีและ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ถือว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อ DTAC เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณว่าการเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2300 2100 MHz อย่างเป็นทางการมีแนวโน้มเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ภายใต้สมมติฐานหากว่าไม่มีการแก้ไขร่างสัญญาเพิ่มเติมอีก
โดยคาดว่าสำนักอัยการสูงสุดจะส่งความเห็นกลับไปยังทีโอที และหลังจากนั้นทีโอทีจะทำการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับ DTAC ในขั้นตอนต่อไป และเนื่องจากดีลคลื่นความถี่ 2300 MHz ระหว่าง DTAC กับทีโอทีถือว่าไม่แตกต่างมากนักจากดีลคลื่นความถี่ 2100 MHz ระหว่าง ADVANC กับทีโอที จึงมองว่าสำนักอัยการสูงสุดไม่น่าที่จะมีประเด็นแก้ไขตัวสัญญาอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ภายใต้สมมติฐานที่ว่า DTAC สามารถเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2300 MHz กับทีโอทีอย่างเป็นทางการได้ภายในครึ่งแรกของปี 2561 จึงประเมินว่า DTAC จะมีความกดดันลดลงเพื่อที่จะชนะการได้คลื่นความถี่ใหม่จากการประมูลของกสทช. เพื่อที่จะทดแทนคลื่นความถี่ที่จะหายไปหลังจากหมดอายุของสองสัญญาสัมปทานในเดือนก.ย. 2561
โดย DTAC จะมีจำนวนคลื่นความถี่ในมือเท่ากับ 60 MHz หลังจากหมดอายุสัญญาสัมปทาน ขึ้นมาเทียบเท่ากับ ADVANC และทรูมูฟเอชซึ่งมีจำนวนคลื่นความถี่ในมือ 55 MHz เท่ากันสำหรับแต่ละราย ในกรณีนี้ ประเมินว่า DTAC จึงอยู่ในสถานะที่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเพื่อที่จะให้ได้มาสำหรับคลื่นความถี่ของกสทช.ที่จะเปิดประมูลในเดือนพ.ค.นี้
ขณะเดียวกันประเมินว่าเป้าหมาย EBITDA ปี 2560 ณ ปัจจุบันของ DTAC (ซึ่งอย่างน้อยเท่ากับปี 2559) ถือว่ามีอัพไซด์เนื่องจากการเลื่อนเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ล่าช้าออกไปเป็นช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เนื่องจาก EBITDA งวดเก้าเดือนแรกของปี 2560 เติบโต 7.2% เทียบจากปีก่อน
รวมทั้งประมาณการ EBITDA ไตรมาส 4/60 จะเติบโต 15% เทียบจากปีก่อน ส่งผลให้คาดว่า EBITDA ปี 2560 มีแนวโน้มเติบโต 9%เทียบจากปีก่อน (หลังจากที่คำนวณเอาประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซออกไปจากประมาณการก่อนหน้านี้ซึ่งคาดว่าจะบันทึกในไตรมาส 4/60) นอกจากนี้ ประมาณการงบลงทุนมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่กรอบล่างของเป้างบลงทุนของบริษัทที่ตั้งไว้ที่ 1.7-2 หมื่นล้านบาทสำหรับปี 2560
ทั้งนี้คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 ที่ 375 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 1,146% เมื่อเทียบจากปีก่อน แต่ลดลง 38% เทียบจากไตรมาสก่อน หากไม่รวมรายการอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษอื่นๆ ส่วนกำไรหลักในไตรมาสนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่ลดลง ขาดทุนจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง (เงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ที่ให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น) และรายได้บริการที่เพิ่มขึ้น
ส่วน นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ทยอยซื้อ” DTAC ราคาเป้าหมาย 56 บาทต่อหุ้น และคงกำไรปี 60 และปี 61 ไว้ดังเดิม โดยทางฝ่ายได้รวมค่าเช่าคลื่น 2300MHz ไว้ในประมาณการปี 61 แล้ว
โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 4/60 ฟื้นตัวที่ 397 ล้านบาท โต 1,220% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้คาดรายได้รวมยังอ่อนแอจากรายได้ Prepaid มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และการลดอุดหนุนค่าเครื่องมีผลต่อยอดขาย
ทั้งนี้คาดว่า EBITDA จะปรับตัวดีขึ้นมากจากการแข่งขันที่ดูเบาบางลง ทำให้ไม่ต้องสนับสนุนค่าเครื่องและทุ่มงบการตลาดมหาศาล และได้ส่วนหนุนจากการใช้ Digital Technology ทางฝ่ายคาดผลขาดทุนจากการขายเครื่องจะลดลงเทียบปีก่อนหน้า แต่คาดกำไรจะลดลง 34% เทียบจากไตรมาสก่อนเนื่องจากเป็น High Season ของการจำหน่ายมือถือทำให้มีผลขาดทุนค่าเครื่อง และค่าการตลาดจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หาก DTAC ลงนามสัญญากับ TOT ได้ในเวลาที่เหมาะสม ทางฝ่ายมองจะเป็นบวกต่อบริษัท โดยจะลดความตึงเครียดในการประมูลคลื่นรอบหน้า กรณี DTAC ต้องเหลือเพียงคลื่น 2100MHz การใช้งานบนคลื่น 2300MHz และการลงเสาที่ถี่ขึ้นคาดจะเพียงพอต่อปริมาณการใช้งานปัจจุบัน แม้ตอนนี้ร่างสัญญาคู่ค้าได้ผ่านการเห็นชอบจาก กสทช. แล้ว แต่การเซ็นสัญญายังมีโอกาสล่าช้าเนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากอัยการสูงสุดและสคร.