BBL ท็อปพิคกลุ่ม! ลุ้นกำไรปี 61 โตสนั่น พ่วง P/E ต่ำ อัพไซด์สูงปรี๊ด!

BBL ขึ้นท็อปพิคกลุ่ม! ลุ้นกำไรปี 61 โตสนั่น รับพอร์ตสินเชื่อพุ่ง-ตั้งสำรองลด พ่วง P/E ต่ำ ฟาก โบรกฯ เคาะเป้าสูงสุด 293 บ./หุ้น ดันอัพไซด์สูงปรี๊ด!


สืบเนื่องจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับมุมมองกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2561 เป็น “มีเสถียรภาพ” จากมุมมองในปี 2560 ที่ “ลบ” โดยคาดหนี้เสียธนาคารไทยลดลงในปีนี้ หนุนโดยสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL หลังนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า BBL เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่ม

โดยนักวิเคราะห์ มองว่า ในปี 61 แนวโน้มกำไรของ BBL เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ตอบรับการขยายโตของสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น ตั้งสำรองลดลง และได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนของภาครัฐ

สำหรับราคาหุ้น BBL ปิดตลาดวานนี้ (1 ก.พ.61) อยู่ที่ 208 บาท บวก 1 บาท หรือ 0.48% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 968.38 ล้านบาท ทั้งนี้ยังคงมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 293 บาท อยู่ 41% ขณะเดียวกันจากข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.61 พบว่า ค่า P/E ของ BBL อยู่ที่ 12.05 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่า P/E กลุ่มธนาคาร ซึ่งอยู่ที่ 12.94 เท่า และยังต่ำกว่าค่า P/E ของ SET ซึ่งอยู่ที่ 19.82 เท่า

โดย บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์การลงทุนเดือนก.พ. “ได้เวลาธนาคารทะยาน” คาดว่าในปี 2561 ตลาดจะยังเกิดสภาพคล่องส่วนเพิ่ม (Liquidity Premium) อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระแสเงินที่จะเข้ามาใหม่นั้นจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีมูลค่าไม่แพงและได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะดีที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งก็คือกลุ่มธนาคารฯ Valuation ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ Forward PBV ซื้อขายกันที่ -1SD คาดว่าจะสามารถปรับเพิ่มมากขึ้นเป็น +1SD ตามสภาพคล่องส่วนเพิ่มที่จะเข้ามา

ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณกับมูลค่าทางบัญชีในปี 2561 จะได้ราคาเป้าหมายจากสภาพคล่องส่วนเพิ่มที่จะเกิดขึ้น ดังนี้ BBL มีเป้าหมาย 293 บาท SCB 254 บาท KTB 30.1 บาท BAY 57.1 บาท และ TMB 3.6 บาท ทั้งนี้ภาพรวมโดยเฉลี่ย (ยกเว้น TMB) มี Upside จากราคาเป้าหมายของบล.กสิกรไทยประมาณ 20%

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองด้านบวกต่อผลประกอบการปี 61 ของธนาคาร คาดทั้งสินเชื่อจะเติบโตราว 5-6% ได้ปัจจัยหนุนจากสินเชื่อ Corporate (สินเชื่อสาธารณูปโภคและส่งออก) ซึ่งอยู่ในช่วงกลับมาลงทุนอีกครั้ง และสินเชื่อรายย่อย และรายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโตขึ้นราว 5-9%

ขณะที่ดอกเบี้ยคาดขึ้นปลายปี 61 ดังนั้น NIM ปีนี้คาดอยู่ที่ 2.3% ทรงตัวจากปีก่อน ในมุมของคุณภาพสินทรัพย์คาด NPL จะทรงตัวจากปีก่อน (หลังจากเพิ่มขึ้นในปี 60 ถึง 27%) แต่การตั้งสำรองจะยังเยอะอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับ IFRS9 สำหรับราคาหุ้น BBL มองว่ายังถูกอยู่ จึงแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 242 บาทต่อหุ้น

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ ให้ราคาเป้าหมาย BBL ที่ 234 บาทต่อหุ้น โดยคาดกำไรสุทธิปี 61 เติบโต 11% อยู่ที่ 36,635 ล้านบาท (EPS 19.19 บาท) จากการตั้งสำรองหนี้ลดลง 8.60% จากปี 60 หลังเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว คาดวัฎจักร NPL เริ่มเป็นขาลง ทำให้คาดไม่ต้องตั้งสำรองหนี้จำนวนมากเช่นปี 60

รวมถึงคาดว่าโครงการลงทุนภาครัฐช่วยหนุนสินเชื่อในปี 61 หลัง BBL ร่วมกับ KTB และ SCB สนับสนุนสินเชื่อให้โครงการสายสีชมพู และเหลือง (Syndicate Loan) วงเงินกู้รวม 63,360 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนของ BBL ประมาณ 33% หรือคิดเป็นวงเงิน 21,120 ล้านบาท ซึ่งเริ่มเบิกจ่ายเมื่อช่วงไตรมาส 4/60

นอกจากนี้ BBL ลงนามสัญญา Bancassurance กับ AIA เป็นเวลา 15 ปี คาดเริ่ม Launch ผลิตภัณฑ์ของ AIA ช่วงไตรมาส 1/61 โดย BBL จะได้รับรายได้เป็น Revenue sharing และค่า Commission คาดช่วยทำให้รายได้ค่าธรรมเนียม BBL เติบโตแข็งแกร่งในปีหน้า

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประมาณการว่าปี 61 กำไร 8 แบงค์ที่วิเคราะห์จะพลิกเป็นเติบโต 9% (จากลดลง 9% ในปี 60) เนื่องจากสินเชื่อขยายตัวดีขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นตั้งแต่ไตรมาส 4/600 ที่ 4.5% เทียบจากปีก่อน และ 3.2% จากไตรมาสก่อน)

รวมทั้งแรงกดดันเรื่อง NPL น้อยลงหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น การตั้งสำรองฯก็จะลดลงได้ในบางธนาคาร แต่ก็ไม่มากเพราะยังต้องสำรองฯ รองรับ IFRS9 ที่จะเริ่มใช้ 1 ม.ค.62 ด้วย และการเติบโตรายได้ที่ไม่ดอกเบี้ยดีขึ้น ตามการขยายตัวของสินเชื่อ การส่งออก โดย BBL จับมือกับพันธมิตรขายผลิตภัณฑ์ประกันทำให้จะมีรายได้ส่วนนี้แข็งแกร่ง

สำหรับ NIM คาดว่าจะทรงตัว ค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะยังไม่ลดลงเพราะธนาคารต้องลงทุนในระบบดิจิตอลแบงค์กิ้ง และมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างเรื่องบุคลากร & สาขา ทั้งนี้ บล.ดีบีเอสฯ ให้ราคาเป้าหมาย BBL ที่ 222 บาทต่อหุ้น เลือกเป็นหุ้น Top picks ในกลุ่มแบงค์ การอ่อนตัว/พักฐานของราคาหุ้นเป็นจังหวะในการทยอยซื้อลงทุน

Back to top button