6 หุ้นสินเชื่อเช่าซื้อโชว์งบฯปี 60 กระหึ่ม! BFIT เจ๋งสุดกำไรทะลัก 81%

6 หุ้นสินเชื่อเช่าซื้อโชว์งบฯปี 60 กระหึ่ม! BFIT เจ๋งสุดกำไรทะลัก 81%


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ทำการรวบรวมหุ้นหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ (Finance & Securities) ซึ่งแจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2560 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม มานำเสนอ เนื่องจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวเป็นหุ้นนำตลาดฯ และมีพื้นฐานแข็งแกร่ง อีกทั้งคาดว่าสินเชื่อจะทยอยฟื้นตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ที่จะกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ดังนั้นปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้หุ้นหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ และ ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตได้รับผลดีต่อธุรกิจปี 61 ต่อเนื่องจากปี 60 ที่ทำผลงานออกมาสดใสอีกครั้ง

สำหรับกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีกำไรเติบโตโดเด่นในปี 2560 มี 6 ตัว ได้แก่  BFIT,MTLS,LIT,JMT,KTCและTHANI ดังตารางประกอบดังนี้

อันดับ 1 บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT กำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 233.39 ล้านบาท จากปีก่อน 128.66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 104.73% เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ย รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากการขายเงินลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน และหน่วยลงทุนในความต้องการของตลาด

 

อันดับ 2 บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS กำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 2,500.60 ล้านบาท จากปีก่อน 1,036.46  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 70.79% เนื่องจากบริษัทมีรายได้สูงขึ้น จากการขยายสาขาและยอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมทั้งรับรู้รายได้ค่าตอบแทนการใช้พื้นที่สำหรับระบบสายส่ง ระบบท่อ และโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 1.92 ล้านบาทต่อเดือน และการรับรู้รายได้จากการตัดจำหน่ายรายได้เต็มปี

พร้อมทั้งเตรียมปันผลจากงวดการดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. 60 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 เป็นเงินสด 0.18 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 27 เม.ย.61 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 14 พ.ค.61 ทั้งนี้การปันผลดังกล่าวจะต้องได้รบการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ก่อน

 

อันดับ 3 บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ LIT กำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 145.49  ล้านบาท จากปีก่อน 100.66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44.54% และสูงสุดนับตั้งแต่จัดตั้งบริษัท เนื่องจากบริษัทมีรายได้รวม 418.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.77 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.88 จากปีก่อนมีรายได้ 287.19 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อระยะสั้น

พร้อมทั้งประกาศจ่ายปันผลงวดการดำเนินงาน 1 ม.ค.60 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.60 เป็นเงินสด 0.32 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 22 ก.พ.61 กำหนดจ่ายเงินปันผล 12 เม.ย.61 ทั้งนี้ การอนุมัติจ่ายเงินปันผลขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561

นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บรมจ.ลีซ อิท (LIT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 61 คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง ตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อและรายได้จะเติบโตเกิน 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อย้ายหลักทรัพย์จดทะเบียนของ LIT จากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และบริษัทจะดำเนินการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับ Investment Grade ภายใต้กรอบกลยุทธ์ระยะยาว 3 ปี (61-63) ด้วยกลยุทธ์แรกมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) บริษัทจะเติบโตในเชิงของรายได้เฉลี่ย 20% และกำหนดพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อรวมให้ไปถึง 2,690 ล้านบาทและกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อมากกว่า 13,000 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่สอง มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (Increase Competitiveness) บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาสินเชื่อใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเอสเอ็มอี  อีกทั้ง มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินครบวงจรและหลายหลาย ครอบคลุมตั้งแต่สินเชื่อต้นน้ำ สินเชื่อกลางน้ำ และสินเชื่อปลายน้ำ (Variety of Product) และจะส่งเสริมสินเชื่อเติมทุนหมุนเวียนคู่ค้า (Supplier Finance) และบริษัทฯ จะใช้ช่องทาง Digital Marketing ในการหาลูกค้าใหม่ๆ เพื่อเปิดเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ผู้มุ่งหวัง (Prospect) เข้ามาเป็นลูกค้า

และกลยุทธ์ที่สาม การบริหารจัดการความเสี่ยง โดยมีนโยบายตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในสัดส่วน (Reserve) 5-7% ของยอดลูกหนี้คงเหลือสุทธิจากหลักประกัน เพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 และการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อเพื่อกระจายความเสี่ยง

นายสมพล เปิดเผยว่า บริษัทมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินครบวงจรและหลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้าแล้ว โดยบริษัทจะมุ่งมั่นขยายตลาดใหม่ ๆ โดยปัจจุบันได้มีการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแล้ว แต่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายให้ non-bank เนื่องจากปีนี้ภาครัฐต้องการดึงกลุ่มธุรกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบก่อน อาทิ โรงรับจำนำ ฯลฯ ดังนั้น บริษัทจึงคาดว่าน่าจะได้ใบอนุญาตภายในปี 62

นอกจากนี้ ประเมินแนวโน้มธุรกิจในปี 61 ว่า LIT เป็นบริษัทที่ค่อนข้างเล็ก มีโอกาสที่จะสามารถเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้การเติบโตจะต้องเติบโตแบบยั่งยืนจากการตั้งสำรองมากขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทมุ่งมั่นที่จะทำกำไรให้มากกว่าการตั้งสำรองด้วย

 

อันดับ 4 บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 396.13 ล้านบาท จากปีก่อน 290.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36.40% โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากรายไดรวมของบริษัทในปี 2560 เท่ากับ 1,356.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27.5% โดยส่วนใหญ่มาจากรายไดจากการเรียกเก็บหนี้สินจากลูกหนี้ที่รับซื้อในปี 60 เท่ากับ 1,109.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 เทา กับ 370.9 ล้านบาท อีกทั้งรายได้จากการให้บริการติดตามหนี้สินในปี 60 เท่ากับ 242.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 เท่ากับ 106.8 ล้านบาท

พร้อมเตรียมจ่ายเงินปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 เป็นเงินสดในอัตราระหว่าง 0.40 – 0.49 บาทต่อหุ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิ JMT-W1 ที่จะแปรสภาพในวันที่ 30 มีนาคม 2561 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 24 เม.ย.61 กำหนดจ่ายปันผล 15 พ.ค.61

 

อันดับ 5 บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 3,304.32 ล้านบาท จากปีก่อน 2,494.71 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.45% เนื่องจากบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ 3% และ 19% ตามลำดับ รวมถึงหนี้สูญได้รับคืนเพิ่มขึ้น 19% ขณะเดียวกันฐานลูกค้ายังขยายตัวสูงขึ้น

 

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดกลุ่มนอนแบงก์แสดงกำไรเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2561 เป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ได้แก่ THANI และ TK จะรายงานสินเชื่อเร่งตัวขึ้นอีก ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต เช่น KTC น่าจะเผชิญกับปีที่ท้าทาย กดดันโดยเกณฑ์ของธปท. ในการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

คงคำแนะนำ “เหนือตลาด” สำหรับกลุ่มธุรกิจการเงิน  แนะนำ MTLS (ราคาเป้าหมาย AWS ใน 12 เดือนข้างหน้า: 47.00 บาท) และ SAWAD (ราคาเป้าหมาย AWS ใน 12 เดือนข้างหน้า: 77.00 บาท)

คาดกลุ่มผู้ให้บริการทางด้านการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เติบโตต่อเนื่องในปีหน้า หนุนโดยสินเชื่อที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การขยายสาขาของบริษัทและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

โดย MTLS ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนสาขาประมาณ 600 สาขา ขณะที่ SAWAD วางแผนขยาย 200-300 สาขาต่อปี ณ ไตรมาส 3/60 MTLS และ SAWAD มีจำนวนสาขาที่ 2,294 และ 2,422 สาขา ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีแรงงานที่อยู่นอกระบบมากกว่า 50% ของแรงงานทั้งหมด บ่งบอกว่ายังมีโอกาสอีกมากในตลาดที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ (untapped market)  คาดสินเชื่อของทั้ง MTLS และ SAWAD จะเติบโต 40% ในปี 2561

คาดสินเชื่อของ THANI ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกจะขยายตัว 20% YoY ในปี 2561 เร่งตัวจาก 14% ในปี 2559 และ 18% ในปี 2560 โดยได้ปัจจัยบวกจากอุปสงค์รถบรรทุกที่เพิ่มขึ้น หนุนโดยภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวตามการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

อีกทั้งคาดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin) ของบริษัทจะยังได้รับปัจจัยหนุนจากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ นอกเหนือจากนั้นแล้ว  คาดสินเชื่อของ TK ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จะเติบโตต่อเนื่องที่ 15% ในปี 2561 ถึงแม้ว่า TK จะยังตั้งเป้าอย่างระมัดระวังว่าพอร์ตสินเชื่อในปีหน้าจะขยายตัว 10% แต่มองว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวเลขจะออกมาสูงกว่าเป้าหมายดังกล่าว หนุนโดยการบริโภคในครัวเรือนที่ฟื้นตัว

คาดปี 2561 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต รวมถึง KTC เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะเริ่มได้รับผลกระทบเต็มปีจากเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ตัวอย่างของเกณฑ์ใหม่ ได้แก่ การปรับวงเงินสูงสุดสำหรับบัตรเครดิตลงมาอยู่ที่ 1.5-5 เท่าของเงินเดือน จากก่อนหน้านี้ที่ 5 เท่า

นอกจากนี้ เพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตถูกปรับลดลงเหลือ 18% จาก 20%  มองว่าปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อความสามารถในการขยายพอร์ตและกระทบรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของ KTC เนื่องจากพอร์ตลูกค้าบัตรเครดิตส่วนใหญ่ของ KTC มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน และยังเป็นประเภทชำระหนี้ขั้นต่ำ (revolving type) ถึงแม้ คาดกำไรสุทธิของ KTC จะเติบโตเพียง 6% ในปี 2561 แต่มองว่ายังมีอัพไซด์เพิ่มเติมในประมาณการของ  จากกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลให้สินเชื่อเติบโตสูงเกินคาด รวมถึงระดับการตั้งสำรองที่อาจต่ำกว่าประมาณการของ

คงคำแนะนำ “เหนือตลาด” สำหรับกลุ่มธุรกิจการเงิน เนื่องจากกำไรสุทธิปี 2561 ที่คาดจะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น  แนะนำ MTLS (ราคาเป้าหมาย AWS ใน 12 เดือนข้างหน้า: 47 บาท) และ SAWAD (ราคาเป้าหมาย AWS ใน 12 เดือนข้างหน้า: 77 บาท)  ชื่นชอบ MTLS เนื่องจากบริษัทมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งในแง่ของตัวเลขการเติบโตและคุณภาพสินทรัพย์

นอกจากนี้  มีมุมมองบวกต่อ SAWAD จากการที่บริษัทกำลังเปลี่ยนจากบริษัทที่ให้เพียงบริการสินเชื่อเพื่อการบริโภคเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยหนุนให้บริษัทแตกต่างจากคู่แข่งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  LIT คาด NPL ในไตรมาส 3 และ 4 ยังอยู่ในระดับที่ต้องจับตา โดยคาดหวังว่า NPL ของลูกค้ากลุ่ม SMEs เหล่านี้ควรจะต้องเริ่มลดลงในไตรมาส 1/61 นี้ เพื่อลดแรงกดดันของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และทำให้บริษัทกลับมาเดินหน้าปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง ซึ่งอุปสงค์ยังคงมีสูง โดยปัจจุบันบริษัทถือว่ามีความพร้อมสูงหลัง D/E ลดลงเหลือ 1.3 เท่า หลังการแปลงสภาพของ LIT-W1 ก่อนหน้า  มองเบื้องต้น กำไรในไตรมาสนี้จะฟื้นตัว QoQ ขยายตัวได้ YoY

เพื่อความอนุรักษ์นิยมเพิ่มการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญขึ้นเป็น 6.5% ในปี 2561-62 จาก 4.9% ใน 4Q60 เพื่อเก็งการยกระดับขึ้นไปหาเกณฑ์ IFRS9 ที่ ตั้งสมมติฐานไว้ราว 137% ของ NPL (คาด 4.75% ในปี 2561) ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2561 ปรับลดจากประมาณการเดิม 21% เป็น 170 ลบ. ยังคงเติบโต +17% YoY

ส่วนราคาเหมาะสม ถูกทอนลง 15% เป็น 11.60 บาท/ หุ้น (อิง ROE18-19F 16.6%, P/BV เป้าหมาย 2.3x) เหลือ upside ไม่มาก 13% ลดคำแนะนำเป็น “ซื้อเก็งกำไร”

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า THANI  ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น ซื้อ จาก ขาย และปรับเพิ่มราคาเหมาะสมปี 2018 ขึ้นเป็น 11.80 บาท อิง Justified PER 20 เท่า

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมกับผู้บริหารปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2018 ขึ้น 6.1% เป็น 1,425 ลบ. +26.6%Y-Y และเป็นระดับกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากประเด็นบวก 3 ประการ

1.ค่าใช้จ่ายสำรองทั่วไปเพื่อรองรับ IFRS 9 จะครบใน 1H18 2. CoF จะลดลงอีกในปีนี้จากการครบอายุของหุ้นกู้รุ่นเก่า คาด Refinance ใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงราว 1.5% และ 3. แผน Write-off NPL อีกราว 50-100 ลบ. ในปีนี้ หรือคิดเป็น 3-6% ของ NPL ทั้งหมดจากที่ไม่เคย Write-off NPL มาก่อน ส่งผลดีต่อคุณภาพหนี้

 

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า JMTแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 39 บาท ซึ่งยังไม่ได้รวมประมาณการจากการเข้าลงทุนในธุรกิจประกันวินาศภัยเข้ามา ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 ทรงตัว QoQ แต่ลดลง YoY เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/59 มีรายการพิเศษจากการตีมูลค่าเงินลงทุน สำหรับในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าจะเร่งซื้อหนี้เข้ามาถึง 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสินเชื่อที่มีหลักประกันด้วย หลังจากที่ในปี 2560 ได้ซื้อมาทดลองและมียอดจัดเก็บอยู่ในเกณฑ์ดี

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์สินเชื่อในปี 2561 น่าจะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า แม้ว่าตัวเลขสินเชื่อในเดือนแรกของปี 61 จะลดลงก็ตาม แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่หดตัวลงแรงผิดปกติเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.ของปีก่อนๆ

โดยคาดว่าสินเชื่อจะทยอยฟื้นตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ที่จะกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และภาคธุรกิจก่อสร้างให้สูงขึ้น รวมถึงการส่งออกที่ยังขยายตัวดี จะช่วยเพิ่มปริมาณธุรกรรมสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก รวมถึงสินเชื่อเพื่อขยายและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่สินเชื่อรายย่อยคงยังอยู่ในสถานะประคองการเติบโต จากข้อจำกัดด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ขณะที่การบริหารจัดการเงินฝากในปีนี้ ธนาคารหลายแห่งน่าจะยังเดินหน้าบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการชะลอการแข่งขันด้านราคาสำหรับเงินฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ในระดับทรงตัวเป็นส่วนใหญ่ในปีนี้ และจากการที่หลายธนาคารทยอยเปิดให้บริการเงินฝากผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ใช้สมุด เพื่อปูทางไปสู่โอกาสการประหยัดต้นทุนการดำเนินงานมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังสรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ม.ค.2561 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 7.9 หมื่นล้านบาท เป็น 10.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลง 0.72% MoM แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน 4.23% ส่วนใหญ่ลดลงจากการชำระคืนสินเชื่อหมุนเวียนในภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี รวมทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หลังจากที่มียอดใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังขยายตัวดีต่อเนื่องตามอุปสงค์รถใหม่ที่เพิ่มขึ้น

ส่วนภาพรวมเงินฝากเดือน ม.ค. 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9.8 หมื่นล้านบาท หรือ 0.81% MoM เป็น 12.20 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 7.11% โดยเงินฝากที่เข้ามาในเดือนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และเพิ่มขึ้นทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยทั่วไปยังทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงและยังไม่มีสัญญาณการแข่งขันด้านเงินฝาก โดยแคมเปญเงินฝากที่ออกใหม่ยังมีทิศทางอัตราดอกเบี้ยลดลง แม้ว่าสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนกว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลักจะบ่งบอกการฟื้นตัวที่กระจายไปยังภาคเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ อย่างทั่วถึงมากขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายที่สุดในรอบ 77 เดือน โดยนอกเหนือจากเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าสินเชื่อแล้ว ในเดือนนี้ธนาคารยังมียอดตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน ม.ค. 2561 แตะระดับ 85.12% จากระดับ 91.20% ในเดือน ธ.ค. 2560 สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับขึ้นเป็น 22.47% จากระดับ 21.66% ในเดือนก่อนหน้า

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button