TICON ส่งซิกรายได้ปี 61 โตตามนัด 15% เล็งทุ่มหมื่นล้านขยายคลังสินค้าเพิ่ม

TICON ส่งซิกรายได้ปี 61 โตตามนัด 15% เล็งทุ่มหมื่นล้านขยายคลังสินค้าเพิ่ม หวังผลักดันธุรกิจเติบโตระยะยาว ฟากโบรกฯ แนะ "ซื้อ" เป้า 18.50 บาท


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเนคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON หลังบริษัทเปิดแผนกลยุทธ์ 3 ปี ตั้งเป้ามีรายได้ปี 61 เติบโตเฉลี่ย 15% ภายใต้ปรัชญา “ผู้สร้างสรรค์ประสบการณ์อันทรงคุณค่าเพื่อลูกค้า”

ด้านนักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TICON ในราคาเป้าหมายที่ 18.50 บาท/หุ้น โดยมองว่าถึงแม้บริษัทจะประกาศผลประกอบการออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากมีรายได้ค่าเช่าที่ต่ำกว่าคาดรวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ปรับตัวสูงกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่บริษัทยังมีรายการพิเศษเข้ามาหนุน อาทิ กำไรจากการขายสินทรัพย์ให้ลูกค้า, กำไรจากการขายสินทรัพย์ให้ TREIT, รายได้ค่าบริหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการใช้ขาดทุนสะสมในการลดภาษีร ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรออกมาสูงกว่าคาด

โดยราคาหุ้น TICON ปิดตลาดวานนี้ (6 มี.ค.61) ที่ระดับ 17.60 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง สูงสุดที่ระดับ 17.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 17.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 27.59 ล้านบาท

ด้านนายวีรพันธ์ พูลเกษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TICON เปิดเผยว่า บริษัทได้วางงบลงทุนรวม 1 หมื่นล้านบาท พร้อมวางโรดแมปแผนธุรกิจ 3 ปี ภายใต้ปรัชญาการดำเนินงานในการเป็น “ผู้สร้างสรรค์ประสบการณ์อันทรงคุณค่าเพื่อลูกค้า” เสมือนเพื่อนคู่คิดของลูกค้าและพันธมิตรที่พร้อมจะส่งมอบสินค้า โซลูชั่น และบริการที่ตรงความต้องการ

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมใช้นโยบายเชิงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรและพันธมิตรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไนการก้าวสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และก้าวขึ้นสู่ผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในระดับอาเซียนในปี 63 ด้วยพื้นที่บริหารจัดการกว่า 3 ล้านตารางเมตร จากปัจจุบันมีพื้นที่บริหารจัดการรวมอยู่ที่ 2.7 ล้านตารางเมตร

พร้อมมองว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนด้านต่างๆ ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การอนุมัติร่าง พ.ร.บ.รองรับการพัฒนาพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ประกอบกับการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve รวมถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะนำไปสู่การจัดเก็บและการกระจายสินค้า ส่งผลให้ความต้องการโรงงานและคลังสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับเงินลงทุนในปี 61 บริษัทตั้งงบไว้ที่ 2-3 พันล้านบาท เพื่อมารองรับการลงทุนต่างๆ ทั้งในส่วนของการขยายโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าใหม่ในประเทศที่ยังมีที่ดินเปล่าเหลืออีก 1,500 ไร่ และการลงทุนในธุรกิจใหม่ พร้อมทั้งในปีนี้จะมีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในเพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ 4.1 พันล้านบาท โดยจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่มูลค่า 5 พันล้านบาทในช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งภายในวันนี้จะพิจารณาอายุและอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยชุดใหม่ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง

ขณะที่ นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ TICON เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยจะมีรายได้แตะ 5 พันล้านบาทภายในปี 63 ซึ่งการสร้างรายได้ของบริษัทไนช่วง 3 ปีนี้จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าเช่าให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนรายได้ค่าเช่าและรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองอยู่ที่ 50:50 ในปี 63 จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ 47:53 ซึ่งบริษัทจะเน้นการขยายคลังสินค้าประเภท Buit-to-Suit มากขึ้น เพื่อเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าในธุรกิจแต่ละประเภททีมีความต้องการใช้สินค้าที่แตกต่างกัน

ส่วนแผนการดำเนินงาน 3 ปี บริษัทจะใช้กลยุทธ์ Total Dimension มาขับเคลื่อนองค์กรในเชิงรุก 4 ด้าน ได้แก่ การรุกตลาดด้านจุดแข็งด้านบริการครบวงจร พร้อมเปิดธุรกิจใหม่ขยายฐานลูกค้า ด้วยการเพิ่มสัดส่วนในกลุ่มสร้างตามความต้องการของลูกค้าเป็น 100,000 ตารางเมตร/ปี พร้อมกำหนดขยายฐานลูกค้าผ่านเครือข่ายของกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (FPL) และยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงระดับสากลในการเปิดตัวธุรกิจใหม่เข้ามาหนุนการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ และอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-Curve

การรุกสร้างนวัตกรรมให้องค์กรและผลิตภัณฑ์ โดยการปรับองค์กรให้สร้างนวัตกรรมทั้งในกระบวนการทำงานและนวัตกรรมของและบริการต่างๆ การเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีสมัยใหม่ การรวมจุดแข็งของบริษัทที่มีอาคารทั้งแบบพร้อมใช้ และสร้างตามความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างโครงข่ายผลิตและโลจิสติกส์ที่มีเอกลักษณ์ ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตตามแผน

พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายภายในปี 63 จะเพิ่มอัตราการเช่าพื้นที่ให้เป็น 85% จากปัจจุบันอยู่ที่ 69% ด้วยการขยายพื้นที่ไปยังในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ การขยายพื้นที่พัฒนาไปยังเขต EEC ร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มผู้ถือหุ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากนักลงทุนชาวต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น จีน และยุโรป ส่วนการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับตลาดอินโดนีเซียที่ยังเติบโตต่อเนื่อง และเริ่มขยายไปสู่ตลาดอาเซียน โดยอาศัยเครือข่ายธุรกิจของเฟรเซอร์ที่มีอยู่ในหลายประเทศ

ทั้งนี้ในปี 60 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการเพิ่มทุนให้กับกลุ่มเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินเพื่อใช้ในการลงทุนรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกำหนดกลในการสร้างสมดุลโครงสร้างรายได้ธุรกิจ ระหว่างรายได้ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สิน และความเชื่อมั่นใน TREIT ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตผ่านการขายสินทรัพย์แบบครบวงจร และรายได้อื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเติบโตระยะยาว

อีกทั้งบริษัทยังมองการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งได้มีการศึกษาแล้วและอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 2/61 อีกทั้งยังศึกษาเข้าไปลงทุนธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม โดยอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรรายใหม่ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่กว่ารายเดิมที่เคยเจรจามาก่อนหน้านี้ เพื่อโอกาสในการลงทุนที่กว้างมากขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 61

Back to top button