หุ้นทีวีดิจิทัลเทรดคึก! รับศาลฯสั่งคืนเงิน “ไทยทีวี” เบิกทางบจ.ขอคืนเงินค้ำประกัน
หุ้นกลุ่มทีวิดิจิทัล ปรับขึ้นถ้วนหน้ารับข่าวศาลปกครองกลางให้ "ไทยทีวี" ถอนไลเซ่นส์ พร้อมคืนเงินค้ำประกัน เปิดทางรายอื่นคืนใบอนุญาตตาม โบรกฯมองการแข่งขันทีวีดิจิทัลลดลง
จากกรณีที่ตุลาการศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ระหว่างบริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือที่รู้จักในชื่อ “ติ๋ม ทีวีพูล” ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่
โดยบริษัท ไทยทีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูล 2 ช่องทีวีดิจิทัล ได้แก่ ช่อง LOCA และ ช่องไทยทีวี ได้ยื่นฟ้องว่ากสทช.มีคำสั่งตามหนังสือที่ สทช 4010/5495 ลว. 12 ก.พ. 2559 เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ เลขที่ B1-S20031-0024-57 และ B1-S20031-0017-57 และให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทในสัญญาทางปกครอง เมื่อพิจารณาจากคำให้การและคำแถลงของทั้ง 2 ฝ่าย เห็นว่า กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายและการส่งเสริมกิจการทีวีดิจิทัลตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน บริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกการให้บริการทีวีดิจิทัลได้
ส่วนการขอคืนหลักประกันทางการเงิน ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนังสือให้ยกเลิกการประกอบกิจการออกมาหลังกำหนดการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 ศาลฯ จึงให้ กสทช.คืนหนังสือสัญญาการชำระเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ออกไว้เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 3 และงวดที่เหลือประมาณ 1,500 ล้านบาท คืนแก่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด
อย่างไรก็ตาม ศาลฯ ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องบอกเลิกการให้บริการ เป็นการขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจของตัวเอง ศาลฯ จึงเห็นว่า กสทช.ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหายตามที่ไทยทีวีต้องการ
นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค. 2561) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยจะเชิญผู้ประกอบการทุกกลุ่ม และ กสทช.ไปร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล
ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ศาลปกครองตัดสิน ไทยทีวีคืนช่องทีวีดิจิตัลได้ โดยวานนี้ (13มี.ค.) ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับ บจก.ไทยทีวี จริง ซึ่ง บจก.ไทยทีวี โดยนางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ ไชยกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของบริษัทไทยทีวี เป็นโมฆะทั้งหมดดังนั้น บจก.ไทยทีวีจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา กับ กสทช.
ความเห็น: มองว่าคำพิพากษาดังกล่าวเปิดทางให้บริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจทีวีดิจิตอลสามารถบอกเลิกสัญญาและคืนใบอนุญาตได้ ช่วยให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลง คาดเป็นบวกต่อ WORK, MONO, BEC โดยเชื่อว่า BEC ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากสุด เนื่องจากปัจจุบันถือสัญญาสัมปทานทีวีดิจิตอลไว้มากถึง 6 ช่อง มีต้นทุนสัญญาสัมปทานรวมกันทั้งสิ้นกว่า 6,000 ล้านบาท
ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีต้นทุนราว 3,000 กว่าล้านบาทสำหรับช่อง HD และมากกว่า 1,500 ล้านบาท สำหรับช่อง SD โดยที่ BEC ยังไม่สามารถ Utilized ช่อง SD เพื่อสร้างรายได้ได้มากเท่าที่ควร แนะนำเก็งกำไรธุรกิจทีวีดิจิตอล โดยเน้นไปที่หุ้น BEC
ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกกับข่าวข้างต้น เพราะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต โดยมองว่าข่าวข้างต้นเป็นบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหญ่ ที่เป็นทั้งผู้ประกอบการและผลิตcontent คือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC), บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ,บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO), บมจ.อาร์เอส (RS), บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) และกลุ่มธนาคาร คือ BBL แต่อย่างไรก็ดีทาง กสทช.ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ซึ่งอาจส่งผลให้คดียังไม่ถึงที่สุด
ขณะเดียวกัน มองว่าการแข่งขันในกลุ่มทีวีดิจิทัลจะลดลง เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต และเคยยื่นข้อเสนอต่อ กสทช.แล้ว โดยมองว่าทีวีดิจิทัลในไทยควรมีประมาณ 15-16 ช่องจะส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของแต่ละช่องอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้
สำหรับหุ้นที่จะได้ประโยชน์ในครั้งนี้ คือ BEC, WORK, MONO, RS และ GRAMMY ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เป็นทั้งผู้ผลิต Content และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นอกเหนือจากนี้ยังมุมมองเชิงบวกต่อ BBL เพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทยทีวี ซึ่งได้มีการจ่ายแบงก์การันตีให้กับทาง กสทช.ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท และได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วเต็มจำนวน คาดว่ารายการนี้จะมีการ reverse กลับมาเป็นรายได้หรือนำมาลดค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อฯได้ ซึ่งจะเป็น Upside ต่อกำไรสุทธิในปี 61 ราว 4% หรือคิดเป็น Upside ต่อราคาหุ้นราว 0.8 บาท
ธนาคารที่มีการปล่อยให้กลุ่มทีวีดิจิทัลมากที่สุดคือ BBL รวม 14 ช่อง จำนวน 21,600 ล้านบาท รองลงมาเป็น ธ.กสิกรไทย (KBANK) รวม 8 ช่อง จำนวน 10,900 ล้านบาท และธ.กรุงศรีอยุธยา (BAY) รวม 2 ช่อง จำนวน 2,680 ล้านบาท ขณะที่ในเบื้องต้นยังแนะนำซื้อ BBL ราคาเป้าหมายที่ 222 บาท
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หลังจากที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่จะต้องแบกรับจากใบอนุญาตจึงคาดว่าหากบจ.เหล่านี้ขอคืนเงินค้ำประกันจะส่งผลดีต่อต้นทุนที่ลดลง
โดยประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นบจ.ในกลุ่มทีวีดิจิทัลที่คาดว่าจะได้รับเงินคืนปรับตัวขึ้นยกแผง เริ่มต้นที่ราคาหุ้นบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK อยู่ที่ระดับ 73.25 บาท ปรับตัวขึ้น 3.25 บาท หรือ 4.64% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 318.87 ล้านบาท
ขณะเดียวกันราคาหุ้นบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO อยู่ที่ระดับ 4.30 บาท ปรับตัวขึ้น 0.10 บาท หรือ 2.38% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 74.51 ล้านบาท และบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC อยู่ที่ระดับ 13.80 บาท ปรับตัวขึ้น 0.60 บาท หรือ 4.55% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 940.52 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม พ.อ.นที สุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.ได้หารือกันเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาให้ “ไทยทีวี” สามารถบอกเลิกการให้บริการทีวีดิจิทัลได้ หลัง กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายและการส่งเสริมกิจการทีวีดิจิทัลตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนผู้ประกอบการ พร้อมสั่งให้ กสทช.คืนเงินค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ออกไว้ให้เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 3 และงวดถัดไป รวมจำนวน 1,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ กสทช.จะอุทธรณ์ใน 3 ประเด็น คือ กรณีที่ศาลวินิจฉัยว่า กสทช.ออกใบอนุญาตในลักษณะให้เอกชน”เข้าร่วมการงาน”กับรัฐเพื่อให้บริการโทรทัศน์ ซึ่งการร่วมการงาน หมายถึงระบบสัญญาสัมปทาน ขณะที่ กสทช. ตั้งขึ้นแพื่อเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาสัมปทานให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ดังนั้น ในส่วนนี้จึงน่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการตั้ง กสทช.
ส่วนในประเด็นที่ว่า กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายการให้บริการ ประเด็นนี้มีข้อเท็จจริงที่มีการกำหนดว่าการขยายโครงข่ายในแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการให้มีความครอบคลุมอย่างไร การขยายโครงข่ายได้เป็นไปตามกำหนด ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการทุกรายคงล้มเหลวในการให้บริการทั้งหมด
และในส่วนที่กรมประชาสัมพันธ์ติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายล่าช้า ซึ่งได้มีการลงโทษทางปกครองไปแล้ว และ กสทช.ได้ดำเนินการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัลจนครบทั้งหมดแล้ว
” เราไม่ได้มีความกังวลถ้าช่องอื่นจะดำเนินการอะไร กสทช.ตัดสินใจอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายผลคดีจะเป็นอย่างไร เราแค่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน เพราะดูเป็นการขัดต่อหลักการสากล แต่ขอให้คดีถึงที่สุดก่อน”พ.อ.นที กล่าว
ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการการทีวีดิจิทัลเพื่อลดภาระนั้น เป็นการช่วยอุตสาหกรรมโดยรวม ไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าใครได้กำไรหรือขาดทุน แต่ทำเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์