ไอพีโอป้ายแดง CMAN ลุ้นเปิดสนั่น! “ทิสโก้” เคาะเป้าสูงลิ่ว 6 บ.
ไอพีโอป้ายแดง CMAN ลุ้นเปิดสนั่น! “ทิสโก้” เคาะเป้าสูงลิ่ว 6 บ. มองพื้นฐานธุรกิจแกร่ง หลังขยายกำลังการผลิตไปในประเทศอินเดียและขยายฐานลูกค้าไปยังหลายๆ ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (21 มี.ค. 61) บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 240 ล้านหุ้น ในราคา IPO ที่ 3.84 บาท โดยมี บล.ทิสโก้ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.รับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ ของ บริษัท.เคมีแมน จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ CMAN เข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กำหนดวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และเริ่มทำการซื้อขาย ในวันที่ 21 มี.ค.61
โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท.และหุ้นชำระแล้ว 960 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 960 ล้านบาท โดยมีจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 240 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 3.84 บาท ช่วงระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.61
ด้านนายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMAN เปิดเผยว่า ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ทำให้มั่นใจว่าหุ้น CMAN จะได้รับการตอบรับที่ดีในวันเข้าซื้อขายวันแรก
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 3 ประเภท ภายใต้เครื่องหมายการค้า CHEMEMAN ได้แก่ 1. ปูนควิกไลม์ หรือแคลเซียมออกไซด์ ที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัท 2. ปูนไฮเดรตไลม์ หรือแคลเซียมไฮดรอกไซด์
และ 3. แร่หินปูนเคมีและแร่หินปูนเคมีบด หรือแคลเซียมคาร์บอเนต เพื่อจำหน่ายในไทยและต่างประเทศรวมกว่า 20 ประเทศ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 9 แสนตันต่อปี จากฐานการผลิตในประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานแก่งคอย โรงงานพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และโรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง รวมถึงมีศูนย์กระจายสินค้าในประเทศออสเตรเลียอีก 2 แห่งเพื่อกระจายสินค้าในประเทศดังกล่าว
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทมีแผนนำไปใช้ขยายธุรกิจในไทยและต่างประเทศ ชำระเงินกู้จากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยปัจจุบันเคมีแมนอยู่ระหว่างร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น 2 รายในประเทศอินเดีย ดำเนินการก่อสร้างโรงงานปูนไลม์ 2 แห่งในเมือง Visakhapatnam และเมือง Tuticorin ซึ่งเป็นเมืองท่าและเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของอินเดีย
โดยคาดว่าโรงงานทั้ง 2 แห่งจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562 ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม (ณ ปี 2562) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และยกระดับกลุ่มบริษัทเคมีแมนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่อง 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก
“เรามีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งปูนไลม์ติด 10 อันดับแรกของโลก และขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งต่อยอดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างการเติบโต โดยมั่นใจว่าด้วยคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ปูนไลม์ที่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษ อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จะเป็นโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก” นายอดิศักดิ์ กล่าว
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า เคมีแมนมีพื้นฐานธุรกิจและศักยภาพการแข่งขันที่ดี โดยมีทั้งโรงงานผลิตและประทานบัตรเหมืองจากภาครัฐส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านการผลิตและแหล่งวัตถุดิบ
อีกทั้งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนไลม์รายใหญ่ที่สุดในไทยและผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และเคมีภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย ที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปหลากหลายอุตสาหกรรมและครอบคลุมพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงในด้านการทำตลาดที่ดี
“เชื่อมั่นว่าเคมีแมนจะเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ปูนไลม์มีฐานลูกค้ากว้าง สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตสินค้าที่หลากหลาย ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีทีมงานที่มีความรู้และความเข้าใจในอุตสาหกรรมปูนไลม์เป็นอย่างดี มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดจนขยายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีโอกาสการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดทั้งในและต่างประเทศ” นายไพบูลย์ กล่าว
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ได้ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ CMAN ที่ราคา 6 บาท/หุ้น โดยคิดจาก 2561F PER ที่ 26 เท่า (+0.5 STDEV เหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของ SUTHA ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกับ CMAN ที่สุด)
แต่อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายเชื่อว่า CMAN ควรมีการซื้อขาย premium กว่า เนื่องจากมีข้อได้เปรียบตรงที่บริษัทเป็นผู้ถือครองประทานบัตรเหมืองแร่หินปูนเคมีคุณภาพสูงที่มีปริมาณสำรองสูงเป็นของตัวเอง รวมถึงมีการขยายกำลังการผลิตไปในประเทศอินเดียและฐานลูกค้าไปยังหลายๆ ประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตมากกว่าประเทศไทย
ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของปี 2561 ด้วยวิธี DCF ได้เท่ากับ 6.10 บาท/หุ้น โดยมองว่าจุดเด่นของ CMAN คือประสิทธิภาพการผลิตที่สูงและมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำกว่าคู่แข่ง เมื่อผนวกกับแผนการเพิ่มกำลังการผลิตและการขยายโรงงานในต่างประเทศ โดยคาดกำไรสุทธิปี 2561-63 โตเฉลี่ยสูงถึง 44% ต่อปี และคาดว่า CMAN จะขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 10 ของโลกได้ตั้งแต่ปี 2562