3 หุ้นยานยนต์ยังมีหวัง Q1 รับอานิสงส์ยอดผลิตรถยนต์โต 12% บรรเทาวิกฤตเงินบาทแข็งค่า!
3 หุ้นประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ ยังมีหวัง Q1/61 รายได้พุ่งรับอานิสงส์ยอดผลิตรถยนต์โต 12% บรรเทาวิกฤตเงินบาทแข็งค่า!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขการผลิตรถยนต์ในเดือน ก.พ.61 เพิ่มขึ้น 15.37% จากเดือน ก.พ.60 และเพิ่มขึ้น 7.25% จากเดือน ม.ค.61 โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 344,433 คัน เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ก.พ.61 ส่งออกได้ 102,217 คัน เพิ่มขึ้น 4.05% จากเดือน ก.พ.60 โดยมีมูลค่าการส่งออก 52,273.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.72% จากเดือน ก.พ.60 โดยตลาดตะวันออกกลาง และตลาดอเมริกากลางและอเมริกาใต้เป็นบวกมา 4 เดือนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ตลาดออสเตรเลียยังคงเติบโตดีมาก
ส่วนตลาดแอฟริกา ยุโรป และเอเชียส่งออกลดลง โดยตลาดเอเชียลดลงจากการชะลอส่งออกไปยังประเทศเวียดนามที่คุมเข้มรถยนต์ที่นำเข้า
ทั้งนี้ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.61) มีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 184,284 คัน เพิ่มขึ้น 3.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 94,287.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
ขณะที่การผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือน ก.พ.61 มีทั้งสิ้น 178,237 คัน เพิ่มขึ้น 15.37% จากเดือน ก.พ.60 จากการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกและเพื่อจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกประเภท และเพิ่มขึ้น 7.25% จากเดือน ม.ค.61 โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 344,433 คัน เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน ก.พ. มีจำนวนทั้งสิ้น 75,466 คัน เพิ่มขึ้น 10.3% จากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 13.4% จากเดือนม.ค. 61
ทั้งนี้ยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวด้วยการส่งออกที่เติบโตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงเติบโตดี การถือครองรถยนต์คันแรกครบ 5 ปี การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล
ทั้งนี้ “ผู้สื่อข่าว” มองว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในแง่ของรายได้ที่จะบันทึกเข้ามาในไตรมาส 1/61 ถึงแม้ว่ากลุ่มดังกล่าวจะยังได้รับผลกระทบเงินบาทแข็งค่ามาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันประสิทธิภาพการทำกำไรของกลุ่มนี้อย่างมาก
อย่างไรก็ตามตาม ตัวเลขการผลิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้รายได้ปรับตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน จึงได้ให้น้ำหนักการลงทุนสำหรับกลุ่มยานยนต์เพิ่มขึ้น สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากตัวเลขดังกล่าวมีดังนี้ AH, STANLY และ SAT
อันดับที่ 1 บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ผู้ออกแบบผลิตและติดตั้งอุปกรณ์จับยึดเพื่อประกอบรถยนต์ ออกแบบและผลิตอุปกรณ์แม่พิมพ์ปั๊มโลหะและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ ชิ้นส่วนพื้นรถ เหล็กขวาง ตัวค้ำ ตัวยึด ถังน้ำมัน เป็นต้น และมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ และเป็นผู้พัฒนาและจำหน่ายระบบนำร่องการเดินทางและให้บริการด้านเทคโนโลยีการเดินทาง
โดย บล.บัวหลวง แนะนำ “ซื้อ” AH ราคาเป้าหมาย 45.50 บาท/หุ้น โดยยังคงมุมมองในเชิงบวกต่อผลประกอบการในปี 61 ของ AH ว่าจะสามารถเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ยอดขายของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 3-5% ตามการคาดการณ์การเติบโตของยอดขายรถยนต์ในประเทศ หนุนโดยการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว และลูกค้าของบริษัทออกรถยนต์โมเดลใหม่
ขณะที่คาดการณ์ว่ายอดขาย AH ในปี 2561 จะปรับตัวขึ้น 6% หนุนโดย Isuzu ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของทางบริษัท มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์โมเดลใหม่ (D-Max Blue Power pick-up) ในประเทศไทย และมีการคาดการณ์ว่าตลาดส่งออกจะปรับตัวขึ้น 6% จากปีก่อน ไปอยู่ที่ 170,000 คันเนื่องจากบริษัทเตรียมขยายตลาดเข้าสู่อาร์เจนติน่าและอิหร่าน
ทั้งนี้ในระยะกลางถึงระยะยาว เชื่อว่ายอดขายของAH จะเติบโตเป็นสองหลัก หนุนโดยการร่วมมือกับ SGAH ที่จะขยายตลาดในประเทศอเมริกา จีน และในยุโรป รวมถึงการมียอดคำสั่งซื้อชิ้นส่วน EV (ปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อเล็กน้อยจากผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป) มากไปกว่านั้นทาง SGAH กำลังวางแผนที่จะขยายโรงงานเพิ่มในประเทศเม็กซิโกในปีนี้
โดยคาดว่ากำไรของ AH ในช่วงครึ่งแรกของปี 61 จะอยู่ที่ 540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อนหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น (เนื่องจากมีโมเดลรถยนต์ออกใหม่) และการขยายของกำไรขั้นต้น นอกจากนี้ทาง AH จะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อไตรมาสรวมถึงส่วนแบ่งกำไรจาก SGAH
นอกจากนี้ดูเหมือนว่าส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย (ฮุนได มอเตอร์ ประเทศไทย) จะเติบโตมากกว่าที่คิดตามการเติบโตของยอดขายรถในประเทศ ดังนั้นจึงปรับราคาเปาหมายขึ้นจาก 42.50 เป็น 45.50 บาท อิงจากค่า PER ที่ 12 เท่า คงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” โดย AH ยังคงเป็น top pick
อันดับที่ 2 บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์ ได้แก่ หลอดไฟ ชุดโคมไฟ และแม่พิมพ์ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัท การผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานของลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ขณะที่ผลประกอบการปี 2560 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,103 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิ 14.40 บาทต่อหุ้น
โดย บล.ไทยพาณิชย์ ระบุในบทวิเคราะห์ (20 มีนาคม 2561) โดยแนะนำ “ซื้อ” STANLY ให้ราคาเป้าหมาย 303 บาท/หุ้น
อันดับที่ 3 บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นกลุ่ม รถยนต์นั่ง รถกระบะ รถบรรทุกและอุตสาหกรรมเครื่องยนต์การเกษตร โดยกลุ่มลูกค้าหลักได้แก่ผู้ประกอบยานยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งมีการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว และผู้ค้าชิ้นส่วนอะไหล่
ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.50 บาท/หุ้น โดยมองว่า SAT จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่า GPM และกำไรสุทธิในปี 61 จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยผลดีจาก JV ใหม่ ขณะที่กำไรไตรมาส 4/60 สูงกว่าประมาณการ 4% และสูงกว่า consensus 19%
โดยปรับประมาณการกำไรต่อหุ้นขึ้น 1-7% ในปี 61-63 สะท้อนยอดสั่งซื้อจากลูกค้าใหม่และ JVใหม่ ทั้งนี้ ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” และปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 24.50 แต่ยังคงอิง P/E 10.86 เท่า ในปี 61
*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน