เปิดสถิติ Window Dressing ไตรมาสแรก 6 ปีย้อนหลัง “มีจริง” หรือ “แค่ขายฝัน?”

เปิดสถิติ Window Dressing ไตรมาสแรก 6 ปีย้อนหลัง “มีจริง” หรือ “แค่ขายฝัน?” พร้อมเปิดชื่อ 12 หุ้น เป้ากองทุนทำราคา


ภาวะตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ถือว่าเป็นการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 1,753.71 จุด เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2560 คิดเป็นปรับตัวขึ้นจนถึงปัจจุบัน (26 มี.ค.2561) ถึง 47.39 จุด หรือ 2.70%

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังคงผันผวนทั้งบวกและลบ ขณะที่ยังคงมีนักลงทุนที่คาดหวังว่าจะเกิดปรากฏการณ์ Window Dressing ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประจำทุกๆครั้งที่จะปิดงวดไตรมาส โดยนักวิเคราะห์หลายสถาบันต่างให้ความเห็นว่าจะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น

ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลดัชนีย้อนหลังของวันปิดสิ้นงวดในช่วงไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. นับตั้งแต่ปี 2555-2560 ในระยะเวลาก่อนปิดงวดไตรมาส 1 วัน ,7 วัน และ 15 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าจะมีการทำ Window Dressing เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นภาพชัดเจนได้ขึ้นว่าปรากฏการณ์นี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

ตารางแสดงการเปลี่ยนแปลงของดัชนี ช่วงที่คาดการณ์ว่าจะเกิด Window Dressing

(*คลิกที่ตารางเพื่อขยายขนาด)

 

ทั้งนี้ จากตารางสถิติย้อนหลัง 6 ปีของ “ผู้สื่อข่าว” จะเห็นได้ว่าการทำ Window Dressing ก่อนปิดไตรมาส 1 นั้น มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วง 15 วันก่อนปิดงวดไตรมาส โดยปี 2555 ดัชนี 15 วันก่อนปิดสิ้นงวดมีการปรับตัวขึ้นถึง 35.60 จุด ขณะที่ปี 2560 ที่ผ่านมาดัชนี 15 วันก่อนปิดไตรมาส 1/2560 ปรับตัวขึ้นถึง 40 จุด

ดังนั้น การที่ดัชนี 15 วันก่อนปิดสิ้นงวดไตรมาส 1/2561 ซึ่งปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,800.32 จุด จึงเป็นไปได้ว่ากองทุนอาจจะมีการทำ Window Dressing ไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะไม่เกิดการทำรายการในช่วงที่เหลือของไตรมาส 1/2561

 

โดย บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวสัปดาห์นี้ที่ 1,760 – 1,827 จุด โดยช่วงต้นสัปดาห์คาดว่าดัชนีอาจจะยังถูกกดดันจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนหลังประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ลงนามเก็บภาษีนำเข้าจากจีนวงเงินกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านจีนเองก็ตอบโต้กลับทันทีด้วยการประกาศเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐกว่า 128 รายการ เช่น หมู ผลไม้ รวมไปถึงเศษเหล็ก และ อลูมิเนียมมีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบต่อประเทศไทยจะค่อนข้างจำกัดเนื่องจากว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอันดับแรกของไทยจะเป็นประเทศจีนที่คิดเป็นกว่า 16% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดขณะที่สหรัฐมีมูลค่าเพียง 8.5% และเชื่อว่าดัชนีได้ตอบรับความวิตกดังกล่าวไปแล้วบางส่วน จึงคาดว่า Downside ของดัชนีจะจำกัด และไม่น่าจะต่ำกว่าบริเวณ 1,760 จุด โดยเชื่อว่าตลาดจะยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยในประเทศและผลประกอบการเป็นหลัก

ขณะที่ Window Dressing ช่วงใกล้สิ้นเดือนยังเป็นปัจจัยเสริม แนะนำกลุ่มท่องเที่ยว (AOT ,CENTEL ,ERW ,MINT) ตัวเลขการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือน กุมภาพันธ์ (+19%YoY) กลุ่มค้าปลีก (CPALL ,COM7 ,HMPRO ,ROBINS ,SIS) รวมถึงกลุ่มที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายถูกซื้อคืน (AMATA ,BBL ,KBANK)

 

นอกจากนี้ นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีลุ้นยืนในแดนบวกได้ แม้จะเปิดติดลบบ้าง เล็งแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้น ทำให้น่าจะไปช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี รวมถึงใกล้ปิดงบฯไตรมาส 1/61 ก็อาจจะทำมีแรงหนุนจากการทำ Window Dressing ด้วย

อนึ่ง Windows dressing คือการดันราคาหุ้นปิดให้สูงขึ้น เพื่อทำให้ราคาหุ้นในพอร์ตมีมูลค่าสูงขึ้น และเมื่อมีการปิดไตรมาสจะนำตัวเลขมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้นมาบุ๊คบัญชี ส่งผลต่อเงินลงทุนมีมูลค่าสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม Windows dressing นั้น จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ แต่ส่วนใหญ่แล้วหากดัชนีมีการปรับตัวขึ้นสูงมากแล้วมักจะไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น

Back to top button