เปิดกรุ 12 หุ้นสยองปี 61 ทำเม่าเสียศูนย์! 3 เดือนราคาวูบหนัก 40%

เปิดกรุ 12 หุ้นสยองปี 2561 ทำแมงเม่าเสียศูนย์! แค่ 3 เดือนราคาวูบหนัก 40%


ภาวะดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาดัชนี SET ปรับตัวขึ้น 11.56% โดยเทียบจากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 1,753.71 จุด (29 ธ.ค. 60) มาอยู่ที่ระดับ 1,776.26 จุด (30 มี.ค.61) บวกไป 22.55 จุด หรือคิดเป็น 1.28% อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่ราคาหุ้นยังปรับตัวลดลงอย่างหนักจากภาวะตลาดที่ยังคงผันผวนอยู่ทั้งแดนบวกและแดนลบ โดยบจ.เหล่านี้ยังมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นหลังจากที่ทรุดตัวเกินมูลค่าพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องศึกษาธุรกิจและผลประกอบการก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ SET ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยคัดเลือกราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงตั้งแต่ระดับ 29% ไปจนถึงระดับเกิน 50% และเป็นบจ.ที่มีสภาพการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ มานำเสนอให้นักลงทุนได้เห็นภาพชัดเจน

ทั้งนี้ มีหุ้นเข้ามาติดในเกณฑ์ดังกล่าว 12 ตัว ประกอบด้วย TTCL ,MALEE ,ECL ,EPG ,ANAN ,BJCHI ,ILINK ,NWR ,THE ,THANI ,JMART และ HTECH ตามตารางประกอบ

 

โดยครั้งนี้จะนำเสนอข้อมูลของ 5 อันดับบจ. ที่ปรับตัวลดลงสูงสุดประกอบด้วย

อันดับที่ 1  บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 17.20 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 7.75บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 9.45 บาท หรือลดลง 54.94%

โดยราคาหุ้น TTCL ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเมียนมาได้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ (MW) ณ รัฐ Kayin ประเทศเมียนมา

อย่างไรก็ตาม บริษัทชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนการปฏิบัติและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามกฏหมายของประเทศเมียนมา และยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ เนื่องจากต้องรอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานและไฟฟ้าของรัฐบานเมียนมา ในการลงนาม Memorandum of Agreement (MOA) และ โครงการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อแผนการนาบริษัทย่อยของ TTCL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

 

อันดับที่ 2 บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 38.25 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 21.70 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 16.55 บาท หรือลดลง 43.27%

โดยราคาหุ้น MALEE ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาที่ 285.58 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 530.02 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานช่วงดังกล่าวปรับตัวลดลงเนื่องจากสัดส่วนการขายต่างประเทศลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิลดลง ขณะที่บริษัทมีค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนเพิ่มเติมในโรงงาน เครื่องจักร และสำนักงาน

ด้าน บล.ดีบีเอสฯ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 30.50 บาท/หุ้น โดยคาดว่ากำไรปี 60 เป็นปีที่ต่ำสุดและผ่านไปแล้ว กำไรหลักลดถึง 50% จากปีก่อน

ขณะที่ แนวโน้มปี 61-62 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ ทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ปรับลดประมาณการปีนี้และปีหน้าลงในอัตรา 15% และ 7% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนอัตรากำไรที่ลดลง แต่กลับมาฟื้นตัว 59% และ 31% เทียบจากปีก่อน เพิ่มคำแนะนำเป็น ซื้อ จากเดิมเต็มมูลค่า ราคาพื้นฐานใหม่ปรับลงเป็น 30.50 บาท แต่มีส่วนเพิ่ม 32% จากราคาปิด

 

อันดับที่ 3 บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 4.04 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 2.38 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 1.66 บาท หรือลดลง 41.09%

โดยราคาหุ้น ECL ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี โดยมีการเติบโต 414% มาที่ 128.72 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 25.03 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานประจำปี 60 กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น

 

อันดับที่ 4 บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 11.30 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 6.80 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 4.50 บาท หรือลดลง 38.82%

ทั้งนี้ ราคาหุ้น EPG ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในทิศทางที่ดี

โดย นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EPG เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจรายได้ปี 61/62 (เม.ย.61-มี.ค.62) จะทะลุ 10,000 ล้านบาท หลังคาดแนวโน้มรายได้ปี 60/61 (เม.ย.60-มี.ค.61) จะเติบโตแตะ 1 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งวางเป้าจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 28-30% และอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 2 digit

ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มอัตราการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากกลางเดือน ธ.ค.60 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้อำนาจซื้อของตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งหนี้ครัวเรือนมีอัตราลดลงช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้เติบโต ประกอบกับหลายสถาบันมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 61 จะเติบโตเฉลี่ย 4-4.5% จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

 

อันดับที่ 5 บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 5.90 บาท (ณ 30 ธ.ค.59) มาอยู่ที่ระดับ 3.86 บาท (29 ก.ย.60) ลบไป 2.04 บาท หรือลดลง 34.58%

โดยราคาหุ้น ANAN ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากความกังวลประเด็นของโครงการ Ashton อโศกที่ยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก กทม. เกี่ยวกับการใช้อาคาร ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 6.7 พันล้านบาท และมียอดขายแล้ว 98%

ทั้งนี้บริษัทจะต้องได้รับการได้รับอนุญาตจึงจะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าได้ ทั้งนี้ทาง กทม.จะต้องทำการสำรวจอาคาร และตัดสินว่าจะให้ไปอนุญาตหรือไม่ โดยกำหนดเวลาเดิมจะโอนให้ลูกค้า 26 มี.ค.61

ล่าสุด บริษัทแจ้งเลื่อนโอน Ashton อโศกออกไปเดือน มี.ค.62 หลังไม่ได้รับใบรับรองการก่อสร้างและเปิดใช้อาคาร ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักออกมาปรับลดประมาณการกำไรปี 61 ลง

 

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button