สปอยล์งบฯ Q1 กลุ่มแบงก์ก่อนประกาศ! โบรกฯแนะเพิ่มน้ำหนักลงทุน 4 แบงก์ใหญ่กำไรหนา
สปอยล์งบฯ Q1/61 กลุ่มแบงก์ก่อนประกาศ! โบรกฯแนะเพิ่มน้ำหนักลงทุน 4 แบงก์ใหญ่กำไรหนา
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาสที่ 1/61 ในช่วงตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.เป็นต้นมา
โดยที่ผ่านมาบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เป็นธนาคารแรกที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมา ซึ่งบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/61สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.61 เมื่อวันที่ 17 เม.ย.61 โดยมีกำไรสุทธิ 1.76 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.45% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.49 พันล้านบาท
โดยไตรมาส 1/61 ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ ประกอบกับการรับโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์กชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ไตรมาส 4/60
ขณะเดียวกัน NPLs ปรับตัวลดลง จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/61อยู่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.32
ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK จะประกาศในวันนี้ (19 เม.ย.61)
โดยก่อนหน้านี้ นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย คาดการณ์งบไตรมาสแรกของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง จะมีกำไรสุทธิ 37,951 ล้านบาท ลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 7.8% จากไตรมาสก่อนหน้านี้
ด้าน แบงก์กรุงเทพ หรือ BBL คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 8,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ,แบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 9,792 ล้านบาท ลดลง 17.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปีก่อนนี้กำไรพิเศษ และเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้
ขณะที่ แบงก์กรุงไทย หรือ KTB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 6,330 ล้านบาท ลดลง 25.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 31.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ยังคงมีการตั้งสำรองสูง ,แบงก์กรุงศรีอยุธยา หรือ BAY คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 6,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้
ด้าน บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 1,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 4.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ , แบงก์ทหารไทย หรือ TMB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ที่ 2,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ และธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 1,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ นายเผดิมภพ กล่าวว่า ผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมาจะไม่กระทบต่องบไตรมาสแรก แต่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาส 2 ถึงสิ้นปีนี้ โดย SCB จะได้รับผลกระทบ 3.1% ของรายได้ทั้งหมด BBL กระทบ 2.6%, KTB กระทบ 2.7% และ BAY กระทบ 1.4% อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำ ลงทุนในหุ้น BBL, KTB เนื่องจากราคาปัจจุบันยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน คาด KBANK จะกำไรไตรมาสแรก 9,502 ล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ การตั้งสำรองที่สูงขึ้นได้
ส่วน บล.ทิสโก้ ระบุว่า คาดผลประกอบการรวมของกลุ่มธนาคารที่ 4.98 หมื่นล้านบาท คงที่จากไตรมาส 1/2560 โดยคาดว่าธนาคารขนาดกลาง และเล็ก จะมีการเติบโตของ EPS ที่ดีกว่าธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ TCAP จากสินเชื่อรถยนต์ และ BAY ส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึง TMB จากค่าธรรมเนียมของ FWD ถึงแม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่จะโชว์สินเชื่อที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ผลประกอบการไตรมาส 1/2561 จะถูกกดดันจากการตั้งสำรอง IFRS9 และกระบวนการ Digital Transformation ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
“ผลประกอบการของธนาคารขนาดใหญ่จะถูกกดดันจาก IFRS9 โดยเฉพาะ KTB และกระบวนการ Digital Transformation ของ SCB รวมถึงสินเชื่อ SME ที่ฟื้นตัวได้จำกัดของ KBANK” บล.ทิสโก้ ระบุ
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) มองกรอบการลงทุนประจำสัปดาห์ (17-20 เมษายน 2561) ว่า SET Index จะมีโอกาสแกว่งตัวอยู่ในกรอบบริเวณแนวรับที่ระดับ 1,755 -1,760 จุด และแนวต้านที่ระดับ 1,780 จุด ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงมีกลยุทธ์แนะนำการลงทุน “แบ่งซื้อสะสม
โดย Selective Buy หุ้นที่คาดจะOutperform โดยให้น้ำหนักไปยังหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งได้อานิสงส์ราคาน้ำมันยังสูงเกิน 65 ดอลลาร์/บาร์เรล มองว่าที่จะเป็นตัวนำของกลุ่ม ได้แก่ PTT, PTTEP ขณะเดียวกันหุ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะยังฟื้นตัวต่อหลังปรับลงแรงก่อนหน้า โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปยังหุ้น KBANK, SCB, BBL, TMB