ส่องกลยุทธ์ลุย 3 หุ้นสื่อสารฯ ลุ้นกสทช.ชงบอร์ดประมูล1800MHz ก่อน15 ก.ย.
ส่องกลยุทธ์ลุย 3 หุ้นสื่อสารฯ ลุ้นกสทช. ชงบอร์ดประมูลคลื่น1800MHz ก่อน 15 ก.ย.นี้!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมาหลังจากที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ทำให้ตลาดวิตกกังวลว่าการประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz จะล่าช้า
อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังมีทางออก หลังจากที่ กสทช.ชุดเดิมจะนัดประชุมกันในวันที่ 25 เม.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อพิจารณาเดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz ต่อ เป็นบวกต่อ Sentiment การลงทุนในกลุ่ม ICT
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กระบวนการในการทำงานของ กสทช.ชุดรักษาการ ขณะนี้ยังเดินหน้าต่อในหลายๆ เรื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมากไม่เลือกรายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการ กสทช.ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา เนื่องจากที่ประชุมได้พิจารณารายงานของกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. แล้วพบว่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติรวม 8 คน จาก 14 คน ส่วนกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ สนช. ทาง กสทช.ไม่สามารถไปก้าวล่วงอำนาจได้
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.จะมีการนำเสนอหลายๆ เรื่องที่สำคัญเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในวันที่ 25 เม.ย. 2561 ได้แก่ การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz สำนักงาน กสทช.เสนอให้ยึดตามเดิมทั้งหมด คือ แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz รวม 45 MHz และกำหนดเงื่อนไข N-1
รวมทั้งตัดสิทธิ์บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ในการเข้าร่วมประมูล เพื่อป้องกันการฟ้องร้อง ส่วนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz เสนอให้ยังไม่มีการประมูลในขณะนี้ เพื่อรอผลการศึกษาผลกระทบที่มีต่อการทำงานของรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ หลังได้ให้กระทรวงคมนาคมไป 5 MHz เพื่อใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูง
โดย นายฐากร กล่าวยืนยันว่า การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะเกิดขึ้นก่อนสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. 2561 แน่นอน แต่คาดว่าการแข่งขันจะไม่ดุเดือดมากนัก เนื่องจากราคาเริ่มต้นประมูลสูงกว่า 37,000 ล้านบาท จากการประมูลเมื่อปี 2558 ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่กว่า 16,000 ล้านบาท โดยคงเป็นการเคาะประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าในการประกาศหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz และ 470 MHz และมีการเยียวยาเงินให้กับหน่วยงานที่คืนคลื่นความถี่กลับมา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุค 5G ในปี 2563 ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเตรียมการทางเทคโนโลยีล่วงหน้าเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
“การประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการเบรกไว้ในหลายเรื่องเพื่อให้เกียรติบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ที่ สนช.จะลงมติเลือกวันที่ 19 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา แต่เมื่อยังไม่ได้บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ทางบอร์ด กสทช.ชุดรักษาการ ก็ต้องเดินหน้าเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก” นายฐากร กล่าว
ด้าน นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1,800 เมกะเฮิตร์ซ (MHz) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 25 เม.ย.นี้จะพิจารณาจัดการประมูลว่า หากมีการจัดประมูลมีความเป็นไปได้ทั้งโอกาสที่จะเข้าประมูลครบทั้งสามราย หรือไม่ครบทั้งสามราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปัจจัยหลายประการ
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเชื่อว่าผู้ประกอบการรายที่คลื่นกำลังจะหมดสัมปทาน คือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) น่าจะเข้าร่วมประมูล ส่วนอีกสองราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ทรู คอรปอเรชั่น (TRUE) ที่มีคลื่นอยู่ในมือมากพอที่จะให้บริการ อาจจะไม่เข้าร่วมประมูล
นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญ คือ ผลตอบรับคำเรียกร้องที่ขอให้รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 4 ให้กับผู้ชนะประมูลคลื่นทั้ง 2 รายในครั้งก่อนคือ TRUE และ ADVANC ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะเรื่องต้นทุนของธุรกิจอย่างเดียว การขยายเวลาหรือไม่ขยายเวลาย่อมมีผลต่อต้นทุนทางธุรกิจ ตรงนี้เอกชนจะตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไร ถ้าพิจารณาเฉพาะคลื่นย่าน 1800 MHz ที่ กสทช.แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ความน่าจะเป็น คือ การประมูลอาจจบที่คลื่นไม่ได้ถูกประมูลออกไปทั้ง 3 ใบอนุญาต อาจมีเพียง 1 หรือมากสุด 2 ใบอนุญาตที่มีผู้สนใจเข้าประมูล หาก TRUE และ ADVANC ไม่เข้าร่วมประมูล โดยปล่อยให้ DTAC ประมูลไป เพราะเมื่อประมูลไปแล้วก็ถือว่ามีต้นทุนที่แบกรับพอๆกัน คลื่นประมูลไม่ออกจะถูกพักไว้ไม่นำออกประมูลทันที ถึงตอนนั้นอาจจะมีการเรียกร้องให้ทบทวนราคาตั้งต้นใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงก่อนจะเปิดประมูลอีกครั้งในระยะต่อไป
ด้าน นักวิเคราะ์มองว่าหากมีการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ได้ตามกำหนดเดิมจะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มสื่อสาร เนื่องจากการประมูลจะช่วยให้ DTAC ได้คลื่นกลับไปทดแทนคลื่นสัมปทานเดิมที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทาน ก.ย. 61 นี้ รวมถึง ADVANC ที่ต้องการคลื่นเพิ่มเติม เพื่อรักษาประสิทธิภาพการให้บริการในระยะยาว จึงแนะนำซื้อหุ้นในกลุ่มสื่อสารทั้ง DTAC และ ADVANC
โดย บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กลุ่มสื่อสาร – ยังมีทางออก ลุ้น 25 เม.ย. กสทช. ชุดเดิมพิจารณาเดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 900 และ 1800MHz : จากประเด็นที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ทำให้ตลาดวิตกกังวลว่าการประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz จะล่าช้า อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังมีทางออก หลังจากที่ กสทช.ชุดเดิมจะนัดประชุมกันในวันที่ 25 เม.ย.เพื่อพิจารณาเดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz ต่อ เป็นบวกต่อ Sentiment การลงทุนในกลุ่ม ICT โดยเฉพาะ DTAC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงมากสุดหากการเปิดประมูลคลื่นใหม่ล่าช้าเนื่องจากสัญญาสัมปทานคลื่น 850MHz และ 1800 MHz จะหมดอายุในช่วงเดือน ก.ย.ปีนี้
ขณะเดียวกัน บล.บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า ภายหลัง สนช. ลงมติเริ่มกระบวนการคัดเลือก กสทช. ชุดใหม่ ปลายสัปดาห์ก่อน จนสร้างความกังวลว่าส่งผลให้การประมูลคลื่นสัมปทานของ DTAC รวมมติในเรื่องสำคัญๆ ที่ กสทช. ต้องให้ความเห็นชอบอาจล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กสทช. ชุดรักษาการ เปิดเผยว่าจะยังเดินหน้าต่อ โดยในวันที่ 25 เม.ย. จะพิจารณาลงมติในหลายเรื่อง ซึ่งครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์และกำหนดการประมูลคลื่นสัมปทาน DTAC ด้วย
สำหรับทิศทางที่ กสทช. ชุดรักษาการจะยังเดินหน้าประมูลคลื่นสัมปทาน DTAC ต่อ เชื่อว่าจะจะกลับมาสร้างกระแสเชิงบวก โดยเฉพาะ DTAC ที่ต้องการคลื่นจากการประมูลในรอบนี้มากสุด เนื่องจากการประมูลจะช่วยให้ DTAC ได้คลื่นกลับไปทดแทนคลื่นสัมปทานเดิมที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทาน ก.ย. 61 นี้ รวมถึง ADVANC ที่ต้องการคลื่นเพิ่มเติม เพื่อรักษาประสิทธิภาพการให้บริการในระยะยาว เนื่องจากมีคลื่นต่อฐานลูกค้าน้อยสุด ภาพรวมจึงยังคงคำแนะนำ ซื้อ ทั้ง ADVANC(FV@B230) และ DTAC(FV@B55) ขณะที่ยังให้ Switch ออกจาก TRUE([email protected]) ที่มีโอกาสปรับตัวลดลง หลังปรับตัวตอบรับประเด็นบวกที่ประสิทธิภาพคู่แข่งอาจด้อยลง หากการประมูลคลื่นล่าช้าไปแล้ว ขณะที่ผลประกอบการยังคาดถูกกดดันจากต้นทุนดำเนินงานที่สูงกว่าคู่แข่ง และยังมีแนวโน้มขาดทุน