SSP แนวโน้มผลงาน Q2 โตแจ่ม รับรู้รายได้ขายไฟฟ้าเต็มพิกัด 74MW โบรกฯเคาะเป้า 10.50 บ.
SSP แนวโน้มผลงาน Q2/61 โตแจ่ม รับรู้รายได้ขายไฟฟ้าเต็มพิกัด 74MW หลังเริ่ม COD โซลาร์ฟาร์ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 21MW ช่วงปลาย Q1/61 ฟากโบรกฯเชียร์ "ซื้อ" เคาะเป้า 10.50 บาท/หุ้น
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP หลังรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน 102 ล้านบาท แม้จะประสบกับภาวะฝนตกหนักในประเทศไทย และหิมะตกหนักในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลลบต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
แต่อย่างไรก็ดี บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากโครงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hidaka ในญี่ปุ่น ขนาด 21เมกะวัตต์ (MW) ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 61 หรือเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับกำลังการผลิต ณ สิ้นปี 2560 ทำให้ช่วยหนุนผลประกอบการไตรมาส 1/61 ให้สามารถเติบโตกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยราคาหุ้น SSP ปิดตลาดวานนี้ (21 พ.ค.61) ที่ระดับ 8.25 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ 0.60% สูงสุดที่ระดับ 8.45 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 8.20 บาท มูลค่าการซื้อขาย 74.60 ล้านบาท
ด้าน บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น SSP ในราคาเหมาะสมที่ 10.50 บาท โดยคาดการณ์กำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 2/61 จะเติบโตโดดเด่นจากปัจจัยหนุนด้านฤดูกาลและการรับรู้รายได้จากโครงการฮิดากะแบบเต็มไตรมาส ประกอบกับการปรับโครงสร้างทางการเงินจะช่วยให้งบกำไร/ขาดทุนของบริษัทสะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงออกมาได้
โดยฝ่ายวิจัยมีมุมมองในเชิงบวกจากโครงการโรงไฟฟ้าโซเอ็นที่ญี่ปุ่นและโรงไฟฟ้า Khunshight Kundi ที่มองโกเลียมีโอกาส COD เร็วกว่าคาดที่3Q61 และ 4Q61 ตามลำดับ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดหนึ่งไตรมาส อีกทั้งได้มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน ทำให้ได้ต้นทุนการเงินที่ต่ำลงทั้งในไทยและญี่ปุ่น โดยบริษัทยังมีแผนการลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่อง อาทิ มองโกเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม
ด้านนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SSP เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจาณาการลงทุนโครงการโซลาร์ใหม่ๆทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 100 เมกะวัตต์/โครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงปลายไตรมาส 2/61 หรือต้นไตรมาส 3/61
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/61 บริษัทคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องในไตรมาสนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เต็มที่ทั้ง 74 เมกะวัตต์ หลังจากที่มีโครงการโซลาร์ฟาร์ม Hidaka กำลังการผลิต 21 เมกะวัตต์ COD เพิ่มในช่วงปลายไตรมาส 1/61 ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่โครงการ Zouen กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ มีโอกาส COD เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมในช่วงไตรมาส 4/61 มาอยู่ในช่วงไตรมาส 3/61 หลังจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวคืบหน้าไปแล้ว 90% ซึ่งจะทำให้ไตรมาส 3/61 มีโครงการที่จะ COD เพิ่มเข้ามาอีก 1 โครงการ จากแผนเดิมจะมีการ COD เพียงโครงการเดียว คือ โครงการโซลาร์รูฟท๊อป DoHome กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตได้ 10% จากปีก่อน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นการเติบโตของรายได้ที่โดดเด่นมาขึ้น เนื่องจากจะมีการ COD โครงการโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อปรวมกันเพิ่มมาอีก 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 16 เมกาวัตต์ และจะทำให้สิ้นปีนี้บริษัทมีโครงการที่ COD แล้วกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกำลังการผลิตที่ COD แล้วอยู่ที่ 74 เมกาวัตต์ พร้อมกับบริษัทวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตของโซลาร์รูฟท๊อปเป็น 10 เมกะวัตต์ในปีนี้
ส่วนในปี 62 บริษัทมีจะมีกำลังการผลิตที่ COD เพิ่มเป็น 107 เมกะวัตต์ ในช่วงไตรมาส 1/62 จากการเริ่ม COD ของโครงการโซลาร์ฟาร์ม Khonshogh Kundi ในประเทศมองโกเลีย กำลังการผลิต 16.4 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันบริษัทมีในอนุญาตขายไฟฟ้ารวมทั้งหมด 190 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ครบทั้งหมดภายในปี 63 หรือปี 64