IRPC ลุ้นผลงานไตรมาส 2 โตแกร่งรับกำไรสต๊อกน้ำมันหนุน โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” เคาะเป้า 9.60 บ.
IRPC ลุ้นผลงานไตรมาส 2 โตแกร่งรับกำไรสต๊อกน้ำมันหนุน โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" เคาะเป้า 9.60 บ.
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์หุ้นของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC หลังนักวิเคราะห์มีการประเมินว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/61 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รับแรงหนุนจากกำไรสต๊อกน้ำมัน ขณะที่ผู้บริหารออกมาย้ำว่ากำไรปี 2561 จะทำจุดสูงสุดใหม่ เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อมโรงงานเหมือนในปีก่อน
โดยราคาหุ้น IRPC ปิดตลาดวานนี้ (3 ก.ค.61) ที่ระดับ 5.75 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 0.88% สูงสุดที่ระดับ 5.80 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 916.20 ล้านบาท
ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันกำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น IRPC ให้ราคาเป้าหมาย 9.60 บาท โดยคาดกำไรสุทธิของ IRPC จะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/2561 หลังจากมาร์จิ้นที่ดีขึ้นและปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ PPC และ UHV
ทั้งนี้ จากการสำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้น IRPC ล่าสุดในวานนี้ (5 มิ.ย. 2561) ได้ทำราคาต่ำสุดของวันที่ 6.25 บาท ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 7 เดือน และทำราคาปิดตลาดที่ 6.35 บาท ปรับลดลง 0.15 บาท หรือคิดเป็นลดลง 2.31% เมื่อเทียบราคาปิดก่อนหน้า โดยมีปัจจัยกดดันมาจากกรณีค่าการกลั่นสิงคโปร์ล่าสุดได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องจากภาพรวมตลาดอยู่ในระหว่างการจับตารอผลประชุมของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกในช่วงวันที่ 22 มิ.ย.นี้ โดยจะมีมาตรการปรับเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่ จึงกลายเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสล่าสุดปรับตัวลงมาอยู่ที่ 64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์อยู่ในระดับ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับ 74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ด้านนายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IRPC เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2/61 จะดีกว่าไตรมาส 1/61 แม้ว่ากำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในไตรมาส 2/61 จะใกล้เคียงระดับ 14.08 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาสแรก แต่ในไตรมาส 2 จะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันกว่า 11 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากราคาน้ำมันดิบปิดสิ้นไตรมาส 2 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเดือน มิ.ย.นั้น ปรับขึ้นมาที่ราว 74.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับปิดสิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 62.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
“ไตรมาส 2 Market GIM จะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก แต่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นมาเยอะ จะมี Stock gain เข้ามาช่วย ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2 อย่างไรก็ดีกว่าไตรมาส 1 Market GIM ใกล้เคียงกับเพราะมาร์จิ้นโรงกลั่นอ่อนลง แต่มาร์จิ้นปิโตรเคมียังดีอยู่” นายสุกฤตย์ กล่าว
อนึ่ง ไตรมาส 1/61 IRPC มีกำไรสุทธิ 2.75 พันล้านบาท และมีรายได้จากการขาย 6.6 หมื่นล้านบาท โดยมี Market GIM ที่ระดับ 14.08 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มทางบัญชี (Accounting GIM) ซึ่งรวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 14.42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
โดยทั้งปี 60 มีกำไรสุทธิ 1.14 หมื่นล้านบาท และรายได้จากการขาย 2.14 แสนล้านบาท โดยมี Market GIM ที่ 14.48 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ Accounting GIM ระดับ 15.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ขณะเดียวกัน นายสุกฤตย์ กล่าวย้ำว่า บริษัทมั่นใจว่ากำไรสุทธิปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้วและทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปีนี้ไม่มีปิดซ่อมบำรุงโรงงานเหมือนในปีก่อน ทำให้สามารถเดินเครื่องกลั่นน้ำมันได้เกิน 2.1 แสนบาร์เรล/วันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 1.8 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว ขณะที่กำลังการกลั่นเต็มที่ของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 2.3 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน หลังจากได้ขยายกำลังการกลั่นช่วงปิดซ่อมบำรุงใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังได้รับผลบวกเต็มที่จากโครงการที่แล้วเสร็จปลายปีที่แล้ว ทั้งการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตัน/ปี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ ขนาด 240 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการติดตั้งหอกลั่น Max Gasoline Mode เพื่อปรับปรุงน้ำมันเบนซินที่ยังมีส่วนประกอบที่หลากหลาย (gasoline components) ที่เดิมจะต้องส่งออกนั้น จะนำบางส่วนมาแยกสารบางประเภทออกเพื่อให้สามารถนำน้ำมันเบนซินกลับมาขายในประเทศเพิ่มขึ้น รองรับการใช้เบนซินที่เติบโต ตลอดจนโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านที่แล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อปลายปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันดิบที่สูงขึ้นราว 1.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยน้ำมันดิบที่สูงขึ้นก็ทำให้ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงสูงขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะทำให้ Market GIM ทั้งปี 61 ใกล้เคียงถึงอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากมาร์จิ้นโรงกลั่นลดลงส่วนหนึ่งจากต้นทุนที่สูงขึ้น
ส่วนความคืบหน้าการทำดีลซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) นั้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในการเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศได้อย่างน้อย 1 ดีล ในช่วงไตรมาส 3/61 จากปัจจุบันที่เจรจาอยู่ 2-3 ดีล โดยบริษัทมุ่งเน้นการทำ M&A ในประเทศเป็นหลักก่อนถึงจะมองโอกาสการขยายทำดีลออกไปต่างประเทศ
สำหรับเม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนในอนาคตนั้น ปัจจุบันมีศักยภาพลงทุนในช่วง 5 ปีได้ราว 1 แสนล้านบาท หรือกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมาจากเงินสดที่จะมาจากการดำเนินงานราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี และศักยภาพในการกู้เงินอีกราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี เนื่องจากมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ระดับ 0.56 เท่าเมื่อสิ้นไตรมาส 1/61 โดยในส่วนนี้ราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใช้ลงทุนในโครงการ MARS เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ ส่วนอีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในการทำดีล M&A ซึ่งอยู่ภายใต้โปรแกรม GALAXY ส่วนที่เหลืออีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำรองไว้ลงทุนในอนาคต
ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนตามโครงการ MARS เพื่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์นั้น ล่าสุดมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขนาดการผลิตจากเดิม จะผลิตพาราไซลีน 1 ล้านตัน/ปี เป็น 1.1-1.3 ล้านตัน/ปี และผลิตเบนซีน เพิ่มเป็น 3-5 แสนตัน/ปี จากเดิมที่ 3 แสนตัน/ปี
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ส่งผลให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ให้กรอบไว้ในช่วง 1-1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการเพิ่มขนาดการผลิตครั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการใช้ในภูมิภาคที่เติบโตมาก คาดว่าการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงการ (Front End Engineering Design Process :FEED) จะแล้วเสร็จสิ้นปี 61 ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการเพื่อเปิดประมูลต่อไป โดยคาดว่าจะหาผู้รับเหมาได้ในกลางปี 62 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง แล้วเสร็จในปี 65
ขณะที่โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานโอเลฟินส์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 50% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้ หลังเบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3/61 ซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 65 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงงานครั้งต่อไปในช่วงต้นปี 65
สำหรับการร่วมลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) นั้น ในอ.บ้านค่าย จ.ระยองนั้น จะมี WHA เป็นผู้พัฒนาพื้นที่ที่บริษัทเป็นคนขายที่ดินราว 2,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานทั้งในส่วนการดูแลชุมชน การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การขอใบอนุญาตใหม่ และการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาราว 2-3 ปีกว่าจะเริ่มเปิดขายพื้นที่ในนิคมฯดังกล่าวได้
ทั้งนี้ พื้นที่ในเขตประกอบการของ IRPC ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานในปัจจุบันที่อ.เชิงเนิน จ.ระยองนั้น ยังมีพื้นที่เหลือราว 1,000 ไร่ โดยในส่วนนี้ราว 200 ไร่สำรองไว้สำหรับดำเนินโครงการ MARS ส่วนที่เหลืออีก 700-800 ไร่จะสำรองไว้รองรับการลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ในอนาคต