คัด 18 หุ้นเด้งสวนตลาด 7 เดือนกวาดรีเทิร์นเกิน 20%
คัด 18 หุ้นเด้งสวนตลาด 7 เดือนกวาดรีเทิร์นเกิน 20%
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา โดยเทียบราคาหุ้นตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.60-ก.ค.61 โดยช่วงดังกล่าวมีหุ้นปรับตัวขึ้นสวนทางดัชนีตลาดที่ปรับตัวลดลง โดย SET ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 9.98% จากยืนที่ระดับ 1,753.71 จุด (29 ธ.ค. 60) ลดลง 51.92 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,701.79 จุด (30 เม.ย.61)
โดยพบว่า มีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน SET และมีสภาพการซื้อขายสม่ำเสมอทั้งหมด 18 บจ. คือปรับตัวขึ้นเกิน 20% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นชนะตลาด หลังจากมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนราคาหุ้น
อย่างไรก็ตามการนำเสนอข้อมูลครั้งนี้จะเลือกนำเสนอราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น 5 อันดับแรก โดยหุ้นที่คัดเลือกมาปรับตัวขึ้นแรงสวนภาวะตลาดฯและให้ผลตอบแทนเกิน 20% ตามตารางประกอบดังนี้
อันดับ 1 บริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPPG ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 67.12% โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.73 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.22 บาท (31 ก.ค.61) โดยราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นจากกระแสข่าวการเข้าซื้อแบรนด์ Dean & DeLuca ผู้ให้บริการด้านอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม ซึ่งภายหลังบริษัทได้ประกาศซื้อสิทธิการให้บริการแบรนด์ดังกล่าวจากบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE
ด้าน นายศุภจักร ไตรรัตโนภาส ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) (NPPG) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าปีนี้ผลประกอบการจะกลับมามีกำไรได้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นไปการเติบโตของรายได้ที่บริษัทเตรียมพิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ในปีนี้ขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้ 1,300-1,400 ล้านบาท หลังจากบริษัทขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในไทยแบบเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการให้บริการที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิด”Next NPPG Transformation”
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าภายในระยะเวลา 3-4 ปีจะมีสาขาร้านอาหารและเครื่องดื่มไม่ต่ำกว่า 2,000 แห่ง ภายใต้แบรนด์อาหาร 8-10 แบรนด์ โดยบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอีก 1-2 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ จากปัจจุบันบริษัทได้มีแบรนด์อาหารอยู่ในมือแล้ว 5 แบรนด์ คือ A&W ,Miyabi Grill ,Mr. Jones ,แหลมเจริญซีฟู้ด
ขณะที่ NPPG ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการให้บริการของแบรนด์ Dean & DeLuca ผู้ให้บริการด้านอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม เป็นเวลา 10 ปี โดยมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นภายในปี 62 ราว 10 สาขา ด้วยงบลงทุนราว 5-8 ล้านบาทต่อสาขา จากนั้นจะทยอยเปิดสาขาเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ครบ 100 สาขาภายใน 5 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทตรียมเข้าบริหารและรับรู้รายได้ทันทีในสาขาเดิมทั้งหมด 12 สาขา ซึ่งทำรายได้ในปี 60 ราว 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารแบบครบวงจร ในประเทศจีน โดยล่าสุด NPPG ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ ” Kinghill Food ” เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีน โดยทาง NPPG เป็นผู้จัดหาแบรนด์ร้านอาหารไทย อาหารทะเล และอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระดับชั้นนำไปเปิดให้บริการในประเทศจีน
อันดับ 2 บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 62.32% โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.50 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 168 บาท (31 ก.ค.61)
ด้าน บล.กสิกรไทย แนะนำ “ซื้อ” AEONTS ด้วยราคาเป้าหมายกลางปี 2561 ที่สูงขึ้นเป็น 208 บาท คิดเป็น PBV 2.62 เท่า (+2SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี) และจากการที่ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2561-63 ขึ้น 5%/3%/3% หลักๆ เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพด้านต้นทุนที่ปรับดีขึ้นมากกว่าคาดและการตั้งสำรองที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2561
ทั้งนี้ AEONTS ได้รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/2561 ที่แข็งแกร่งที่ 928 ลบ. หรือเติบโตขึ้น 50% จากปีก่อน และทรงตัว จากไตรมาสก่อน ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ของเราและ consensus ในระดับ 16% และ 15% ตามลำดับ โดยมีสาเหตุมาจาก 1) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่สูงกว่าคาด (หลักๆ มาจากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงกว่าคาดและส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อ) และ 2) ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ที่ต่ำกว่าคาด
อันดับ 3 บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 54.57% โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 18.60 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 28.75 บาท (31 ก.ค.61)
ด้าน บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ “ซื้อ” หุ้นบมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ให้ราคาเป้าหมาย 34 บาท เก็งกำไรจากกระแสข่าวลดการตั้งสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หลังจากที่ KTC ตั้งสำรองเผื่อไว้สูงถึง 6 เท่ามากสุดของอุตสาหกรรม ซึ่งผลจากการทยอยลดการตั้งสำรองดังกล่าวจะทำให้ KTC มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
โดยหนังสือพิมพ์รายงานว่า ผู้บริหารของ KTC ได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ไว้กว่า 8% ของพอร์ตสินเชื่อ 7 หมื่นล้านบาท มากกว่าสถาบันการเงินทุกแห่งในระบบ (ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 140-145%) ซึ่งตามเกณฑ์ของ IFRS9 กำหนดขั้นต่ำแค่ 3% ของพอร์ตสินเชื่อเท่านั้น หรือเท่ากับว่า KTC สำรองมากกว่าเกณฑ์ถึง 5 เท่าตัว โดยปัจจุบัน KTC มีอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับ 600%
อันดับ 4 บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 51.04% โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.96 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.45 บาท (31 ก.ค.61)
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ “Fully Valued ” RML ราคาเป้าหมาย 0.94 บาท/หุ้น โดยคาดว่าจะเป็นขาดทุนไปอีก 2 ไตรมาส เพราะ The Loft อโศก เริ่มโอนไตรมาส 4/2561
โดยประมาณการกำไรตลอดปีนี้เป็น 29 ล้านบาท ลดลง 85% จากปีก่อน ส่วนปี 62 ฟื้นตัวเป็น 147 ล้านบาท แต่กำไรปี 62 น้อยเทียบกับระดับปกติ มีค่าใช้จ่ายสูงช่วงการลงทุนหลายๆธุรกิจ กว่ากำไรจะดีอีกนานเป็นปี 64
ทั้งนี้ บริษัทคงคำแนะนำเชิงลบ เต็มมูลค่า ข่าวด้านบวกคือ เปิดขายโครงการใหม่ทั้งร่วมทุนและพัฒนาเอง รุกธุรกิจอาหารยังต่างประเทศ โรงแรม สำนักงาน และธุรกิจใหม่ Digital Platform แต่ P/E ปีนี้และปีหน้าสูงเป็น 129/26 เท่า
อันดับ 5 บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLAND ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 41.18% โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.87 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 2.64 บาท (31 ก.ค.61)
โดย ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลังจากบริษัทประกาศเข้าซื้อหุ้นบริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH จาก บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK จำนวน 27,998,051 หุ้น หรือ 29.86%