เปิด 5 รายชื่อหุ้น mai เม่าคิดหนัก! 7 เดือนขาดทุนยับเกิน 50%
เปิด 5 รายชื่อหุ้น mai เม่าคิดหนัก! 7 เดือนขาดทุนยับเกิน 50% นำโดย DNA,QTC,COMAN,MPG,AMA
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)กลุ่ม mai ในรอบ 7 เดือน 2561 โดยเทียบราคาหุ้นปิด ณ วันที่ 29 ธ.ค.60-31ก.ค.61 โดยทิศทางราคาหุ้นในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมานับว่ามีแรงกดดันหลายด้าน อาทิ ประเด็นกลุ่มธนาคารมีนโยบายยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม
อีกทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนกดดันให้ดัชนี SET หลุดแนวรับสำคัญทั้ง 1800 จุด และ 1700 จุด และ 1600 จุด
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงเดือนก.ค.61 ดัชนีจะเริ่มฟื้นตัวและขึ้นมายืนเหนือระดับ 1700 จุดได้อีกครั้ง แต่ภาพรวมตลาดช่วงนี้ยังต้องติดตามการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/61 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดอย่างมีนัยยะยังมองว่าดัชนีมีโอกาสถูก Sell on Fact ระยะสั้น เนื่องจากภาวะตลาดปรับตัวขึ้นแรงในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกรอบการลบของดัชนีคาดว่าถูกจำกัดเช่นกันจากกระแสเงินทุนที่ยังอยู่ในทิศทางไหลเข้า
ส่วนภาพรวมดัชนี mai ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมายังติดลบ โดยดัชนีปรับตัวลดลง 19.02% โดยเทียบจากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 540.37 จุด (29 ธ.ค. 60) 102.78 จุด มาอยู่ที่ระดับ 437.59 จุด (31 ก.ค.61) โดยกลุ่มหุ้น mai ที่ปรับตัวลงแรงตามทิศทางตลาดครั้งนี้ได้คัดเลือกมานำเสนอ 5 ตัว โดยหุ้นดังกล่าวราคาร่วงหนักเกิน 50% อาทิ DNA,QTC,COMAN,MPG,AMA ดังนี้
อันดับ 1 บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 57.14% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 0.91 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.39 บาท (31ก.ค.61) คาดนักลงทุนเทขายหุ้น เนื่องจากพื้นฐานบริษัทไม่โดยบริษัทมีผลขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 โดยผลการดำเนินงานปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 248.78 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 348.72 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 พลิกมีกำไร 23.88 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 45.64 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ไตรมาส 2/61 เพิ่มขึ้นเป็น 371.73 ล้านบาท จากปีก่อน 197.33 ล้านบาท คาดจะทำให้ราคาหุ้นกระเตื้องขึ้นได้อีกครั้ง
อันดับ 2 บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 54.20% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 11.90 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 5.45 บาท (31ก.ค.61) นักลงทุนทยอยขายหุ้นต่อเนื่องส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานบริษัทที่ไม่สดใสเห็นได้จากผลขาดทุนตั้งแต่ปี 2559 จนถึงไตรมาส 1/61 ขาดทุนเพิ่ม 130% มาที่ 41.82 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 18.15 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทยังไม่มีแผนธุรกิจที่โดดเด่นจึงทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 ขาดทุน 13.3 ล้านบาท ลดลง 43% จากปีก่อนขาดทุน 23.01 ล้านบาท
อันดับ 3บริษัท โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ COMAN ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 54.17% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 7.20 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 3.30 บาท (31ก.ค.61) คาดนักลงทุนเทขายหลังผลการดำเนินงานออกมาไม่สดใส
โดยเฉพาะในไตรมาส 1/61 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.61 มีกำไรสุทธิ 3.38 ล้านบาท หรือลดลง 40% จากปีก่อนมีกำไร 5.62 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนขายและบริการ ต้นทุนทางการเงิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น
อย่างไรตามผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 มีกำไร 6.66 ล้านบาท เติบโต 245% จากปีก่อนมีกำไร 1.93 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายและให้บริการไตรมาส 2/61 เพิ่มขึ้นเป็น 40.15 ล้านบาท จากปีก่อน 21.14 ล้านบาท
ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ราคาหุ้นระยะหลังที่ถูกกดดันเป็นเรื่องนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน เพราะในช่วง 1H18 ที่ผ่านมา กลุ่ม COMAN ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างองค์กรที่ดำเนินมาถูกทาง แต่น่าจะเป็นเรื่องความกังวลที่ผู้ถือหุ้นของ MSL ซึ่งปัจจุบันยังถือหุ้น COMAN อยู่ 29.25% จะขายหุ้นออกมาเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้น MSL คืนจาก COMAN ซึ่งถ้าอิงจากมุมมองของผู้บริหาร COMAN ที่ได้ให้ไว้เมื่อ Opp. Day งวดไตรมาส1/61 เชื่อว่าได้เตรียมทางออกเรื่องนี้ไว้แล้ว
โดยน่าจะออกมาในรูปแบบของการรับซื้อหุ้นคืนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าว ภายใต้เงื่อนไขที่ COMAN ต้องได้รับเงินจากการขายหุ้น MSL ส่วนที่เหลืออีก 114 ล้านบาท (ก่อนหน้านี้ได้มากแล้ว 15 ล้านบาท) โดยถ้าอิงระยะเวลาการชำระเงินจะไม่เกิน ก.ย. 18 หรือถ้ามีการยืดเวลาก็จะไม่นานไปกว่า พ.ย. 18 ผลกระทบของราคาหุ้นจึงจำกัดและเชื่อว่าจะไม่ยืดเยื้อ จึงคงคำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายประเมินด้วยวิธี DCF อิง WACC 10% ได้เท่ากับ 7 บาท
อันดับ 4 บริษัท เอ็มพีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MPG ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 52.27% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 0.44 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.210 บาท (31ก.ค.61) คาดนักลงทุนเทขายหุ้น เนื่องจากพื้นฐานบริษัทไม่สดใส โดยบริษัทมีผลขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นรายนี้ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดไตรมาส 2/61 ขาดทุน 18.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อนขาดทุน 14.89 ล้านบาท
อันดับ 5 บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 51.24% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 12.92 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 6.30 บาท (31ก.ค.61) คาดนักลงทุนเทขายเนื่องจากผลประกอบการบริษัทออกมาไม่สดใสโดยเฉพาะไตรมาส 1/60 กำไรหดตัวถึง 95% เนื่องจากรับผลราคาน้ำมันดิบพุ่งและเงินบาทแข็งรวมทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่ม ล่าสุดผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 มีกำไร 24.19 ล้านบาท ลดลง 34% จากปีก่อน 36.84 ล้านบาท
ด้านนายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 30% จากปีก่อน โดยยังคงเดินหน้าขยายกองเรือบรรทุกน้ำมัน และสารเคมี และรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเพิ่มเติมเพื่อรองรับตลาดปาล์มน้ำมันที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะขยายกองเรือเพิ่มขึ้นอีก 2 ลำ โดยแบ่งเป็นครึ่งปีแรกจำนวน 1 ลำ และครึ่งปีหลังจำนวน 1 ลำ น้ำหนักบรรทุกลำละ 13,000 เดทเวทตัน ด้วยงบลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท ส่งผลให้กองเรือบรรทุกน้ำมันของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 10 ลำเป็น 12 ลำ และมีน้ำหนักบรรทุกรวม เพิ่มขึ้นจาก 82,961 เดทเวทตัน เป็น 108,961 เดทเวทตัน
ขณะที่บริษัทมีแผนที่จะขยายกองรถบรรทุกขนส่งน้ำมันอีก 30 คัน แบ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 จำนวน 10 คัน และไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จำนวน 20 คัน ส่งผลให้กองรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 180 คัน ปริมาณขนส่งรวมเพิ่มเป็น 8.1 ล้านลิตรฃ
ส่วนแผนในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นการเข้าซื้อกิจการที่มีความเหมาะสมกับการลงทุน และเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ หรือกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักเพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน