เปิด 34 รายชื่อหุ้น SET ผลงาน Q2/61 พลิกขาดทุนอ่วม!
เปิด 34 รายชื่อหุ้น SET ผลงาน Q2/61 พลิกขาดทุนอ่วม นำโดย EGCO, GGC, GULF, KTIS และ KWG
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูล และทำการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 โดยครั้งนี้อาศัยข้อมูลมาจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ โดยนายสุเชษฐ์ สุขแท้ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานค้าบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์
สำหรับครั้งนี้จะเลือกนำเสนอข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ผลประกอบการพลิกขาดทุนในกลุ่ม SET ซึ่งมีทั้งหมด 34 ตัว อาทิ EGCO, GGC, GULF, KTIS, KWG, KKC, PDI, ALT, ESTAR, TIPCO, SQ, CNT, TRC, RCL, TIC, TTCL, ICHI, CRANE, EE, BEC, SAMCO, TEAM, UP, MALEE, FNS, J, CWT, AJ, OGC, TVI, MFEC, GENCO, NWR และ PPP
อย่างไรก็ตามการนำเสนอข้อมูลประกอบการลงทุนอาจได้ไม่ครบทั้งหมดดังนั้นครั้งนี้จะขอเลือกนำเสนอเพียง 5 อันแรกของตารางโดยเรียงจากขาดทุนมากสุดไปหาน้อยสุดดังนี้
อันดับ 1 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 พลิกขาดทุนสุทธิ 2,363.47 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 3,530.45 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ด้านนายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากรายการพิเศษจะเติบโตราว 6% จากปีก่อน แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะลดลงราว 7.9% มาที่ 4.46 พันล้านบาท หลังจากขายโรงไฟฟ้ามาซินลอคในฟิลิปปินส์ออกไปในช่วงไตรมาส 1/61
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างมองหาซื้อโรงไฟฟ้าใหม่ที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว รวมถึงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีกำลังผลิตมากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าที่ขายออกไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาโรงไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงในประเทศไทย คาดว่าจะสรุปได้ 2-3 ดีลในปีนี้
โดยคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 จะดีกว่าไตรมาส 2/61 ที่ขาดทุนสุทธิ 2.36 พันล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าจาก ณ สิ้นไตรมาส 1/61 เงินบาทอยู่ที่ราว 31.40 บาท/ดอลลาร์ และเมื่อสิ้นไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 33.4 บาท/ดอลลาร์ ทำให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 5 พันล้านบาท จากการที่มีภาระหนี้สกุลดอลลาร์ราว 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มค่าเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ก็จะทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ดีขึ้น
นอกจากนี้บริษัทได้ประกาศจ่ายปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค.61 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.61 เป็นเงินสดจำนวน 3.50 บาทต่อหุ้น และอัตราการจ่ายเงินปันผลพิเศษ 2.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็น 6 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ไม่ได้รับสิทธิปันผลในวันที่ 31 ส.ค.2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 14 ก.ย.2561
อันดับ 2 บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 พลิกขาดทุนสุทธิ 1.85 พันล้านบาท จากปีก่อน 70.69 ล้านบาท
เนื่องจากการบันทึกค่าใช้จ่ายจากความเสียหายจากวัตถุดิบคงคลังจำนวน 2 พันลบ. และบันทึกรายได้ภาษีจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจากรายการดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายที่ 4.24 พันล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง
ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ (10 ส.ค.) แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 9.40 บาท/หุ้น โดย GGC รายงานผลประกอบการขาดทุน 1.85 พันล้านบาท จากเดิมกำไร 71 ล้านบาท และ 64 ล้านบาทในไตรมาส 2/60 และไตรมาส 1/61 เนื่องมาจากสต็อกที่หายไป 2 พันล้านบาท หากไม่รวมรายการนี้ และภาษีจากการตั้งสำรองกำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 67 ล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน ผลประกอบการลดลงจากปีก่อน เนื่องมาจากการดำเนินงานที่อ่อนแอของทั้ง ME และ FA ในขณะที่ผลประกอบการจากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งกำไร และกำไรอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น
โดย Adjusted EBITDA ของ ME อยู่ที่ 116 ล้านบาท ลดลง 36% จากปีก่อน และจากไตรมาสก่อน เนื่องมาจากราคาของ ME ที่ลดลง 16% และปริมาณการขายที่ลดลง 12% โดยราคาที่ลดลง YoY เนื่องมาจากอุปทานน้ำมันปาล์มในประเทศที่ล้นตลาด ในขณะที่ยอดขายลดลงจากไตรมาสก่อน จากการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลงจากปัจจัยทางฤดูกาล Adjusted EBITDA ของ FA อยู่ที่ 170 ล้านบาท ลดลง 64% จากปีก่อน และ 36% จากไตรมาสก่อน โดยการดำเนินงานที่อ่อนแอมาจากราคาขายที่ลดลง 12% จากน้ำมันปาล์มที่ล้นตลาด และลดลงจากปีก่อน จากส่วนต่างราคาในตลาด P2F ที่ลดลง 20% จากปีก่อน
ทั้งนี้ คาดผลประกอบการไตรมาส 3 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผลของรายการพิเศษในช่วงไตรมาส 2 ทำให้คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 3 จะพลิกกลับมากำไร แม้ว่าการดำเนินงานของทั้ง ME และ FA จะยังถูกกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาดของน้ำมันปาล์ม โดยแนะนำให้ “ถือ” มูลค่าที่เหมาะสม 9.40 บาท และอยู่ระหว่างการปรับประมาณการสะท้อนผลประกอบการครึ่งปีแรก 2561 ที่อ่อนแอ
อันดับ 3 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 พลิกขาดทุน 438.03 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 686.39 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนจากการขายไตรมาส 2/61 เพิ่มขึ้นเป็น 2,929.22 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 290.04 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 2/61 จำนวน 818.99 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 152.72 ล้านบาท
ด้านนางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้ หลังจากที่ไตรมาส 2/61 ขาดทุน 438 ล้านบาทเพราะได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปราว 1.2 พันล้านบาท แต่ในไตรมาสนี้ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นแล้ว ขณะที่รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่กว่า 4,000 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 11,000 เมกะวัตต์ภายในปี 67 โดยบริษัทยังคงเดินหน้าหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโครงการที่จะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ คือ การประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซในโอมาน กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปผลในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้
นางพรทิวะ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากที่บริษัทจะชนะการประมูลโรงไฟฟ้าในโอมานครั้งนี้ ซึ่งการลงทุนจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นของโอมาน โดยจะใช้เงินลงทุนกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 30 เมกาวัตต์ ได้เซ็นสัญญาไปแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง
อันดับ 4 บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 พลิกขาดทุนสุทธิ 223.25 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 561.49 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น
ด้านนายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3/61 ผลประกอบการมีโอกาสพลิกกลับมามีกำไรได้ หากบริษัทได้รับเงินชดเชยจากกองทุนอ้อยและน้ำตาล มูลค่า 750-850 ล้านบาท โดยบริษัทจะสามารถบันทึกกลับมาได้ทันที คาดว่าจะทันภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดยกองทุนดังกล่าวจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ
ขณะที่ปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 61 จะลดลงเหลือ 7 ล้านตัน จากปี 60 อยู่ที่ 11.60 ล้านตัน และ ผลิตน้ำตาลทรายได้ 11.8 ล้านกระสอบ โดยบริษัทจะทำการเปลี่ยนแปลงงบใหม่ ซึ่งจะทำให้เหมาะสมกับปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตของบริษัท ซึ่งภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งประเทศคาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้จะสูงกว่า 100 ล้านตัน มากกว่าปีก่อนที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 93 ล้านตัน โดยกลุ่ม KTIS มีปริมาณอ้อยเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของทั้งประเทศ
สำหรับสัดส่วนรายได้ปัจจุบันแบ่งเป็นธุรกิจน้ำตาลอยู่ที่ 75% และ ธุรกิจไฟฟ้า-เอทานอลอยู่ที่ 25% โดยบริษัทฯมีแผนที่จะให้รายได้ธุรกิจไฟฟ้า-เอทานอลอยู่ที่ 50% และ ธุรกิจน้ำตาลอยู่ที่ 50% แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อที่จะปรับความเหมาะสมของรายได้ที่บริษัทต้องการ
อันดับ 5 บริษัท คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KWG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 พลิกขาดทุนสุทธิ 215.03 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 173.15 ล้านบาท
เนื่องจากกำไรจากการปรับมูลค่าราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนเปลี่ยนแปลงลดลง 231.3 ล้านบาท อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น 76.1 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายพนักงาน,ค่าที่ปรึกษา, พร้อมทั้ง ขาดทุนจากการลดลงของมูลค่าต้นทุนพัฒนาโครงการ และค่าใช้จ่ายจากธุรกิจประกันภัย มีค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน