ดักเก็บ GUNKUL โบรกฯเล็งอัพประมาณกำไร หลังไตรมาส 3/61 โตแกร่งเกินคาด เคาะเป้าสูง 4.40 บ.
ดักเก็บ GUNKUL โบรกฯเล็งอัพประมาณกำไร หลังไตรมาส 3/61 โตแกร่งเกินคาด เคาะเป้าสูง 4.40 บ.
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL พบว่ามีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หลังผลประกอบการไตรมาสที่ 3/61 ออกมาดีกว่าคาด และอยู่ในระดับที่สูงสุดของปี จากการรับรู้รายได้เต็มที่ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ก่อนหน้านี้ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูมรสุมที่มีกระแสลมแรง ส่งผลดีต่อรายได้เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนโดยตรง
นอกจากนี้ เตรียมปรับเพิ่มประมาณการกำไรทั้งปี 61 หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ทำกำไรสุทธิได้แล้ว 730.34 ล้านบาท มากกว่าประมาณการทั้งปี 61 ขณะที่กำไรงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ยังเพิ่มขึ้นจากทั้งปี 60 ที่ทำได้ระดับ 635.36 ล้านบาทด้วย ขณะที่แนวโน้มผลงานในไตรมาสที่ 4/61 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 62 ตามแผนที่วางไว้
โดยราคาหุ้น GUNKUL ปิดตลาดวานนี้ (15 พ.ย.61) ที่ระดับ 3.08 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 3.14% สูงสุดที่ระดับ 3.16 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.08 บาท มูลค่าการซื้อขาย 55.19 ล้านบาท
ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของ GUNKUL ในปี 61 คาดว่าจะออกมาดี และมีโอกาสที่ฝ่ายวิจัยจะปรับประมาณการกำไรขึ้น จากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ GUNKUL สามารถทำกำไรได้เกินประมาณการทั้งปีแล้ว และในไตรมาสที่ 4/61 คาดว่าจะออกมาดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะยังไม่ดีเท่าในไตรมาสที่ 3/61 ก็ตาม
โดยในไตรมาสที่ 3/61 GUNKUL รายงานกำไรปกติที่ระดับ 692 ล้านบาท จากธุรกิจพลังงานแสดงการเติบโตโดดเด่นด้วยโครงการลมทั้ง 3 โครงการดำเนินงานเต็มไตรมาส และอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในปี 62 จะเติบโตต่อเนื่องเช่นกันตามประมาณการ จากแผนการเปิดโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า
ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า GUNKUL ทำกำไรในไตรมาสที่ 3/61 เติบโตมากกว่าคาด และสูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาส โดยมีกำไรสุทธิ 716 ล้านบาท ส่วนกำไรปกติอยู่ที่ 692 ล้านบาท หรือเติบโต 207.8% จากไตรมาสก่อน และ 436.2% จากงวดปีก่อน จากรายได้รวมที่เติบโตถึง 88.9% จากไตรมาสก่อน และ 31.5% จากงวดปีก่อน โดยเฉพาะรายได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เพิ่มกว่า 117% จากไตรมาสก่อน รวมทั้งรายได้ขายไฟฟ้าที่มีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) เพิ่มเท่าตัวจากไตรมาสที่ 2/61 และ 2 เท่าตัวจากงวดปีก่อน
โดยปัจจัยหลักมาจากการเริ่ม COD ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม GNP ขนาด 67.5 เมกะวัตต์ และ KWE ขนาด 50 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/61 และปลายไตรมาส 2/61 ตามลำดับ และโรงไฟฟ้าทั้งหมดมีความสามารถในการผลิตไฟเต็มที่ เนื่องจากมีความเร็วลมสูงเป็นพิเศษ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 57.0% จากไตรมาสก่อนที่ 46.7% และช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 28.8%
ทั้งนี้ กำไรดังกล่าวนับเป็นกำไรที่สูงกว่าที่คาดที่ระดับ 400-500 ล้านบาท จากรายได้เพิ่มมากกว่าคาด และกำไร 9 เดือนแรกปีนี้มากกว่าที่คาดทั้งปีถึง 30% จึงจะมีการทบทวนประมาณการในทางบวก
ส่วนกำไรปกติปี 62 คาดโตต่อเนื่อง จากผลการดำเนินงานเต็มปีของโรงไฟฟ้า GNP และ KWE และการเริ่ม COD ของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น คือ “GK Sendai” ขนาด 32 เมกะวัตต์ ในปลายไตรมาสที่ 4/61 (เลื่อนจากไตรมาส 3/61) และ “GK Kimitsu” ขนาด 34 เมกะวัตต์ ในไตรมาสที่ 1/62 (เลื่อนจากไตรมาส 4/61)
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากการที่ GUNKUL ประกาศผลิตเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าโซลาร์ญี่ปุ่น GK Sendai กำลังการผลิต 31.8 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นโครงการแรกในพอร์ตโรงไฟฟ้าโซลาร์ญี่ปุ่นของ GUNKUL ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีราคาขายไฟฟ้าแบบ FiT อยู่ที่ 36 เยน/หน่วย ด้วยอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ยาวถึง 20 ปี
กรณีดังกล่าวถือเป็นประเด็นบวกซึ่งเป็นไปตามแผนของ GUNKUL ที่ได้นำเสนอในช่วงก่อนหน้านี้ และฝ่ายวิจัยได้รวมในประมาณการปัจจุบันแล้ว โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวถือเป็นโครงการแรกในญี่ปุ่น ซึ่งคาดจะช่วยเพิ่มรายได้และกำไรสุทธิให้แก่ GUNKUL ราว 400 และ 100 ล้านบาท/ปี ตามลำดับ นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้ ณ สิ้นปี 61 GUNKUL มีกำลังการผลิตที่ COD แล้วทั้งสิ้น 315.6 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตทั้งหมดที่มีในมือ 546.1 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรปกติไตรมาส 4/61 จะอยู่ที่ราว 400-500 ล้านบาท แม้จะลดลงจากไตรมาส 3/61 ที่ทำระดับสูงสุดในรายไตรมาสของปีที่มากกว่า 600 ล้านบาท จากผลบวกของฤดูมรสุมของปี ทำให้รับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าพลังลมทั้ง 3 โครงการ (GNP, KWE, WED) 170 เมกะวัตต์ ที่ผลิตเชิงพาณิชย์แล้วอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้แนวโน้มกำไรในไตรมาส 4/61 ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูกาลของโรงไฟฟ้าพลังลม แม้จะลดลงจากงวดก่อน
อีกทั้งรับรู้โรงไฟฟ้าโซลาร์ญี่ปุ่น GK Sendai ขนาด 31.8 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ประกอบกับรับรู้รายได้ธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง (EPC) ของบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC)ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนด้วย