เปิด 5 หุ้นตัวท็อป SET โชว์กำไรไตรมาส 3/61 โตสนั่นเกิน 500%
เปิด 5 หุ้นตัวท็อป SET โชว์กำไรไตรมาส 3/61 โตสนั่นเกิน 500% นำโดย GENCO,SINGER,PYLON,ANAN และ TH
ผ่านช่วงบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)รายงานงบการเงินไตรมาส 3/61 ไปแล้วในสัปดาห์ก่อน โดยโบรกฯเกอร์ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของ บจ. แจ้งงบแล้วราว 556 บริษัท คิดเป็น 92% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด ทำกำไรรวมได้ 2.56 แสนล้านบาท โดยหากเทียบกับไตรมาส 3/2560 เฉพาะบจ.ที่แจ้งงบแล้วพบว่า กำไรเติบโต 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
ดังนั้นเพื่อให้นักลงทุนได้เห็นว่าบริษัทไหนที่มีกำไรโดดเด่นชัดเจนทีมงาน”ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงทำการสำรวจบริษัทจดทะเบียนที่มีผลกำไรเติบโตโดดเด่นในไตรมาส 3/61 โดยเรียงอันดับจากกำไรเพิ่มขึ้นมากสุดไปหาน้อยสุดของกลุ่ม SET โดยครั้งนี้คัดเลือกมาเพียง 5 อันดับที่มีกำไรเติบโตเกิน 500% ดังตารางประกอบดังนี้
อันดับ 1 คือ บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) หรือ GENCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีกำไรเพิ่มเป็น 134.49 ลบ.โตทะลัก 2,735.61% จากปีก่อนมีกำไร 4.74 ลบ. โดยกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องส่วนใหญ่มาจากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอการพัฒนาเข้ามาหนุนในไตรมาส 3/61 จำนวน 167.78 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนมีกำไร 126.02 ล้านบาท โต 1,523.79% จากปีก่อน 7.76 ล้านบาท
อันดับ 2 บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 61 มีกำไรสุทธิ 43.40 ล้านบาท โต 2,171.17% จากปีก่อนกำไร 1.91 ล้านบาทโดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น มาจากรายได้รวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้การขาย และรายได้อื่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนงวด 9 เดือนขาดทุน 98.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 900% จากปีก่อนขาดทุน 10.01 ล้านบาท
อันดับ 3 บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 โดยในไตรมาสดังกล่าวกำไรสุทธิปรับตัวขึ้นเนื่องจาก บริษัทมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 309.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้น 288.53% ส่วนงวด 9 เดือนมีกำไร 157.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.92 % จากปีก่อน 76.85 ล้านบาท
บล.เออีซี ระบุในบทิเคราะห์วันนี้(14พ.ย.) ว่า บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON(HOLD:[email protected]): ช่วงไตรมาส 3/61 กำไรโต 77.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังรับรู้งานก่อสร้างที่เลื่อนมาจากไตรมาสก่อนหน้า คาดหนุนทั้งปีกำไรโต 121.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ไม่มี Upside จากมูลค่าพื้นฐานปี 62 ที่ 7.30 บาท แต่มี Upside Risk จากการประมูลงานใหม่ในช่วงปลายปีโดยเฉพาะงานภาครัฐ
อันดับ 4 บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 61 มีกำไรสุทธิ 980 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 595.02% จากปีก่อนกำไร 140.94 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 3/2561 มีสวนแบ่งกำไรจากเงินลงทนในบริษัทร่วมและการร่วมค้ามีจำนวนเท่ากับ 982.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีสวนแบ่งขาดทุนเท่ากับ 113.1 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเริ่มรับรู้รายได้ของโครงการ ไอดีโอ สุขุมวิท 93 เร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ในไตรมาส 4/2561 และการโอนต่อเนื่องของโครงการ แอชตัน อโศก และ โครงการแอชตัน จุฬา-สีลม ที่แล้วเสร็จในไตรมาส 2/2561 ส่วนงวด 9 เดือนกำไร 1.71 พันลบ. เพิ่มขึ้น 204.65% จากปีก่อนกำไร 560.76 ล้านบาท
บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN (BUY:[email protected]): ช่วงไตรมาส3/61กำไรสุทธิ 980 ลบ. โต 595% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มากกว่าคาด ด้วยแรงหนุนหลักจากส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุนที่พลิกกำไร 982 ล้านบาท หลังมียอดโอนจากคอนโด Ashton จุฬา-สีลม, Ashton อโศก
อีกทั้งคอนโด Ideo สุขุมวิท 93 ที่เริ่มโอนเร็วกว่ากำหนดการปรับเพิ่มประมาณการปี 61 หลังคอนโด Ideo Mobi Asoke เริ่มโอนในช่วงไตรมาส 4/61 เร็วกว่ากำหนด จึงคาดหนุนทั้งปี 61 โต 78.4%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่คาดหดตัว 2.3%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 62 จากฐานการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่คาดสูงกว่า 1,754 ล้านบาทในปี 61 บวกกับมองว่า ผลกระทบจากมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ จะกดดันยอด Presales ของโครงการที่เปิดขายในปีหน้ารวมถึงยอดโอนโครงการใหม่ จึงปรับลด PE Valuation ลงมาที่ 8.9 ทำให้มูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 62 อยู่ที่ 5.20 แนะนำ “ซื้อ”
อันดับ 5 บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TH รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 61มีกำไรสุทธิ 7.12 ล้านบาท โต 556.73 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1.08 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้รวมไตรมาส 3/61 เพิ่มขึ้นเป็น 19.43 ล้านบาท จากปีก่อน 17.76 ล้านบาท
ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการขายและบริการไตรมาส 3/61 ลดลงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรวมไตรมาส 3/61อยู่ที่ 12.68 ล้านบาท จากปีก่อน 15.61 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงาน 9 เดือน พลิกมีกำไร 29.36 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 14.99 ล้านบาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของ บจ. แจ้งงบแล้วราว 556 บริษัท คิดเป็น 92% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด ทำกำไรรวมได้ 2.56 แสนล้านบาท โดยหากเทียบกับไตรมาส 3/2560 เฉพาะ บจ.ที่แจ้งงบแล้วพบว่า กำไรเติบโต 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและหากดูเฉพาะ บจ.ที่เป็น real sector (ไม่รวมภาคการเงิน) มีกำไรสุทธิประมาณ 1.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
สำหรับรายกลุ่มที่แจ้งงบแล้ว พบว่า กลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คือ กลุ่มพลังงาน ซึ่งนำโดย PTT, PTTEP, BGRIM, BCP, EGCO และ EA กลุ่มปิโตรเคมี หนุนจาก PTTGC และ IVL กลุ่มยานยนต์ จาก STANLY และกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นำโดย DELTA กลุ่มขนส่ง หนุนด้วย BEM และ BTS กลุ่มค้าปลีก จาก COM7, HMPRO, CPALL, BJC กลุ่มรับเหมาฯ นำโดย PYLON, SEAFCO, CK, ITD, STEC, STPI กลุ่มโรงพยาบาล จาก BCH, BH, BDMS
ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คือ กลุ่มสื่อ-บันเทิง หลัก ๆ มาจาก MAJOR กลุ่มท่องเที่ยว จาก CENTEL และกลุ่มเกษตร
ขณะที่กลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม หลัก ๆ มาจาก CBG, TFG, TU และกลุ่มที่กำไรสุทธิลดลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนคือ กลุ่ม ICT ฉุดจาก ADVANC, INTUCH, DTAC, JAS และ JASIF กลุ่มวัสดุก่อสร้าง จาก SCC กลุ่มอสังหาฯ จาก CPN, LH, SIRI
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิของตลาดหุ้นไทยปี 2561 ที่ 1.07 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรรวมไตรมาส 3 ทำได้ใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 2.6 แสนล้านบาท จึงยังคงประมาณการกำไรปี 2561 ไว้เช่นเดิมก่อน
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4/2561 คาดว่ากำไรตลาดฯ จะชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 โดยปัจจัยหลักมาจากกลุ่มที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มกำไรอ่อนตัวลง เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่ม ICT และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง
ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตขึ้น คือ กลุ่มค้าปลีก จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี และกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม รวมทั้งสนามบินและสายการบิน จากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของฤดูกาลท่องเที่ยว แต่อาจไม่มีน้ำหนักมากพอ เมื่อเทียบกับแรงกดดันจากหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน