จับเทรนหุ้นท่องเที่ยวหลังประกาศงบฯ Q3 ยังทรุด-นักท่องเที่ยวจีนหด

จับเทรนหุ้นท่องเที่ยวหลังประกาศงบฯ Q3 ยังทรุด-นักท่องเที่ยวจีนหด


ผ่านช่วงบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รายงานงบการเงินไตรมาส 3/61 ไปแล้วซึ่งตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 3/2561 หากเทียบกับไตรมาส 3/2560 เฉพาะบจ.ที่แจ้งงบแล้วพบว่า กำไรเติบโต 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของกลุ่มหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม และสายการบินหลังจากประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 ออกมาโดยพบว่าส่วนใหญ่ยังคงประสบกับผลการดำเนินงานที่ยังขาดทุน และมีกำไรที่ลดลง ขณะที่เดือนตุลาคมที่ผ่านมายังพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

โดย นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจงเดือนตุลาคมต่างชาติเที่ยวไทยลดลง 0.51% ติดลบครั้งแรกรอบ 10 เดือน โดยนักท่องเที่ยวจีนยังลดลง ขณะที่ เป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำตามเป้าที่วางไว้ 3 ล้านล้านบาทได้หรือไม่ เนื่องจากปีนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยรายได้ยังต่ำกว่าเป้าอยู่มาก

ทั้งนี้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 2,712,033 คน ลดลง 0.51% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถือเป็นการติดลบเดือนแรกในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มดังกล่าว ยังคงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเรียงลำดับจากน้อยไปมากดังนี้

อันดับที่ 1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีผลขาดทุนสุทธิ 3.70 พันล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 102.79% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.82 พันล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากค่าน้ำมันเครื่องบิน จำนวน 15,391 ล้านบาท คิดเป็น 29.7% ของค่าใช้จ่ายรวม เพิ่มขึ้น 3,499 ล้านบาท (29.4%) สาเหตุหลักจากราคาน้ำมันเฉลี่ยสูงกว่าปีก่อน 41%

 

อันดับที่ 2 บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีผลขาดทุนสุทธิ 1.11 พันล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 61.80% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 683.54 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันอากาศยานเครื่องบิน (Jet Fuel Price) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 88.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 63.56 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนเชื้อเพลิงอยู่ที่ 1,131.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.03 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

อันดับที่ 3 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีผลขาดทุนสุทธิ 358.14 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 260.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกขาดทุน เนื่องจากมีต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้น

 

อันดับที่ 4 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีกำไรสุทธิ 36.30 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 157.28 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานพลิกมีกำไรเนื่องจากรายได้รวมไตรมาส 3/61 เพิ่มขึ้นเป็น 7,066.53 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 6,870.82 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าโดยสาร และรายได้จากการขายและบริการ

 

อันดับที่ 5 บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีกำไรสุทธิ 41.45 ล้านบาท ลดลง 47.76% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 79.34 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานมีกำไรลดลงเนื่องจากรายได้รวมไตรมาส 3/61 ลดลงเป็น 1,441.68 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่1,457.64 ล้านบาท

 

อันดับ 6 บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีกำไรสุทธิ 1.02 พันล้านบาท ลดลง 10.77% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.14 พันล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานลดลงเนื่องค่าใช้จ่ายการดำเนินงานไตรมาส 3/61 เพิ่มขึ้นเป็น 14,521.98 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 12,834.57 ล้านบาท

 

อันดับที่ 7 บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีกำไรสุทธิ 441.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.86% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 368.54 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 441.5 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร

 

สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุนหุ้นท่องเที่ยวและสายการบินนั้น บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวรายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนประจำเดือนตุลาคม พบว่าปรับตัวลดลง 19.8% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนปรับลงเช่นกันที่ 16.6% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน (ทั้งคู่แย่ลงจากเดือนก่อน) บ่งชี้ว่าสถานการณ์ชะลอตัวของการท่องเที่ยวไทยอาจยังไม่ฟื้นในเร็ววัน แนะนำ Underweight หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่อไป อาทิ สนามบินและสายการบิน โรงแรม รวมถึงบริษัทที่ขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ Demand ของนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น เครื่องสำอาง ขนมขบเคี้ยว สปา เป็นต้น

 

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาระบุจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน ต.ค. 2018 อยู่ที่ 2.71 ล้านคน กลับมาหดตัว -0.5% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 20 เดือน จากการหดตัวลงของนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก

โดยลดลงถึง 20% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แม้ว่าจะเป็นช่วง Golden week (1-7 ต.ค. 2018) แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังหดตัวลงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต และมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวรัสเซียมีการปรับตัวลดลง 4%จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน จากการหันไปเที่ยวตุรกีมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวยุโรปและตะวันออกกลางหดตัวลง 4% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และ 25% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แต่อย่างไรก็ดี การเติบโตในตลาดรองอย่างนักท่องเที่ยวมาเลเซียยังคงเพิ่มขึ้นได้ดี 22%จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน จากการกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาคใต้ โดยภาพรวมในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 31.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.4% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวรวมใน 10 เดือนแรกของปี 61 คิดเป็นเพียง 82% จากที่เราคาดการณ์ทั้งปี เราจึงมีการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวรวมลง 2% จาก 38 ล้านคน มาอยู่ที่ไว้ที่ 37.3 ล้านคน (+5.4%จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) และปรับนักท่องเที่ยวจีนลง 2% จาก 10.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 10.3 ล้านคน (+5.0% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) เนื่องจากผลกระทบมีมากกว่าที่เราคาดไว้ อย่างไรก็ดี มาตรการฟรีวีซ่าที่จะเริ่มในวันที่ 1 ธ.ค. 2561-31 ม.ค. 2562 ซึ่งคาดว่า จะกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวได้น้อยเพราะเป็นมาตรการที่มาช้า

โดยปรับน้ำหนักกลุ่มท่องเที่ยวลงเป็น “น้อยกว่าตลาด” จากเดิมที่ “เท่ากับตลาด” โดยเราคาดว่า นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในช่วงตรุษจีน อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการปรับกำไร หรือราคาเป้าหมายของหุ้นลง เนื่องจากได้ทำการปรับลดไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ในกลุ่มท่องเที่ยวเลือก MINT เป็น Top pick จากปัจจัยเฉพาะตัวในเรื่องการซื้อ NH Hotel ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของกำไรได้เหนือกว่าคู่แข่ง ราคาเป้าหมายที่ 44.50 บาท อิง DCF (WACC ที่ 7%, terminal growth ที่ 2%) เทียบเท่า PE ที่ 29 เท่า ที่ระดับ +0.5SD ย้อนหลัง 3 ปี

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button