เปิด 10 หุ้นบลูชิพร่วงแรงเกินพื้นฐาน โบรกฯแนะสอยก่อนฟื้นตัว!
เปิด 10 หุ้นบลูชิพร่วงแรงเกินพื้นฐาน โบรกฯแนะสอยก่อนฟื้นตัว!
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2561 โดยพบว่า ภาวะการลงทุนในช่วงดังกล่าวตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีหุ้นหลายตัวปรับตัวลดลงเกินพื้นฐาน โดยคาดว่าหุ้นที่ปรับตัวลดลงไปจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นมาในช่วงต้นปีหน้าและสร้างผลตอบแทนสูงให้กับนักลงทุนจากเม็ดเงินต่างชาติที่จะไหลเข้าหลังจากการเลือกตั้งในประเทศไทยชัดเจนขึ้น
โดย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด มุมมองการเคลื่อนไหวของดัชนี SET ในปลายเดือน ธ.ค. น่ามีโอกาสที่จะได้เห็นการรีบาวด์กลับของดัชนี โดยเฉพาะช่วงหลังการประชุม FOMC ในวันที่ 20 ธ.ค. โดยการรีบาวด์ หากเหมือนช่วงปี 2556 กับ 2558 คาดจะรีบาวด์ได้แรง โดยเฉพาะช่วงต้นปีหน้า
สำหรับความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทย โดยเปรียบเทียบ แม้จะไม่โดดเด่นมากนัก ในแง่ P/E และ EPS growth เพราะเล่นกันสูงกว่าในภูมิภาคและโตต่ำกว่าภูมิภาค แต่น่าจะเป็นตลาดที่ปลอดภัยหากเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เพียงแต่ตอนนี้รอเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้า
ดังนั้นในช่วงจังหวะที่ตลาดจะรีบาวด์กลับ หุ้นในกลุ่มที่คาดว่าจะอยู่ในเป้าหมายของการลงทุน ยังคงเป็นหุ้นใหญ่ใน SET 50 ที่ตอนนี้ส่วนใหญ่ต่างปรับตัวลงลึก โดยพบว่าหุ้นใน SET 50 ที่ลงไปในระดับ -20 ถึง-40% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน คือ EA ,CBG ,SPRC ,TOP ,CENTEL ,TMB ,KBANK ,MINT , BJC และ IRPC
โดยหุ้นเหล่านี้หลายๆตัวพื้นฐานในปีหน้าพร้อมที่จะฟื้นตัว อย่าง ธนาคาร โรงกลั่น ท่องเที่ยว และค้าปลีก ส่วนแนวโน้มดัชนีในวันนี้คาดยังมีแรงกดดันจากการดิ่งลงของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ ที่จะส่งผลให้ดัชนี SET ลงไปเล่นต่ำกว่า 1,600 จุดอีกรอบแต่ไม่ลึก ส่วนการประชุม กนง. ไม่ว่าจะขึ้นหรือทรงดอกเบี้ย ไม่น่าส่งผลอะไรกับตลาดมาก แต่หากขึ้น น่าจะเกิดแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารเข้ามา โดยมองแนวรับที่ 1,590-1,585 จุดและแนวต้านที่ 1,605-1,610 จุด
ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” EA ราคาเป้าหมาย 56 บาท/หุ้น มองแนวโน้มกำไรปี 61 ที่ 5,973 ลบ. ปี62 ที่ 7,676 ลบ. และปี 63 ที่ 8,454 ลบ. สดใสต่อเนื่อง หลักมาจากเตรียมรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงามลมหนุมานที่เตรียมทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 61 ถึงต้นปี 62 คาดว่าจะสนับสนุนกำไรสุทธิปี 61 และปี 62 ที่ 970 ลบ. และ 2,300 ลบ. ตามลำดับ หลังจากนั้นธุรกิจแบตเตอรี่เฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 1 GW จะเป็นตัวสนับสนุนการเติบโตหลักในปี 63 โดยคาดว่าจะสร้างกำไรได้ราว 500 ลบ. และเพิ่มเป็น 1,800 ลบ.ในปี 64 บนสมมติฐานของ Capacity Factor เริ่มต้นที่ 65% ในปี 63 และขยับขึ้นเป็น 75% ในปี 64
ทั้งนี้ แนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐานปี 62 ที่ 56 บ./หุ้น อิง SOTP Upside 19.83% หลักมาจากธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ 8.0 บ./หุ้น ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 13.5 บ./หุ้น ธุรกิจไบโอดีเซลที่ 3.0 บ./หุ้น และ ธุรกิจแบตเตอรี่ที่ 31.5 บ./หุ้น
ขณะที่ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” IRPC ราคาเป้าหมาย 7.20 บาท/หุ้น โดยคาดการณ์กำไรปกติปี 62 เติบโต 15% จากปีก่อน จากอัตราการใช้กำลังการผลิตคาดเพิ่มมาที่ 99% (ปี 61 คาด 97%) จากที่บริษัทมีการปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยกลั่นในปีที่ผ่านมา และจะไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ ขณะที่ค่าการกลั่นเฉลี่ยคาดปรับเพิ่มจากปีก่อนจากผลบวกของมาตรการ IMO ชดเชยกับ
ทั้งนี้ ธุรกิจปิโตรเคมีคาดอ่อนตัวลง โดยหลักจากส่วนต่างราคา PP ที่คาดทรงตัวและ PE ที่คาดลดลงตามอุปทานการผลิตของโรงปิโตรเคมีในภูมิภาคที่ปรับเพิ่มและผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ
โดยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาพื้นฐานปี 62 ที่ 7.20 บาท (อิง P/B ที่ 1.5 เท่า)