มรสุม IPO น้องใหม่ “SISB” หุ้นโรงเรียนตัวแรกฝ่ากระแสทางตัน
ย้อนรอยข่าวเด่นข่าวดังปี 61 - มรสุม IPO น้องใหม่ "SISB" หุ้นโรงเรียนตัวแรกฝ่ากระแสทางตัน
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในปี 2561 เพื่อมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ โดยในวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวที่ร้อนแรง ที่ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญแห่งตลาดหุ้นไทยเลยก็ว่าได้ สำหรับ “หุ้นโรงเรียนตัวแรก” อย่าง บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ที่มีประเด็นให้ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ยังไม่ทันได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กันเลยทีเดียว
โดย SISB ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค.61 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 260 ล้านหุ้น ซึ่งแบ่งเป็นเสนอขายประชาชน 234 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท 26 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
อย่างไรก็ดี ยังไม่ทันได้ลงสนามเทรดก็เกิดเป็นประเด็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ขึ้นมา ในวันที่ 26 พ.ย.61 เมื่อ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวถึงกรณีที่ SISB จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยระบุว่า “เนื่องจากวันที่ 29 พ.ย. 2561 จะเกิดการระดมทุนขายหุ้นการศึกษาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยเพราะกิจการใดที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหากำไรและให้ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นสูงสุด สถาบันการศึกษานี้จะกลายเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีความพยายามแบบนี้เช่นกัน แต่ไม่เคยได้รับอนุญาต”
โดยมองว่าเมื่อใดที่ผู้มีอำนาจมีการกำหนดนโยบายให้ขายหุ้นทางด้านการศึกษาก็จะเกิดความวิบัติตกต่ำในการพัฒนาประเทศและประเทศไทยก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาพูดถึงกรณีดังกล่าวว่า การอนุมัติให้สถาบันการศึกษาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯว่า เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.ได้สอบถามไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับของสถาบันการศึกษาของเอกชนไปแล้ว ซึ่งกฎระเบียบของ สช.ไม่ได้มีข้อห้าม
อีกทั้งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า SISB เป็นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯตามกฎระเบียบที่ถูกต้อง และเมื่อทุกธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และ ตลท.
ขณะเดียวกัน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า การที่โรงเรียนนานาชาติในนามของ SISB เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดหลักเกณฑ์ เพราะ สช.ไม่ได้มีข้อห้าม ทำให้ ก.ล.ต.และ ตลท.อนุญาตให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้
แต่เหมือนเรื่องจะยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61 นายจุติ ไกรฤกษ์ ได้เรียกร้องให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นโจทก์ในการยื่นฟ้องระงับธุรกรรมการระดมทุนของ SISB โดยนายจุติได้มอบหมายให้ทีมกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ SISB
โดยเนื้อหาคำฟ้องมีสาระสำคัญว่า ธุรกิจโรงเรียนเอกชนมีสิทธิพิเศษได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีต่างๆ อันเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านศึกษาจากภาครัฐโดยประชาชนผู้เสียภาษี รวมถึงรัฐยังมีอำนาจในการกำกับดูแลให้โรงเรียนเอกชนต้องจัดสรรผลกำไรเพื่อนำกลับไปพัฒนาโรงเรียนตนเองด้วย
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางข้อพิพาทดังกล่าว SISB ได้เริ่มทำการซื้อขายในตลาด mai ในวันที่ 29 พ.ย.61 โดยเปิดเทรดวันแรกราคาอยู่ที่ 5 บ. จาก IPO 5.20 บาท และดูเหมือนประเด็นดังกล่าวจะสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนเป็นอย่างมาก จนส่งผลกดดันให้ราคาหุ้น SISB ปิดเทรดวันแรกด้วยราคาที่ต่ำกว่า IPO ยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยราคาลงมาปิดที่ระดับ 4.36 บาท ลบ 0.84 บาท หรือ 16.15% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 879.31 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายด้าน ส่งผลให้ผู้บริหาร SISB รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาพูดถึงในประเด็นข้อพิพาทของ SISB
โดยเริ่มมาจากการที่ นายยิว ฮอค โคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท SISB ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า การที่บริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้นั้น เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โปร่งใส ตามกรอบกฎหมายที่กำหนด นอกจากนี้ตนมีความเชื่อมั่นต่อปัจจัยพื้นฐานธุรกิจว่ามีความแข็งแกร่ง โดยมีรายได้เติบโตสม่ำเสมอเฉลี่ย 20% ต่อปี และมีผลประกอบการดีต่อเนื่อง ซึ่งเหมาะที่จะถือลงทุน
อีกทั้ง นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ SISB กล่าวว่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าผลการดำเนินงานของ SISB น่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีความพร้อมในการพัฒนาการศึกษา และนักเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า กรณีที่ SISB เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และเชื่อคงไม่ได้ผิดในหลักเกณฑ์ ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถเข้าจดทะเบียนได้
ส่วนกรณีที่เกิดกระแสเรื่องการเรียกเก็บภาษีเหมือนบริษัทอื่นที่จดทะเบียนหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ต้องการให้เข้าใจว่า เรื่องการระดมทุน และเรื่องการเรียกเก็บภาษีเป็นคนละเรื่องกัน และในปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด การส่งเสริมหรือสนับสนุนยังคงเหมือนเดิม
ขณะที่การระดมทุน ยืนยันว่า สามารถทำได้ในหลายช่องทาง และที่ผ่านมา สถานศึกษาไม่สามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่เข้มงวดในการปล่อยกู้ให้กับโรงเรียน เนื่องจากเวลามีปัญหาไม่สามารถเรียกคืนได้ รวมถึงยังเกี่ยวข้องกับสังคมด้วย
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การให้สถานศึกษาเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมนั้น มองว่าการระดมทุนรูปแบบนี้ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย
อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกัน ก.ล.ต. ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯของ SISB อีกครั้ง ถือเป็นการย้ำหัวหมุด โดยระบุว่า ก.ล.ต.พร้อมให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลว่าก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ SISB เสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)
โดย ก.ล.ต.ได้มีการหารือและส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนเอกชน (lead regulator) แล้วว่า SISB สามารถดำเนินการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ได้หรือไม่ และในวันที่ 24 ต.ค.61 สช.มีหนังสือตอบกลับมาว่าตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งในการหารือ สช.ก็มิได้เคยปรากฏว่า สช.มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ SISB จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อ ก.ล.ต.ได้พิจารณาคุณสมบัติและพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของ SISB ตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แล้ว พบว่า SISB มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จึงไม่มีเหตุที่ ก.ล.ต.จะปฏิเสธคำขอของ SISB ได้
ทั้งนี้ แนวทางในการพิจารณา IPO ของ ก.ล.ต.จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอระดมทุนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเน้นความโปร่งใสและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อผู้ลงทุน ซึ่งในกรณีที่มีข้อสังเกตว่าสถาบันการศึกษาไม่ควรมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลักนั้น ก.ล.ต. ได้มีการสอบถามประเด็นดังกล่าว ซึ่ง SISB ได้ชี้แจงและเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่า SISB มีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการพัฒนาการศึกษาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล โดยไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด
ต่อมา ในวันที่ 7 ธ.ค.61 ดูเหมือนฟ้าเริ่มเปิดทางให้ SISB เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับเรื่องคุ้มครองชั่วคราว กรณีนายจุติ ไกรฤกษ์ ยื่นฟ้อง ก.ล.ต. ในความผิดฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุมีคำสั่งอนุญาตให้ SISB สามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชนทั่วไป (IPO) 260 ล้านหุ้น
ทั้งนี้เนื่องจาก SISB ได้เข้าสู่กระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังพบว่า คำร้องของฝั่งผู้ฟ้องไม่ครบ เนื่องจากขาดคำร้องจาก ตลท. ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องเขียนคำร้องใหม่ภายในวันที่ 11 ธ.ค.2561
อย่างไรก็ดี ได้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองได้จำหน่ายคดีฟ้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจำหน่ายเป็นคดีแดง (คดีที่ศาลมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาด หรือพิพากษาแล้ว) ตั้งแต่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ 30 วัน ทั้งนี้ ยังไม่พบความเคลื่อนไหวจากทางนายจุติ ไกรฤกษ์แต่อย่างใด
การเข้าจดทะเบียนเพื่อเป็น “หุ้นโรงเรียนตัวแรก” ของ SISB นั้น ระหว่างทางดูเหมือนจะไม่ราบรื่นเท่าใดนัก แต่ถือเป็นข่าวดีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เนื่องจากการที่ศาลปกครองได้จำหน่ายคดี SISB เป็นคดีแดงนั้น ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อขายวันสุดท้ายของปี 2561 ราคาหุ้นได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดที่ระดับ 4.28 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 6.8 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวผู้อ่านยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่าบทสรุปของคดีจะออกมาเป็นอย่างไร และ SISB จะสามารถพิสูจน์การเป็น “หุ้นโรงเรียนตัวแรก” ที่ฝ่าทุกมรสุมจนเป็นหุ้นขวัญใจนักลงทุนได้หรือไม่?