เปิด 10 รายชื่อหุ้นโบรกฯหั่นราคาเป้าหมาย-ประมาณกำไรปี 61-62

เปิด 10 รายชื่อหุ้นโบรกฯหั่นราคาเป้าหมาย-ประมาณกำไรปี 61-62  อาทิ ERW,SPRC,MONO,SPA,TOA,BR,SAPPE, CBG, ASAP, TICON


ก่อนหน้านี้“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้สำรวจกลุ่มหุ้นพื้นฐานดีที่โบรกเกอร์ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรในปี 2561-2562 และราคาเป้าหมายมานำเสนอไปแล้ว มาในครั้งนี้จะขอนำเสนอกลุ่มหุ้นที่โบรกฯเกอร์ได้ปรับลดประมาณการกำไรในปี 2561-2562 และราคาเป้าหมายเพื่อประกอบการลงทุนช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดงบการเงินปี 2561 อีกทาง

โดยบล.ทรีนีตี้ ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทย (SET Index) เดือน ธ.ค.61 แกว่งตัว Sideways ประเมินระดับดัชนีที่เหมาะสมในแง่ของ Valuation อยู่ที่ 1640-1650 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่า Forward PE 14 เท่า

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่  1.การทยอยปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของนักวิเคราะห์ ภายหลังการรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/61 เสร็จสิ้น ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นไทยในแง่ของ PE อาจยังดูไม่น่าสนใจมากนัก

สำหรับกลุ่มหุ้นที่โบรกฯได้ปรับลดประมาณการดังกล่าวประกอบด้วย ERW,SPRC,MONO,SPA,TOA,BR,SAPPE, CBG, ASAP, TICON   โดยเป็นการวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ชั้นนำของไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 โดยระบุไว้ดังนี้

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ได้ลดประมาณการกำไรปกติปี 2018-2019 ของ ERW ลง 11-19% สะท้อนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยคาดว่ากำไรปกติในปี 2018 จะชะลอตัวลง -4.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามยังให้น้ำหนักกับการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีนไปที่ประเด็นความเชื่อมั่นจากเหตุเรือล่ม นอกจากนี้คาดว่ายังได้แรงหนุนจากโรงแรม JW Marriott ที่ Renovate เสร็จแล้วทั้ง 100% จึงคาดว่ากำไรปกติของ ERW ในปี 2019 จะกลับมาเติบโตแข็งแกร่ง +20.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะปรับลดราคาเหมาะสมลงเหลือ 8 บาท แต่มองว่าราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว งมองเป็นโอกาสในการ “ซื้อลงทุน”

บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)  หรือ SPRC แนวโน้มระยะสั้นยังไม่สดใส คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรงจะทำให้ SPRC มีขาดทุนจากสินค้าคงเหลือจำนวนมากและมีขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/61 การผลิตของหน่วย RFCCU ในปี FY19 อาจไม่คุ้มค่าหากยังมีปัญหาน้ำมันเบนซินล้นตลาดปรับลดประมาณการกำไรสุทธิ 7-48% ในปี FY18-20

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ปรับประมาณการลงคาดปี 2018F พลิกเป็นขาดทุน 105 ล้านบาท จากเดิมคาดกำไร 145 ล้านบาท และปรับกำไรปี 2019-20F ลดลงจากเดิม 74% และ 40% ตามลำดับ

โดยคาดธุรกิจให้บริการโฆษณาโดยเฉพาะทีวีดิจิทัลมีอัตราใช้สื่อลดลงอยู่ที่ 53-60% จากเดิม 65% คาดอัตราค่าโ ษณาปี 2018-20 คาดที่ 36,000-42,000 จากเดิม 36,000-48,000 บาท/นาที โดยช่อง MoNo29 ณ ไตรมาส3/61 เรตติ้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 1.125 จากสิ้นปี 4Q17 อยู่ที่ 0.923

คาดธุรกิจให้บริการ subscription service ลดลงจากการหยุดธุรกิจให้บริการ sMs ในปี 2019 คาดปี 2019 เหลือเล็กน้อยคิดเป็น 1%-2% ของรายได้รวมจากรายได้ให้บริการสมาชิกออนไลน์ MonoMax ซึ่งยังมีสัดส่วนรายได้เล็กน้อย คาด MoNo จะกำไรอัตรากำไรสุทธิปี  2019-20F อยู่ที่ 3% และ 7% แนะนำ “ขาย” จากเดิมแนะนำให้ “หลีกเลี่ยงการลงทุน” เนื่องจากภาพรวมปีนี้ไม่สดใสพลิกเป็นขาดทุน

 

บล.เคทีซีมิโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA ธุรกิจน่าจะสามารถต้านทานภาวะอุตสาหกรรมที่อ่อนแอได้ เนื่องจากการพึ่งพิงกับ FIT มากกว่ากรุ๊ปทัวร์ การขยายสาขาก็ยังคงเป็นไปตามแผน ในขณะที่มีร้านรูปแบบใหม่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต

อย่างไรก็ตามปรับมุมมองให้อนุรักษ์นิยมมากขึ้นและปรับลดประมาณการกำไรลงราว 6%-10% สำหรับปี 2018-19E ราคาเป้าหมายใหม่ปรับลงมาเป็น 17.50 บาท อิงด้วย PER 35 เท่า (-0.5 S.D.)

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ  TOA แม้จะเชื่อว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวขึ้นใน ไตรมาส 4/61 เทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่ผลประกอบการปี 2019 จะยังอ่อนแอจากโรงงานใหม่ในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และกัมพูชาจะยังมีผลขาดทุน (เริ่มดำเนินงานในไตรมาส 4/61,ไตรมาส1/62 และไตรมาส2/62) และด้วยผลประกอบการ 9 เดือนปี 2561ที่อ่อนแอ ทำให้คาดว่าผลประกอบการจะโต 8.4% เทียบกับ PER ที่ 38.4 เท่า ซึ่งสูงเกินไป

ปรับประมาณการของปี 2018-20F ลง 6.3%, 5.2% และ 5.6% ตามลำดับ จากยอดขายและอัตรากำไรที่ลดลง และจะคิดเป็นการเติบโต 9.5%, 8.4% และ 7.5% ตามลำดับ และปรับมูลค่าที่เหมาะสมลงจาก 31.5 บาท อ้างอิง PER ที่ 32 เท่าสำหรับปี 2018F เป็น 30 บาทอ้างอิง PER ที่ 30 เท่าสำหรับปี 2019F คิดเป็นดาวน์ไซด์ 18% ทำให้ปรับคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ขาย”

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) หรือ BR หลังจากที่ผลประกอบการไตรมาส3/61 ต่ำกว่าคาด ทำให้ปรับผลประกอบการปี 2018-19F ลง 44% และ 18% ตามลำดับเพื่อสะท้อนอัตรากำไรที่ลดลง และต้นทุนในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานบางพลีที่เปิดล่าช้าไปยังไตรมาส1/62

ปรับมูลค่าที่เหมาะสมลงจาก 5.7 บาท เป็น 4.7 บาท อ้างอิง PER ที่ 12 เท่าสำหรับปี 2019F โดยเชื่อว่าราคาหุ้นที่ลดลงสะท้อนปัจจัยลบไปหมดแล้ว (ราคาหุ้นลดลง 28% ในช่วง 3 เดือน)

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE เปลี่ยนคำแนะนำเป็น “ถือ” จากผลประกอบการคาดไตรมาส 3/61 ต่ำกว่าคาด และแนวโน้มกำไรไตรมาส4/61 คาดยังคงได้รับผลกระทบจากยอดขายการส่งออกที่ลดลงจากปัจจัยค่าเงินที่อ่อนค่าของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก และต้นทุนขวดพลาสติกที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้มาร์จิ้น ลดลง

ปรับประมาณการลงสะท้อนผลกระทบดังกล่าว โดยคาดกำไรปี 2561 ลดลง และจะเริ่มเพิ่มขึ้นได้ในปี 2562 ราคาเป้าหมายใหม่เป็นปี 2019 อยู่ที่ 22.50 บาท

 

บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ปรับสมมติฐานอัตราการเติบโตของรายได้ปีนี้ โดยปรับเพิ่มสมมติฐานรายได้จากกัมพูชาขึ้น แต่ปรับลดรายได้จากจีนและอังกฤษลง ในขณะที่ปรับเพิ่มสัดส่วน SG&A/รายได้ (จาก ICUK)

ดังนั้น จึงทำให้ประมาณการกำไรปีนี้ของลดลง 10% แต่ยังคงประมาณการกำไรปี 2562F เอาไว้เท่าเดิม เนื่องจากผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมองว่าน่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้น จึงยังคง P/E เป้าหมายเอาไว้ที่ 35x ของกำไรปี 2562 ทำให้ได้ราคาเป้าหมายปี 62F ใหม่ที่ 48.50 บาท

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASAP ปรับลดประมาณการกำไรปี 2018 และปี 2019 ลง 24% และ 40% ตามลำดับ โดยคาดการณ์กำไรปี 2018 ที่ 120 ลบ. ลดลง 20%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และปี 2019 ที่ 130 ลบ. +8.56% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อสะท้อนรายได้จาก Auto Park ที่น่าผิดหวังใน 9M18 และค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการให้บริการ การบริหาร และต้นทุนการเงินที่สูงกว่าคาดใน ไตรมาส3/61 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะกดดันกำไรต่อไปในปี 2019

เนื่องจากการขยายตัวของกองรถที่เร่งตัวขึ้น (ยอดซื้อรถปี 2018 อยู่ที่ราว 6 พันคัน และปี 2019 ที่ 4 พันคัน ซึ่งสูงกว่าการซื้อรถในปี 2013-2017 ที่เติบโตราว 3-4 พันคันต่อปี) ทำให้ Gross margin จะทรงตัวที่ 20% ในปี 2018-2019

ส่วนในปี 2020 คาดว่าน่าจะเห็นจุดเปลี่ยนของกำไรครั้งสำคัญเนื่องจากมีรถยนต์ที่หมดอายุสัญญาเช่าราว 3 พันคัน (จาก 1-1.5 พันคันในปี 2017-2019) ซึ่งหากอิงจากราคาขายรถยนต์ที่ใกล้เคียงกับปี 2018 และ Gross margin ที่ราว 10% (หาก ASAP นำมาขายเองในสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน Gross margin จะมี Upside) คาดว่ากำไรขั้นต้นของธุรกิจการขายรถหมดสัญญาจะเติบโตราว 264% จากปี 2018 และรายได้จากการขายรถหมดสัญญาจะเป็น 26% ของรายได้รวมจาก  12-14% ในปี 2018-2019 ประเมินราคาเหมาะสมปี 2019 ที่ 4.50 บาท (เดิม 7.50 บาท) อิง PER 25 เท่า

 

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  TICON  ปรับลดราคาเป้าหมายของ TICON ลงเป็น 16.50 บาท จาก 19.00 บาท เพื่อสะท้อนการปรับลดประมาณการกำไรลง 12.6-30.5% หลังปรับลดสมมุติฐานยอดปล่อยเช่าสุทธิในอนาคตจากเดิม 2 แสนตรม.ต่อปีเป็น 1.4 แสนตรม.ต่อปี (เป้าหมายของบริษัทอยู่ที่ 1.5 แสนตรม.ต่อปี) ตามการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและการมุ่งเน้นไปยังธุรกิจใหม่อื่นๆที่เพิ่มขึ้น โดยกำไรไตรมาส 3/2561 ที่ 337 ลบ.ซึ่งเพิ่มขึ้น 218%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 430% เทียบไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขายสินทรัพย์เข้า TREIT จำนวน 1.57 พันลบ.ตามคาด

โดยมูลค่าการขายจะเพิ่มขึ้นอีกไตรมาสหน้าจากที่ TICON ให้สิทธิ TREIT ไม่ต่ำกว่า 3.5 พันลบ.ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจากทิศทางกำไรเชิงบวก รวมถึงธุรกิจใหม่ๆที่ยังไม่รวมเข้าไปในประมาณการ เช่น ดาต้าเซนเตอร์, โคเวคกิ้งสเปซและที่ดิน 4,315 ไร่ที่บางนาตราด และราคาหุ้นที่ลดลง 10% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button