สปอยล์งบฯไตรมาส 4/61 กลุ่มแบงก์ KBANK-KTB ตัวเต็งทำกำไรกระฉูด-อัพเป้ากระหึ่ม!
สปอยล์งบฯไตรมาส 4/61 กลุ่มแบงก์ KBANK-KTB ตัวเต็งทำกำไรกระฉูด-อัพเป้ากระหึ่ม!
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ประกาศผลการดำเนินงาน โดยครั้งนี้จะเป็นการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส4/2561 ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์คาดว่ากำไรสุทธิของ KBANK และ KTB จะเติบโตอย่างโดดเด่น
โดย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 4/2561 ของธนาคารส่วนใหญ่จะไม่แย่นัก เนื่องจากคาดว่า BBL, KTB น่าจะกันสำรองลดลงในขณะที่ credit cost ของ KBANK และ SCB น่าจะทรงตัว ถึงแม้ว่ารายได้จากตลาดทุนที่ลดลงจะกระทบกับรายได้ของธนาคารขนาดเล็ก แต่ก็ยังดีที่มีรายได้จากแหล่งอื่น และ LLP ที่ลดลงมาช่วยพยุงผลประกอบการเอาไว้
นอกจากนี้ ฐานกำไรที่ต่ำในไตรมาส 4/2560 ก็จะส่งผลให้กำไรของ KBANK และ KTB พุ่งกระฉูดในไตรมาส 4/2561 ในขณะที่กำไรจากธุรกิจหลักของ BBL และ SCB น่าจะโตได้ 9% และ 10% ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประมาณการกำไรไตรมาส 4/2561 แล้ว คาดว่า กำไรปี 2561 ของกลุ่มธนาคารน่าจะโตได้ประมาณ 10% มองว่าราคาหุ้นที่ปรับลดลง จนมาอยู่ในระดับที่ไม่แพงนี้เป็นโอกาสดีที่จะเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคาร ซึ่งที่ระดับราคานี้ชอบ KBANK , KTB และ TCAP
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรจะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนจากการที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ KBANK, SCB และ KTB เร่งตัวขึ้นตามฤดูกาล ในขณะที่คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมของ TMB จะแผ่วลง แต่คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จากปีก่อน จากฐานกำไรที่ต่ำของ KBANK และ KTB เนื่องจากในไตรมาส 4/2560 มีการบันทึกสำรองพิเศษสำหรับรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 แต่หากไม่รวมรายการที่ถูกกระทบจากฐานที่ต่ำ รายได้รวมของ 4 ธนาคารใหญ่ (KTB, BBL, KBANK, SCB) จะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ NII จากการที่สินเชื่อฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรของธนาคารขนาดเล็กอย่าง KKP และ TISCO จะถูกกดดันจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนที่ร่วงแรง ซึ่งจะฉุดรายได้ค่าธรรมเนียม
ทั้งนี้ จากตัวเลขสินเชื่อเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 พบว่าโมเมนตั้มของสินเชื่อแข็งแกร่งขึ้น และการปล่อยกู้ในตลาดเงินก็คึกคักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก 4 ธนาคารใหญ่ (KTB, BBL, KBANK, SCB) โดย KTB ปล่อยกู้อย่างคึกคักที่สุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4-5 แล้วจากการปล่อยกู้ทั้งสินเชื่อธุรกิจ และในตลาดเงิน ในขณะที่ BBL และ KBANK ก็ปล่อยกู้สินเชื่อธุรกิจอย่างคึกคัก ในขณะที่ SCB ปล่อยกู้ส่วนใหญ่ในตลาดเงิน แต่อย่างไรก็ตาม เราพบว่าโมเมนตั้มสินเชื่อของสามธนาคารเล็กชะลอตัวลง ซึ่งรูปแบบการเติบโตของสินเชื่อนี้น่าจะเป็นไปตามอุปสงค์ตามฤดูกาลและสินเชื่อตามการลงทุนภาครัฐ
โดยคิดว่าสัดส่วน NPL coverage ของ KBANK ที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 156% และ ของ BBL ที่สูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 180% จะทำให้ทั้งสองธนาคารไม่ต้องเร่งตั้งสำรองใน 4Q61 ส่วนในกรณีของ KTB การที่ธนาคารเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อภาครัฐก็จะช่วยลดแรงกดดันในการตั้งสำรองก้อนใหม่เพิ่มอีก สำหรับ SCB การที่ NPL ในกลุ่มสินเชื่อ SME และสินเชื่อจดจำนองดีขึ้นก็จะช่วยลดแรงกดดันด้านสำรองลงเช่นกัน ดังนั้น จึงคาดว่ายอดกันสำรองของ BBL และ KTB จะลดลงในไตรมาส 4/2561 ในขณะที่คาดว่า credit cost ของ KBANK และ SCB น่าจะอยู่ในระดับเดิม
ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะตลาดทุนไม่เอื้อในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมส่งผลต่อรายได้จากค่าธรรมเนียมการบริหารสินทรัพย์ของ TISCO (>20% ของ non-NII) ดังนั้น เพื่อรักษาโมเมนตั้มของกำไรเอาไว้จึงคาดว่า TISCO จะลดการตั้งสำรองฯลง ในขณะที่คาดว่า TCAP จะมีกำไรก้อนโตจากการขายสินทรัพย์ประมาณ 300-400 ล้านบาท ส่วนผลขาดทุนจากการลงทุนของ KKP ก็จะถูกชดเชยด้วยรายได้ค่าธรรมเนียม IB ก้อนใหญ่
ด้าน บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า จากผลของการขายทอดตลาดที่ดินของ AQ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง TICON(50%), ROJNA(25%) และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย(25%) ด้วยราคา 8,914 ล้านบาท ทำให้ KTB สามารถรับรู้กำไรพิเศษ มูลค่าประมาณ 8,300 ล้านบาท คาดบันทึกช่วงไตรมาส 1/2562
อย่างไรก็ตามคาดว่ากำไรบางส่วนจะถูกนำไปตั้งสำรองพิเศษ เนื่องจากปัจจุบัน Coverage Ratio ของ KTB ที่ 122% ถือว่าต่ำสุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ (140% – 180%) ทำให้คาดว่า KTB จะนำกำไรพิเศษดังกล่าวบางส่วนไปตั้งสำรองพิเศษ เพื่อรองรับกับ IFRS9 ที่จะบังคับใช้ปี’63
ทั้งนี้ KTB จะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น โดยปัจจุบัน KTB มีสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยลอยตัวถึง 88% ของสินเชื่อรวม คาดกำไรปี 62 เพิ่มขึ้น 23%, Dividend Yield = 2.3% ประเมินราคาเป้าหมายปี’62 ที่ 23.20 บาท
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ให้ราคาเป้าหมาย KBANK ที่ 251 บาท