สำรวจสุขภาพหุ้นแบงก์ครึ่งแรกปี 58ตัวไหนทำกระเป๋าฉีก-ตัวไหนรีเทิร์นแจ่ม

เปิดผลสำรวจหุ้นแบงก์ ยอดแย่-ยอดเยี่ยม ช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจนักเล่นที่คิดจะเป็นชาวสวน ทั้งที่เห็นทนโท่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง เอ็นพีแอลโผล่พรึบพรับราวกับดอกเห็ด


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นหมวดธนาคารทั้งหมด 11 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2558 หรือวันแรกในการซื้อ-ขายของปีนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 หรือวันสิ้นสุดไตรมาส 2 แล้วพบว่า มีราคาหุ้นของธนาคาร 9 แห่ง ที่ปรับตัวลงระหว่าง 4-22% ขณะที่ราคาหุ้นของธนาคารอีก 2 แห่ง ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ระหว่าง 4 – 6%

สำหรับหุ้นแบงก์ที่ปรับตัวลดลงเที่ยวนี้ ล้วนมีสาเหตุมาจากผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจาก “การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ” ที่ปรับตัวขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศชะลอตัว ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นในวงกว้าง โดยในปัจจุบัน ปัญหาเรื่อง “สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือ NPL ได้ลุกลามขึ้นสู่สินเชื่อในธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Corporate Loan แล้ว

 

โดยหุ้นตัวแรกที่ปรับตัวลงหนักสุดคือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ปรับตัวลดลงราว 22.62% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 22.10 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 17.10 บาท ขณะที่ราคาหุ้น KTB วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 16.70 บาท ปรับตัวลง 0.40 บาท หรือ 2.34% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,828.39 ล้านบาท

หุ้นตัวที่สองคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ปรับตัวลดลงราว 21.76% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 42.50 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 33.25 บาท ขณะที่ราคาหุ้น BAY วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 32.75 บาท ปรับตัวลง 0.50 บาท หรือ 1.50% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 68.17 ล้านบาท

หุ้นตัวที่สามคือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ปรับตัวลดลงราว 17.02% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 2.82 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 2.34 บาท ขณะที่ราคาหุ้น TMB วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 2.26 บาท ปรับตัวลง 0.08 บาท หรือ 3.42% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 898.99 ล้านบาท

หุ้นตัวที่สี่คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ปรับตัวลดลงราว 14.09% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 220.00 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 189.00 บาท ขณะที่ราคาหุ้น KBANK วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 179.00 บาท ปรับตัวลง 10.00 บาท หรือ 5.29% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 7,343.15 ล้านบาท

หุ้นตัวที่ห้าคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ปรับตัวลดลงราว 13.13% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 179.00 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 155.50 บาท ขณะที่ราคาหุ้น SCB วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 150.00 บาท ปรับตัวลง 5.50 บาท หรือ 3.54% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,871.61 ล้านบาท

หุ้นตัวที่หกคือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ปรับตัวลดลงราว 10.58% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 1.89 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 1.69 บาท ขณะที่ราคาหุ้น CIMBT วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 1.67 บาท ปรับตัวลง 0.02 บาท หรือ 1.18% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.61 ล้านบาท

หุ้นตัวที่เจ็ดคือ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ปรับตัวลดลงราว 8.44% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 38.50 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 35.25 บาท ขณะที่ราคาหุ้น KKP วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 34.75 บาท ปรับตัวลง 0.50 บาท หรือ 1.42% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 36.83 ล้านบาท

หุ้นตัวที่แปดคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ปรับตัวลดลงราว 6.32% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 190.00 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 178.00 บาท ขณะที่ราคาหุ้น BBL วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 174.00 บาท ปรับตัวลง 4.00 บาท หรือ 2.25% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,381.22 ล้านบาท

หุ้นตัวสุดท้ายคือ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK ปรับตัวลดลงราว 4.10% ในช่วงเดียวกัน โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 1.95 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 1.87 บาท ขณะที่ราคาหุ้น LHBANK วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 1.85 บาท ปรับตัวลง 0.02 บาท หรือ 1.07% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 30.80 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เมื่อนำตัวเลขรวม NPL ของทุกประเภทสินเชื่อ (ขนาดใหญ่-ขนาดย่อม-อุปโภคบริโภค) จาก 9 ธนาคาร (ไม่รวม CIMBT และ LHBANK) โดยเฉลี่ยของช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 ไปเทียบกับตัวเลขของไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่มียอดสินเชื่อสูงที่สุดของปี แล้วพบว่า ตัวเลขดังกล่าวได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.29% จากก่อนหน้านี้เคยอยู่ที่ระดับ 2.15%

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า ผลประกอบการสำหรับช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ของ BBL BAY และ KTB มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากปัญหา NPL อีกหนึ่งระลอกใหญ่ เนื่องจากในงวดไตรมาส 1 ธนาคารทั้ง 3 แห่ง มียอด “สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ” หรือ SM ซึ่งเป็นสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน เพิ่มมากขึ้นที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนได้ราว 47.50% 43.17% และ 12.90% ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม มีธนาคาร 2 แห่ง ที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า หุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ จะได้รับผลกระทบจาก NPL อย่างจำกัดที่สุด เนื่องจากได้ผ่านจุดต่ำสุดของปัญหาดังกล่าวไปแล้วในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปรียบเทียบ จากการใช้วิธีนำตัวเลข NPL ของช่วงวิกฤต Sub-prime ปี 2552 มาตั้งเป็นสมมติฐานสำหรับ “กรณีแย่ที่สุด” ซึ่งตัวเลข NPL ของธนาคารทั้ง 2 แห่งนั้นสูงกว่าตัวเลขที่นำมาใช้ในการจำลองสถานการณ์

หุ้นตัวแรกที่มีการปรับตัวขึ้นคือ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ปรับตัวขึ้นราว 6.36% โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 43.25 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 46.00 บาท ขณะที่ราคาหุ้น TISCO วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 45.25 บาท ปรับตัวลง 0.75 บาท หรือ 1.63% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 137.18 ล้านบาท

หุ้นตัวที่สองคือ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ปรับตัวขึ้นราว 4.72% โดยราคา ณ วันที่ 5 มกราคม ปิดตลาดที่ระดับ 31.75 บาท ส่วนราคา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปิดตลาดที่ระดับ 33.25 บาท ขณะที่ราคาหุ้น TCAP วานนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 33.00 บาท ปรับตัวลง 0.25 บาท หรือ 0.75% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 131.67 ล้านบาท

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อราคาหุ้นธนาคารคือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ภายในปีนี้ จากเดิมอยู่ที่ระดับ 2% มาอยู่ที่ระดับ 1.50% ในปัจจุบัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM ให้ขยับแคบลง แต่ในทางกลับกัน ก็กลายเป็นผลบวกต่อธนาคารที่เน้นการทำธุรกิจเช่าซื้อ เนื่องจากต้นทุนในการหาเงินทุนในการปล่อยกู้ต่ำลง โดย TISCO และ TCAP ถือเป็นผู้ประกอบการหลักที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มากสุด

 

Back to top button