จัดกลยุทธ์รับมือหุ้นกลุ่มการแพทย์ จับตา 10 พ.ค.นี้ กกร.เคาะมาตรการคุมยาแพง!

จัดกลยุทธ์รับมือหุ้นกลุ่มการแพทย์ จับตา 10 พ.ค.กกร.เคาะมาตรการคุมยาแพง!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลโครงสร้างต้นทุน ตามที่คณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ได้เสนอ

โดยมีผลการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน พบว่า โรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนยาใกล้เคียงกัน แต่มีราคาจำหน่ายแตกต่างกันมาก แม้เป็นยาชนิดเดียวกัน โดยมีกำไรตั้งแต่ไม่มากไปจนสูงถึง 300%, 500%, 800% และ 900%

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนได้แล้ว จะกำหนดมาตรการกำกับดูแลต่อไป ภายใต้หลักเป็นธรรมกับทั้งผู้ประกอบการและผู้ป่วย รวมถึงจะยึดตามกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ที่จะใช้กำกับดูแลได้ หากกกร.เห็นชอบ จะออกเป็นประกาศ กกร.ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

สำหรับมาตรการที่จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กก.) พิจารณาเห็นชอบในการประชุมวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะเป็นมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์สามารถบังคับใช้ได้ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เช่น กำหนดให้ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เปิดเผยทั้งที่เป็นกระดาษ และทางอิเล็กทรอนิกส์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำและปรับ และหากมีการจำหน่ายเกินราคา จะมีโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

 

โดยประเด็นดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ให้คำแนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่มการแพทย์ (เท่ากับตลาด) โดยระบุว่า คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ เคาะมาตรการดูแลแล้ว เตรียมชง กกร. 10 พ.ค.62 สั่งโรงพยาบาลเอกชนปิดป้ายแสดงราคา นำราคายาขึ้นเว็บไซต์ และเปิดทางให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อยานอกโรงพยาบาลได้ พร้อมชงตั้งคณะอนุกรรมการดูแลกรณีโอเวอร์เซอร์วิสแล้วคิดราคาเพิ่ม  โดยมองว่าประเด็นดังกล่าวต้นเป็น Sentiment ลบเล็กน้อย ต่อกลุ่ม รพ.

ทั้งนี้ แม้เป็นความคืบหน้าในการกำหนดมาตรการกำกับดูแล ที่หากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่จะประชุมในวันที่ 10 พ.ค.2562 พิจารณากำหนดมาตรการตามที่คณะทำงานเสนอ จะเป็นผลให้ รพ. ต้องปฏิบัติตาม แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จะกำหนดหลักๆ ประกอบด้วย 1) ให้ รพ. เอกชนเผยแพร่ราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์บนเว็บไซต์ของ รพ. 2) ต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และ 3) ให้ รพ. ยอมให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากภายนอกได้ โดยในใบสั่งยา แพทย์ต้องเขียนชื่อยาให้ชัดเจน ทั้งชื่อทางการค้า ชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยรวมทั้ง 3 ประเด็น ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลเดิมที่ตลาดรับรู้อยู่แล้ว เนื่องจากคณะทำงานฯ เคยมีการให้ข่าวมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จะสังเกตว่ามาตรการข้างต้นยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับการควบคุมเพดานราคา หรือ ส่วนต่างราคาตามที่ตลาดกังวล แต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น จะเกิดการแข่งขันกันในระยะยาว แต่มองว่าจะไม่ได้เกิดการหั่นราคาเพื่อแย่งผู้ป่วยมากนัก เนื่องจากคุณภาพและมาตรฐานการบริการยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ป่วยใช้ตัดสินใจในการใช้บริการอยู่ นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ การนำใบสั่งยาไปซื้อยาเองยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น สามารถใช้กับยาสามัญ (Generic Drug) ได้ แต่อาจใช้กับยาเฉพาะทางบางอย่างไม่ได้ เนื่องจากร้านขายยาส่วนใหญ่ไม่ได้มีระบบการจัดเก็บยาที่ดี และอาจไม่คุ้มที่จะลงทุนเพิ่ม หรือ ผู้ป่วยประกันสุขภาพ ยังเลือกที่จะรับยาจาก รพ. ซึ่งสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับบริษัทประกันได้ตามปกติ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังคงน้ำหนักของกลุ่มการแพทย์เท่ากับตลาด โดยมองมาตรการดังกล่าวเป็น Sentiment ลบในระยะสั้นต่อกลุ่มฯ แต่ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่มาก ขณะที่หุ้น Top Pick ยังเลือก RJH (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 32 บาท) และ BCH (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 21 บาท) ตามเดิม แต่จากราคาที่เริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว จึงเพิ่ม PR9 (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 13 บาท) ที่แนวโน้มกำไรงวดไตรมาส 1/62 จะออกมาโดดเด่นเช่นเดียวกับ BCH และ RJH

Back to top button