คัด 10 หุ้น SET วิ่งแรงในรอบ 4 เดือน ชูนักลงทุนฟันรีเทิร์นเกิน 50%
คัด 10 หุ้น SET วิ่งแรงในรอบ 4 เดือน ชูนักลงทุนฟันรีเทิร์นเกิน 50%
ตลาดหุ้นเดือนพ.ค.62 รับแรงกดดันจากปัจจัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าตลาดหุ้นสัปดาห์นี้คาดฟื้นตัวหลังตอบรับ Sentiment เชิงลบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไปบางส่วนแล้ว รวมถึงคาดกระแสเงินลงทุนต่างชาติจะเพิ่มขึ้น หลังดัชนี MSCI ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย
อย่างไรก็ตามการลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกปี 2562 นับว่าสดใสโดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับปัจจัยบวกหลายเข้ามาหนุนโดยเฉพาะการเมืองที่ได้มีการจัดเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย
ขณะเดียวกันการประชุมเฟดในช่วงที่ผ่านมาได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ตามคาด พร้อมทั้งส่งสัญญาณชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นตอบรับปัจจัยดังกล่าว โดยเฉพาะ Fund Flow ต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในไทยหลังจากทิศทางการเมืองเริ่มชัดเจน
โดยจากการสำรวจของทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเทียบได้จากดัชนี(SET) ณ วันที่ 28 ธ.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 1,563.88 จุด มายืนอยู่ที่ระดับ 1,673.52 จุด ณ วันที่ 30 เม.ย.62 บวกไป 109.64 จุด หรือเพิ่มขึ้น 7.01%
ขณะเดียวกันในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาหุ้นกลุ่ม SET ได้ที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นโดย 10 อันดันแรกของกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 50% ได้แก่ JMART,CBG,CPT,BEC,TCMC,STPI,DDD, B,TQM,NER โดยจะนำเสนอข้อมูลประกอบเพียง 5 อันดับแรกของตารางดังนี้
อันดับ 1 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ราคาหุ้น 4 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรง 96.20% โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 4.74 บาท เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 มาอยู่ที่ระดับ 9.30 บาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงส่วนใหญ่รับแรงหนุนจากแผนธุรกิจปี 62 ที่คาดว่าจะพลิกมีกำไรบวกกับบริษัทลูก JMT ธุรกิจสดใสจึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด JMART รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/62 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.62 รวมบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 118.30 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 187.26 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกกำไรเนื่องจาก บริษัทมีรายได้จากการให้บริการติดตามหนี้และบริการอื่นเท่ากับ 724 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเท่ากับ 167.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 ซึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้ด้อยคุณภาพที่ดีขึ้น
ขณะที่บริษัทมีต้นทุนขายและบริการรวม 1,964.8 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเท่ากับ 489.9 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 20 โดยต้นทุนขายและบริการรวมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 536.4 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีที่ผ่านมา
ด้านนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่า ภาพรวมกลุ่มเจมาร์ทในปี 62 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิ จากที่ขาดทุนสุทธิ 277.06 ล้านบาทในปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามธุรกิจของบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ที่คาดว่าจะสามารถทำรายได้และกำไรสุทธินิวไฮได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทย่อยธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (J Mobile), ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech), ธุรกิจให้เช่าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) และบมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) จะกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปีนี้
บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำ “ซื้อ” หุ้นบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART พร้อมประเมินราคาเป้าหมายที่ 11 บาทต่อหุ้น ซึ่งได้แนะนำในรายงาน Bull race (และหุ้นขึ้นมาตามคาด 15%) หลังจากที่ผู้บริหารมา Roadshow ให้กับนักลงทุน และกองทุนใน ประเทศ พบว่า บริษัทมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และผู้บริหารได้เข้าใจและแก้ไข Pain-Point ที่ทำให้เกิดการขาดทุนไปแล้ว
ดังนั้นจึงคาดว่าในปีนี้บริษัทฯ จะพลิกกลับมามีกำไรอย่างแข็งแกร่ง และ Valuation ปัจจุบัน PE เพียง 16 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 20 เท่า และเมื่อระบบ DDLP เปิดใช้งานและมีรายได้ คาดหุ้นมีโอกาส Re-rate PE ขึ้นไป เกิน 30 เท่า ตามอุตสาหกรรม software service/fintech
อันดับ 2 บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ราคาหุ้น 4 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรง 89.43% โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 30.75 บาท เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 มาอยู่ที่ระดับ 58.25 บาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 คาดเก็งกำไรหลังหุ้นเป็นขาลงมานาน ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์มองว่าผลงานปีนี้จะฟื้นตัวเด่นทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นแรงในช่วงดังกล่าว
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า CBG รายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส1/62 อยู่ที่ 419 ล้านบาท (+132% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, – 18% QoQ) ใกล้เคียงกับตลาดคาด แต่สูงกว่าที่คาดจาก SG&A expense ที่ต่ำกว่าที่ประเมินมาก โดยผลประกอบการที่เติบโตโดดเด่น เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลจาก 1) ฐานกำไรสุทธิที่ต่ำในไตรมาส1/61
2) GPM ที่ขยายตัว และ SG & A to total sales ที่ปรับตัวลดลง เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2019 – 20 ขึ้น 9.6% และ 3.7% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงาน ไตรมาส1/62 ที่ออกมาสูงกว่าที่เราคาด โดยเราปรับ GPM ขึ้น และ SG & A to total sales เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ต่ำกว่าประมาณการเดิม
ประเมินกำไรสุทธิปี 2019 ที่ 1,778 ล้านบาท (+53.4%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) เราปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” และปรับราคาเป้าหมายเป็น 69.00 บาท ปัจจุบัน CBG เทรดอยู่ที่ PER 32.5x เรามองว่าราคาปัจจุบันยังน่าสนใจ โดย CBG ยังมี Upside จากตลาดต่างประเทศอีกมาก
อันดับ 3 บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT ราคาหุ้น 4 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรง 89.23% โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 0.65 บาท เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 มาอยู่ที่ระดับ 1.23 บาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 คาดเก็งกำไรแผนธุรกิจออกมาโดดเด่นบวกกับหุ้นขนาดเล็กและเป็นขาลงมานานทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคารอบใหม่
โดยล่าสุดบริษัทรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2562 มีกำไรสุทธิ 3.93 ล้านบาท โต278% จากปีก่อนอยู่ที่ 1.04 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากการให้บริการรับเหมาและติดตั้งเพิ่มขึ้น
ด้านนายสมศักดิ์ หลิมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ราว 1,100 ล้านบาท หรือเติบโต 10% จาก 963 ล้านบาทในปีก่อน พร้อมคาดว่าอัตรากำไรสุทธิจะกลับมาสู่ระดับปกติที่ใกล้เคียงกับปี 60 ที่ทำได้ระดับ 11.35% โดยปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) ราว 400 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ในปีนี้ทั้งหมด
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างประมูลงานใหม่ของการประปาประมาณ 6-7 โครงการ มูลค่าประมาณ 250 ล้านบาท โดยการเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าจะชนะการประมูลในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ในช่วงไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป
อันดับ 4 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ราคาหุ้น 4 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรง 86.72% โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 4.82 บาท เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 มาอยู่ที่ระดับ 9.00 บาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 คาดเก็งกำไรแผนธุรกิจออกมาโดดเด่นบวกกับหุ้นเป็นขาลงมานานและมีปัจจัยบวกเข้ามานหนุนทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคารอบใหม่
โดยปัจจัยบวกที่เข้ามาหนุนในช่วงดังกล่าวได้แก่ มาตรการเยียวยาเรียกคืนคลื่น 700MHz โดยนักวิเคราะห์มองว่าบริษัทจะได้ รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการดังกล่าว อีกทั้งมีประเด็นลุ้นเข้าคำนวณ SET100 รอบใหม่ อีกทั้งละคร “กรงกรรม” กระแสแรง ดันเรตติ้งช่อง “3HD” ติด TOP3 ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในช่วงดังกล่าว
บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลแจ้งคืนช่องในระบบดิจิทัลทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ ผู้ช่อง VoiceTV21 ช่องสปริงนิวส์ 19 ช่องสปริง 26 (Now26) ช่อง MCOT Family (14) ช่อง ไบรท์ทีวี20 ช่อง 13 แฟมิลี่ และช่อง 28 3SD ส่งผลบวกต่อผู้ที่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมแต่จำกัด เนื่องจากช่องที่คืนมีเรตติ้งที่ค่อนข้างน้อย และเม็ดเงินโฆษณาไม่ได้มากอยู่แล้ว ผลกระทบต่อผู้ที่คืนช่อง อย่าง BEC และ MCOT จะได้รับผลประโยชน์ 2 ต่อ คือ เงินชดเชย และค่าดำเนินงานที่จะหายไป
ทั้งนี้ มองว่าผลประกอบการของ BEC จะกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้งหลังจากคืนช่องที่ขาดทุนไป และกลับมาเน้นช่อง 3HD เพียงช่องเดียว มองว่ากำไรของ BEC จะบวกกลับมาปีนึงราว 800 ล้านบาท หนุนให้กำไรกลับไปสู่ระดับ 1,000 ล้านบาทครั้ง (EPS ที่ 0.50 บาท) หากอิง PER ที่ 20 เท่า จะได้ราคาเหมาะสมที่ 10 บาท เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” BEC (งบไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมาอ่อนแอ แต่คาดเป็นจุดต่ำสุด)
อันดับ 5 บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TCMC ราคาหุ้น 4 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรง 85.54% โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 1.66 บาท เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 มาอยู่ที่ระดับ 3.08 บาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 คาดนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรแผนธุรกิจปีนี้โดดเด่นบวกกับราคาหุ้นต่ำมูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้น ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.97 บาททำให้นักลงทุนเข้าเก็งกำไรในช่วงดังกล่าว
โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมที่ 7-10% หรือเติบโตทะลุ 10,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 9,596 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จะมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจพรมและวัสดุปูพื้นคิดเป็น 35%, กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์คิดเป็น 50% และกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มบุในรถยนต์คิดเป็น 15% ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน