เปิดหุ้นกลุ่มรับเหมาฯตัวท็อปพร้อมรับงานบิ๊กโปรเจก-ประสิทธิภาพทำกำไรเหนือคู่แข่ง!
เปิดหุ้นกลุ่มรับเหมาฯตัวท็อปพร้อมรับงานบิ๊กโปรเจก-ประสิทธิภาพทำกำไรเหนือคู่แข่ง!
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด ที่ได้ระบุว่า วานนี้มีเม็ดเงินจากกองทุนต่างประเทศประเภท Passive Fund เข้ามาช่วงท้ายก่อนตลาดปิด จุดประสงค์เพื่อล้อผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนี MSCI มากที่สุด ดังนั้นหลังจากวันมีผลบังคับใช้น่าจะเริ่มเห็นการทยอยขายทำกำไรจากเก็งกำไรในหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณดัชนี MSCI อย่างไรก็ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาหุ้นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญ
โดยแนะนำเล่นหุ้นที่มีอัตราปันผลสูง และหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์วัฎจักรการลงทุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ คือ หุ้นกลุ่มรับเหมาขนาดใหญ่ อาทิ BBL (ปันผลสูง) และกลุ่มรับเหมาก่อสร้างตัวใหญ่อย่าง ITD, STEC, CK, UNIQ
ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวจากปีก่อนหน้า หลังจากภาคการค้าระหว่างประเทศ ชะลอตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้คาดหวังปัจจัยขับเคลื่อนจะมาจากในประเทศ คือ การบริโภคครัวเรือน (รัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 2/62 อาทิ เติมเงินในบัตรสวัสดิการและนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวลดหย่อนภาษี 1.5 หมื่นบาท) และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนขึ้น น่าจะทำให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่คาดจะต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีโครงการประมูลภาครัฐ และโครงการที่เกี่ยวเนื่อง EEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562-2563 คาดวงเงิน 1.36 ล้านล้านบาท ล่าสุด รัฐเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ กล่าวคือ วันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเสนอร่างสัญญาของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.25 แสนล้านบาท ให้ ครม. พิจารณา ซึ่งหากอนุมัติ จะมีการลงนามเซ็นสัญญาในวันที่ 15 มิ.ย. 2562 และเร่งโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 วงเงิน 5.54 หมื่นล้านบาท เสนอร่างสัญญาให้ ครม. รับทราบสัปดาห์หน้า 4 มิ.ย. 2562 จากนั้นจะส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณาภายใน 19 มิ.ย. 2562 และเตรียมเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาผลการคัดเลือกภายใน 9 ก.ค. 2562 และคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนก.ค. 2562
โดยภาพรวมกลุ่มรับเหมาปีนี้เชื่อว่ายังมีแรงหนุนกำไรจากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่ได้ทำการเก็บรวมรวมตัวเลขสำหรับบริษัทรับเหมา 11 แห่ง ณ.สิ้น ไตรมาส 1/62 รวมกันราว 4 แสนล้านบาท เทียบเท่ายอดรับรู้รายได้ประมาณ 2.5 ปี ส่วนแรงขับเคลื่อนราคาก็น่าจะเป็นไปตามความคืบหน้าในการจัดประมูลโครงการก่อสร้างใหม่ๆ ดังกล่าวมาข้างต้น
ขณะที่หุ้นที่ได้ประโยชน์วัฎจักรการลงทุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ คือ หุ้นกลุ่มรับเหมาขนาดใหญ่ ITD, STEC, CK, UNIQ โดย Top pick ของกลุ่มเลือก STEC ราคาเหมาะสม 29.25 บาท มีจุดเด่นคือ มี Backlog มั่นคง 9.8 หมื่นล้านบาท รองรับรายได้ 3 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องพึ่งงานใหม่ และมีประสิทธิภาพการทำกำไรเหนือกว่าคู่แข่ง Net profit margin ราว 6% เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3% และหากพิจารณาฐานะการเงินดีมาก ณ.สิ้น ไตรมาส 1/62 มีเงินสดและเงินลงทุนชั่วคราว 1 หมี่นล้านบาท และมีอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 4.6 พันล้านบาท และเงินลงทุนหุ้น GULF จำนวน 40 ล้านหุ้น ถ้าคิดราคาตลาดราว 3.6 พันล้านบาท ราคาทุนที่ IPO 45 บาท (ราคาปัจจุบัน 102.5 บาท มีกำไรเกือบ 1.8 พันล้านบาท) ที่พร้อมแปลงเป็นเงินสดเมื่อต้องการใช้เงิน ทำให้ STEC อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบสำหรับการเข้าประมูลงานภาครัฐที่ระยะหลัง เริ่มออกมาในรูปแบบรัฐ-เอกชน ร่วมลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ มองว่าถึง แม้ต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยมาแล้วกว่า 5.2 พันล้านบาท หลัง MSCI ประกาศรายชื่อหุ้นไทยที่ถูกเข้าคำนวณในดัชนี วันที่ 14 พ.ค. 62จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามราคาหุ้นที่ถูกคำนวณในดัชนี MSCI ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง และยัง Outperform ตลาดมาก ด้วยแรงเก็งกำไรของนักลงทุนที่เริ่มให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากขึ้น รวมถึงมีเม็ดเงินจากกองทุนประเภท Active Fund เข้ามาเก็งกำไรก่อนวันมีผลบังคับใช้อีกแรง หนุนให้หุ้นที่ถูกเข้าคำนวณ อย่าง PSH ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.6%, TASCO 7.8%, BDMS 5.7% ขณะที่ SET Index ปรับตัวลดลง 0.93% ส่วนหุ้น INTUCH, DTAC และ RATCH (เริ่มถูกขายทำกำไร หลังจากมีการเก็งกำไรกันมาก่อน MSCI)
ส่วนวันที่ 28 พ.ค. 62 เป็นวันสุดท้ายก่อนมีผลบังคับใช้ โดยปกติจะมีมูลค่าซื้อเข้ามาหนาแน่นเป็นพิเศษช่วงก่อนตลาดปิด ราว 1- 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจะมีเม็ดเงินจากกองทุนต่างประเทศประเภท Passive Fund เข้ามาช่วงท้ายก่อนตลาดปิด จุดประสงค์เพื่อล้อผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนี MSCI มากที่สุด ดังนั้นหลังจากวันมีผลบังคับใช้น่าจะเริ่มเห็นการทะยอยขายทำกำไรจากเก็งกำไรในหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณดัชนี MSCI อย่างไรก็ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาหุ้นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญ
ทั้งนี้มองว่า ตลาดหุ้นยังขาดปัจจัยหนุนใหม่จากปัจจัยภายนอก ทั้งประเด็น Trade War ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ Fund Flow ยังชะลอการไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค ขณะที่ในประเทศมีประเด็นสำคัญ ครม.มีการพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงประเด็นการเรียกเก็บภาษีในอัตรา 15% จากดอกเบี้ยของกองทุนรวมทุกชนิด มีผลบังคับใช้ 20 ส.ค. 62 (รายละเอียดสามารถติดตามอ่านบทวิเคราะห์ Quantitative Analysis ในวันศุกร์ที่ผานมา) กดดันผลตอบแทนจากตราสารหนี้ให้ต่ำลง แต่หนุนให้ Earning Yield Gap. ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกว้างขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ 4.47% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.28% ทำให้เชื่อว่า สินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ ปันผลสูง รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนอสังหาฯ เป็นทางเลือกทดแทนที่เหมาะสมในลำดับต้นๆ โดยฝ่ายวิจัยฯ คัดเลือกสินทรัพย์หรือหุ้นที่น่าสนใจลงทุนดังนี้
โดย Top Picks เลือก ยังชอบ BBL(FV@B227) เป็นหุ้นที่มี Dividend Yield 4% ต่อปี สูงสุดในกลุ่ม ธ.พ. ขนาดใหญ่ ผันผวนต่ำ และ FPT ([email protected]) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็น Trade War มีความพร้อมและที่ดินเหลือพอที่จะรองรับธุรกิจใหม่จากจีนย้ายเข้ามาลงทุนในไทย คาดกำไรปี 2562 เป็น 1.25 พันล้านบาท เติบโต 89.6%YoY (ยังไม่รวม GOLD) ทั้งนี้เมื่อรวมมูลค่าเพิ่มบนหุ้น GOLD อีก 1.14 บาท จะเพิ่มมูลค่าพื้นฐาน FPT ขึ้นเป็น 21.44 บาท