กลุ่มเกษตร-อาหารมาวิน! โบรกฯเพิ่มน้ำหนักลงทุนมองแนวโน้ม “Outperform”
กลุ่มเกษตร-อาหารมาวิน! โบรกฯเพิ่มน้ำหนักลงทุนมอง แนวโน้ม “Outperform”
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ที่ได้วิเคราะห์หุ้นในกลุ่มเกษตรและอาหาร โดยให้น้ำหนักมากกว่าตลาด หลังจากมองว่าส่วนใหญ่ราคาผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตรปรับในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหุ้นในกลุ่มอาหารที่จะได้รับปัจจัยบวกได้แก่ กลุ่มน้ำตาล กลุ่มยางพารา ผู้ดำเนินธุรกิจเนื้อไก่ เนื้อสุกร โดยแนะนำซื้อ KSL- CPF-TFG-GFPT
ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส มองว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลโลกปรับเพิ่มขึ้นสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย หลังจากที่ปรับลดลงไปในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผลผลิตน้ำตาลโลกในปี 61/62 จะเข้าสู่ภาวะสมดุล เนื่องจากสภาพอากาศที่แย่ลง กดดันผลผลิตน้ำตาลของบราซิล อินเดียและไทยออกสู่ตลาดลดลงจากปีก่อน แต่ปริมาณสต็อกน้ำตาลยังมีอยู่สูง จึงประเมินว่าราคาน้ำตาลดิบโลกจะเคลื่อนไหวในกรอบ 11-13 เซ็นต์/ปอนด์ ในปี 62
โดยราคาน้ำตาลเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีบัญชี 2561/62 (พ.ย. 61) อยู่ที่ 12.65 เซ็นต์/ปอนด์ ทรงตัวเมื่อเทียบกับราคาน้ำตาลเฉลี่ยปี 2560/61 ทั้งนี้ บริษัท อ้อยและน้ำตาลทราย จำกัด (อนท.) ได้ทำสัญญาขายน้ำตาลดิบล่วงหน้าปี 2561/62 ไว้แล้ว 40% ที่ราคาขายน้ำตาลเฉลี่ย 13.5 เซ็นต์/ปอนด์ (รวมไทย พรีเมี่ยมราว 0.7 เซ็นต์/ปอนด์แล้ว) ยังสอดคล้องกับสมมติฐานราคาขายน้ำตาลดิบเฉลี่ยปี 2561/62 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ที่ 14 เซ็นต์/ปอนด์ นอกจากนี้ ยังประเมินว่าผู้ประกอบการน้ำตาลไทยจะได้ประโยชน์จากผลผลิตอ้อยที่ออกสู่ตลาดในระดับสูงในปี 2562 ทำให้มีวัตถุดิบกากอ้อยในการผลิตไฟฟ้า และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดลง ส่งผลบวกต่อธุรกิจต่อยอด อาทิ ธุรกิจไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อราคาขายเฉลี่ยปี 61/62 ในกลุ่มน้ำตาล ได้แก่ KSL ,KTlS ,KBS และ BRR ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาหุ้นกลุ่มน้ำตาลได้สะท้อนราคาน้ำตาลที่ตกต่ำไปมากแล้ว จนราคาหุ้น KSL ซื้อขายที่ PBV ปี 62 ต่ำเพียง 0.7 เท่า จึงเน้นหาจังหวะเข้าลงทุน KSL ให้ราคาเหมาะสม 3.88 บาท
นอกจากนี้ สถานการณ์ราคายางพาราโลกปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน จากแนวโน้มฝนตกในพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของไทยและจีนในสัปดาห์นี้ ทำให้เกษตรกรออกไปกรีดยางได้ลดลงชั่วคราว หนุนราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และกดดันความต้องการใช้ยางพารา ส่งผลให้ราคายางพาราโลกมีโอกาสปรับลดลงได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562
ทั้งนี้ ราคายางแท่งล่าสุดเท่ากับ 1.53 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และราคายางแท่งเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2562 เท่ากับ 1.44 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทรงตัวจากราคายางแท่งเฉลี่ยปี 2561 ยังสอดคล้องกับสมมติฐานราคายางแท่งปี 2561 ที่ประเมินไว้ที่ 1.40 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน
โดยจากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่า ทุกๆ 5% ที่ราคายางแท่งเปลี่ยนแปลงลดลงจากสมมติฐานราคายางแท่งปี 2562 ที่ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2562 และ Fair value ของ STA ให้ลดลง 3.6% และ 0.2% จากคาดการณ์ปัจจุบันราคายางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้นถือเป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อ STA (Switch FV@B13) เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติแปรรูป ซึ่งส่งออกในสัดส่วนราว 85% ของยอดขายรวม แต่ธุรกิจยางพารายังมีความผันผวน จากความกังวลสงครามการค้า จึงยังแนะนำ Switch ไปลงทุน CPF แทน
ด้าน ราคากากถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่ราคากากถั่วเหลืองปรับลดลงไปต่ำมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ราคากากถั่วเหลืองดีดตัวขึ้นมาบ้าง โดยราคากากถั่วเหลืองปัจจุบันก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ จากความกังวลสงครามการค้าและปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดในประเทศจีนและเวียดนาม ทำให้แนวโน้มผลผลิตสุกรของจีนและเวียดนามจะลดลงถึงกว่า 130 ล้านตัวในปี 2562 หรือราว 12% ของปริมาณการเลี้ยงสุกรในโลก ทำให้แนวโน้มความต้องการใช้กากถั่วเหลืองจากจีนและเวียดนามปรับลดลง ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้ราคากากถั่วเหลืองโลกทรงตัวต่ำในช่วงที่เหลือของปี 2562
โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อผู้ประกอบการอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของไทยเล็กน้อย ซึ่งมีต้นทุนกากถั่วเหลืองคิดเป็นสัดส่วน 30% ของค่าใช้จ่ายทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมด โดยราคากากถั่วเหลืองในไทยเฉลี่ยเดือน เม.ย.62 อยู่ที่ 14.75 บาท/กก. แม้ปรับเพิ่มขึ้น 1.0% mom แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ราคากากถั่วเหลืองเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2562 อยู่ที่ 14.64 บาท/กก. ปรับลดลง 8.8% จากราคากากถั่วเหลืองเฉลี่ยปี 2561 ต่ำกว่าสมมติฐานราคากากถั่วเหลืองเฉลี่ยปี 2562 ที่กำหนดไว้ที่ 18 บาท/กก. จึงยังแนะนำซื้อ CPF ([email protected]) TFG ([email protected]) และ GFPT ([email protected]) ขณะที่ธุรกิจเป็ดของ BR ([email protected]) ยังฟื้นตัวช้าจึงแนะนำ Switch ไปลงทุน CPF แทน
สำหรับราคากากถั่วเหลืองที่ปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลบวกต่อ TVO (Switch FV@25 บาท) เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์อิงกับราคาตลาดโลก และมีรายได้จากการขายกากถั่วเหลืองคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้รวม แต่ราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าพื้นฐานไปแล้ว จึงแนะนำ Switch ไปลงทุน CPF แทน
นอกจากนี้ ราคาไก่เป็นทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากผลผลิตไก่และความต้องการบริโภคไก่ยังใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ เพราะผู้ประกอบการไก่รายใหญ่ยังคงเลี้ยงไก่ในระดับสูงถึง 34 ล้านตัว/สัปดาห์ เพื่อรองรับตลาดส่งออกไก่ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าแนวโน้มราคาไก่มีโอกาสทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงปลายงวดไตรมาส 3/62 จากช่วง high season ของการส่งออกไก่สู่ต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางระบายไก่สู่ต่างประเทศมากขึ้น และแนวโน้มราคาไก่เป็นทยอยฟื้นตัวตามทิศทางราคาสุกรหน้าฟาร์มที่ทรงตัวสูงในปี 2562 เพราะเป็นสินค้าทดแทนกัน ทำให้หากราคาสุกรอยู่ในระดับสูงมากเกินไปก็จะทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคไก่มากขึ้นแทน
ทั้งนี้ ราคาไก่เป็นเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2562 เท่ากับ 34.10 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 0.1% จากราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2561 ยังสอดคล้องกับสมมติฐานราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 34 บาท/กก.
โดย ฝ่ายวิจัยแนะนำเข้าลงทุน CPF ราคาเหมาะสม 31.50 บาท , TFG ราคาเหมาะสม 4.50 บาท และ GFPT ราคาเหมาะสม 16.95 บาท รับธุรกิจไก่ฟื้นตัว จากการขยายตลาดส่งออกมากขึ้นในปี 2562
ด้านราคาสุกรหน้าฟาร์มทรงตัวสูงจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ทำให้สุกรเจริญเติบโตได้ช้าลง เพราะกินอาหารได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดลดลงบ้าง โดยเฉพาะฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรในฟาร์มเปิด ทำให้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เลี้ยงสุกรในฟาร์มปิด เพราะฟาร์มปิดสามารถควบคุมอุณภูมิภายในโรงเรือนได้ดีกว่ามาก ทั้งนี้ ราคาสุกรที่ทรงตัวสูงในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสุกรล้นตลาดในประเทศได้คลี่คลายลงไปแล้ว และคาดว่าเกษตรกรรายย่อยและรายกลางที่ประสบปัญหาขาดทุนหนักในช่วง ครึ่งปีหลังของปี 60 และ 61 จะยังไม่รีบกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่เร็วๆนี้ เพราะจะระมัดระวังการเลี้ยงสุกรมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาสุกรจะยืนสูงได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562
ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในสุกรของฟาร์มสุกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรหลังบ้าน (ฟาร์มเปิด) ในประเทศจีน เวียดนามและกัมพูชา ปัจจุบันโรคดังกล่าวยังไม่ระบาดเข้าประเทศไทยและรัฐบาลไทยได้เตรียมแผนรับมือและป้องกันครบวงจรไว้แล้ว นอกจากนี้ CPF และ TFG ยังเลี้ยงสุกรในฟาร์มปิด สามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีมาก จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างจำกัด
ทั้งนี้ ราคาสุกรเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2562 เท่ากับ 70.37 บาท/กก. ปรับเพิ่มขึ้นถึง 25.6% จากราคาสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยปี 2561 สูงกว่าสมมติฐานราคาสุกรเฉลี่ยปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้แบบระมัดระวังที่ 56 บาท/กก. โดยทิศทางราคาสุกรที่ฟื้นตัวเป็นผลบวกต่อ TFG และ CPF ประกอบธุรกิจสุกรในประเทศ 22% และ 14% ตามลำดับ
โดยประเมินว่าธุรกิจสุกรในไทยจะฟื้นตัวชัดเจนในปี 2562 จึงแนะนำซื้อ CPF ราคาเหมาะสม 31.50 บาท และ TFG ราคาเหมาะสม 4.50 บาท