โผหุ้น 4 กลุ่มหลักเสี่ยงเจอผลกระทบนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ พร้อมเปิด 2 กลุ่มหลักมีปัจจัยหนุน

โผหุ้น 4 กลุ่มหลักเสี่ยงเจอผลกระทบนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ พร้อมเปิด 2 กลุ่มหลักรับปัจจัยบวก


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ที่ทำการรวบรวมหุ้นที่คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวก และปัจจัยกดดันหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ภายหลังจากมีความชัดเจนในด้านของการเมือง

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า หลังจากวันที่ 11 มิ.ย.2562 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ลำดับกระบวนการนับจากนี้จะเป็นเรื่องการจัดวางตัวบุคคลที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ซึ่งแม้จะมีกระแสการต่อรองในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านขั้นตอนนี้ไปได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก

โดยประเมินว่าน่าจะสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในกรอบเวลาไม่เกินสัปดาห์หน้า และเมื่อได้การโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการในการที่ต้องแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อดำเนินกระบวนการต่างๆ แล้วเสร็จ ภายใน 15 วัน รัฐบาลเดิม และ คสส. ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง และรัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. 2562 ผลสรุปของกระบวนการนี้คือการได้มาซึ่งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ที่นักลงทุนให้ความสำคัญคือหน้าตารัฐบาลใหม่ ว่าจะมีบุคคลใดเข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงสำคัญที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ประเด็นเร่งด่วนที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่ง น่าจะเป็นเรื่องการจัดทำงบประมาณ ให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะปฎิบัติ โดยน่าจะเน้นในส่วนของการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายภาคครัวเรือนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการรัฐ การจัดทำโครงการ ช็อปช่วยชาติ  การปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นต้น

อย่างไรก็ตามในขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณคาดว่าน่าจะเห็นการเริ่มพิจารณาวาระที่ 1 ใน สภาผู้แทนราษฎร์ ในเดือน ก.ย.2562 และหากไม่มีการเร่งรัดใดๆ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ก็อาจมีผลบังคับใช้ต้นปี 2563 ซึ่งถือว่าล่าช้า นอกจากนี้ยังต้องติดตามเรื่องของ เสถียรภาพรัฐบาล เนื่องจากมีคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร์ อยู่ในระดับปริ่มน้ำ โดยภาพรวมประเด็นทางการเมืองในช่วงนี้ไม่น่าจะมีน้ำหนักในการสร้างแรงกดดันต่อ SET Index มากนัก

รัฐบาลใหม่น่าจะเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคตามที่หาเสียง

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยปี 2562  คาด GDP Growth ขยายตัว  2.7% ชะลอจาก 4.1% ในปี 2561  โดยคาดแนวโน้มเศรษฐกิจงวดไตรมาส 2/62-ไตรมาส 4/62 จะอ่อนตัวต่อเนื่อง  จากผลกระทบของภาคส่งออกชะลอตัว   และการเบิกจ่ายงบประมาณอาจจะล่าช้า ตามการจัดตั้งรัฐบาล  ทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากภายในประเทศ  คือ การลงทุนขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน   และมาจากการบริโภคภาคครัวเรือน ที่คาดว่ายังมีแรงหนุนจากมาตการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐบาลชุดเดิมที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะเวลาไตรมาส 2/62-ไตรมาส 3/62 หลักๆ มุ่งไปที่บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยให้เงิน 300-500 บาท/เดือน ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 จนถึง 30 ก.ย. 2562  (รัฐบาลใช้เงินอัดฉีดมาตรการนี้ 3 พันล้านบาท/เดือน ล่าสุด รัฐบาลมีวงเงินเหลือสำหรับมาตรการนี้ราว 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอจนถึงสิ้นปี) และยังมีมาตรการอื่นๆ อาทิ นำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองมาลดหย่อนภาษี  1.5 หมื่นบาท

และเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำจะสานต่อนโยบายต่างๆที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียง โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน, ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10%ทุกระดับขั้น

ค่าแรงขั้นต่ำ400-425 บาท/วัน กระทบกลุ่มรับเหมาฯ, ค้าปลีก, ชิ้นส่วนฯ, เกษตรอาหาร

โดยมองว่ามีโอกาสที่รัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้านโยบายตามที่หาเสียงไว้ดังกล่าว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอลง หลักๆให้น้ำหนักที่ นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น   400-425 บาท/วัน  หรือปรับเพิ่มราว  23% จากปัจจุบันอยู่ที่ 330 บาท/วัน จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แต่ในทางตรงกันข้ามจะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ คือ

กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉลี่ยค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนรวม  10-15% ของต้นทุนก่อสร้าง ASPS คาดหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 23% ดังกล่าวจะทำให้บริษัทรับเหมามีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงประมาณ 2% โดยปัจจุบันบริษัทรับเหมาฯมี Gross margin เฉลี่ย 8-12% และมี Net Profit margin 2-6% โดยบริษัทที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บริษัทมีอัตรากำไรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม และใช้แรงงานสูง อย่าง ITD, NWR

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน บริษัทรับเหมามีการปรับวิธีการทำงานด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้ ลดการใช้แรงงานคน และใช้วิธี Sub contract งานเป็นส่วนๆออกไปให้กับผู้รับเหมาช่วง  โดยเชื่อว่างานประมูลภาครัฐจำนวนมากที่กำลังจะออกมา น่าจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลง ส่งผลต่ออัตรากำไรของงานก่อสร้างใหม่ๆในอนาคตที่จะดีขึ้น เมื่อถัวเฉลี่ยกับงานใน Backlog เดิมที่จะถูกกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง

กลุ่มค้าปลีก  พบว่าโดยเฉลี่ยอุตสาหรรม จะมีค่าใช้จ่ายพนักงานราว 30% ของ SG&A และ 6%   ของยอดขายรวม โดยประเมินหากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อกลุ่มที่มีการใช้แรงงานทักษะทั่วไป ซึ่งมีค่าจ้างที่ต่ำกว่า 400 บาท อาทิ กลุ่มร้านสะดวกซื้อ CPALL, ไฮเปอร์มาร์เก็ตและค้าส่ง BJC MAKRO และ ห้างสรรพสินค้า ROBINS

ขณะที่กลุ่มร้านค้า Specialty Store (HMPRO, COM7 และ BEAUTY) คาดกระทบจำกัด เนื่องจากเน้นไปที่กลุ่มพนักงานที่ต้องมีทักษะการขายสูงกว่า ทำให้มีโครงสร้างค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว และมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคคาดช่วยชดเชยผลกระทบ

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ สัดส่วนราว  5-8% ของต้นทุนรวม(บางบริษัทมีแรงงานอยู่ต่างประเทศ อาทิ DELTA HANA ราว 2%ของต้นทุนรวม)  เบื้องต้นฝ่ายวิจัยคาดการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรกลุ่มชิ้นส่วนฯ ราว 11.7% จากปัจจุบัน  นำโดย SVI ,HANA , KCE , และ DELTA ตามลำดับ

กลุ่มเกษตร-อาหาร มีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ ราว 1.5-8% ของต้นทุนรวม หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 23% เป็น 400 บาท/วัน จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรกลุ่มเกษตร-อาหารราว  32.9% จากปัจจุบัน

กลุ่มยานยนต์  มีค่าใช้จ่ายแรงงานทางตรงราว 5%-10% ของยอดขาย(ยกเว้น PCSGH งวด 3Q61 นับเฉพาะโรงงานในไทยมีต้นทุนแรงงาน 17.4% ของยอดขาย)  และ SAT มีพนักงาน อยู่ในแผนกผลิตจำนวน 1,396 คน กรณีที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ23%  จะส่งผลให้ค่าจ้างพนักงานในแผนกผลิตเป็น 134 – 142 ล้านบาท / ปี หรือกระทบต่อกำไรประมาณ 20 – 30 ล้านบาท/ปี  เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น เชื่อว่าจะเกิดการเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่เศรษฐกิจต่อ ทั้งการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และวัฏจักรการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ (ลงทุนใหม่ และสานต่อโครงการเดิม) รวมไปถึงโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ EEC ผนวกกับประเด็นสงครามการค้า ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นนักลงทุนลงจีนจะย้ายหรือขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลบวกต่อหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะกลุ่มนิคมฯ WHA ([email protected]), AMATA ([email protected]) และ FPT ([email protected]) และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้ภาพรวมในช่วงที่ผ่านมาจะผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัว แต่เชื่อว่าปัจจัยบวกพิเศษจากโครงการลงทุนดังกล่าวข้างต้น จะหนุนสินเชื่อให้เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 62 ทำให้การเติบโตของสินเชื่อสุทธิทั้งปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 5.7% จากปีก่อนยังเป็นไปได้ ขณะที่ NIM ยังค่อนข้างทรงตัว และในช่วงครึ่งปีหลังไม่น่าจะมีผลกระทบจากการบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงาน ตาม พรบ. แรงงานฉบับใหม่ เพราะได้บันทึกไปในช่วงก่อนแล้ว ด้วยมุมมองธุรกิจที่เป็นบวกมากขึ้น และราคาหุ้นในกลุ่มฯ ผ่านการปรับฐานไปมากแล้ว โดย P/BV กลุ่มฯ อยู่ที่ 1.03 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ยกลุ่มฯ 8 ปีย้อนหลัง ที่ 1.45 เท่า ขณะที่ BBL(FV@B227) มี P/BV เพียง 0.88 เท่า (ต่ำสุดในธ.พ.ขนาดใหญ่) และยังมี Div Yield ที่สูงกว่า 4% จึงเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในยามนี้

Back to top button