จัดกลยุทธ์ลงทุนคัด 11 หุ้นโบรกฯหั่นประมาณการณ์กำไร-ราคาเป้าหมายระนาว!

จัดกลยุทธ์ลงทุนคัด 11 หุ้นโบรกฯหั่นประมาณการณ์กำไร-ราคาเป้าหมายระนาว!


สัปดาห์นี้นักวิเคราะห์มองว่า SET แกว่งตัว 1,710 – 1,725 จุด เนื่องจากนักลงทุนจะชะลอการซื้อ/ขายเพื่อติดตาม 2 การประชุมสำคัญในวันที่ 30 – 31 ก.ค. ได้แก่ การประชุม FED ที่ประเมินว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็น 2.25% เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงติดตามคำแถลงของประธานเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในช่วงถัดไปดังนั้นยังคงแนะนำเลือกเล่นแบบรายตัวที่มีปัจจัยบวก

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจหุ้นจากบทวิเคราะห์เดือนกรกฎาคม 2562 ที่มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิและราคาเป้าหมายไปแล้ว สำหรับครั้งนี้จะนำเสนอกลุ่มหุ้นที่ปรับลดประมาณการณ์กำไรและราคาเป้าหมายมาเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการลงทุนอีกด้าน โดยกลุ่มหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 11 ตัว อาทิ GPSC, GLOBAL,KKP,SAT,DDD,KTC,DELTA,QH,ITEL,BANPU และ PTTGC ซึ่งบทวิเคราะห์ได้ระบุไว้ดังนี้

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เมื่อวันศุกร์(26ก.ค.62)ที่ผ่านมา บอร์ดของ GPSC มีมติเพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ที่ราคา 56 บาท ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิม : 0.8819 หุ้นใหม่

สำหรับราคา RO นั้นต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 65 บาท ในขณะที่จำนวนเงินที่จะได้ราว 7.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกันทำให้สมมติฐานค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะลดลง (กู้น้อยกว่าที่คาด) หนุนกำไรหลักของขึ้น 1.8-5.3% ในช่วงไตรมาส2/62-2564 แต่จำนวนหุ้นมากกว่าที่คาดส่งผลให้เกิด Dilution effect ต่อ EPS ของในปี 62-64 ราว 7.7-10.8% มีการปรับราคาเป้าหมายลงมาจาก 66 บาทเป็น 62 บาท และปรับคำแนะนำลงจาก ถือ เป็น ขาย

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL  ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 19.00 บาท (ปรับลงจาก 20.00 บาท เพราะขยายสาขาน้อยกว่าที่คาด) คิดเป็น PER ปี 2019 ที่ 35 เท่า (5yr. avg PER+0.5SD)

ทั้งนี้ GLOBAL จะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ขณะที่กำไรไตรมาส 2/62 แนวโน้มออกมาดี เทียบไตรมาสก่อนหน้า จากการเป็นช่วงซ่อมแซมบ้านและลดการทำโปรโมชั่นลง โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงต่อเนื่อง แต่เริ่มมีการอ่อนตัวน้อยลงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาสะท้อนความกังวลเรื่องการแข่งขันทำโปรโมชั่นและขยายสาขาล่าช้าไปค่อนข้างมาก

มองเป็นโอกาสเข้าซื้อ เพราะในระยะยาว GLOBAL มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อีกทั้งจะเริ่มขยายสาขาได้อีก 5 แห่งใน ครึ่งหลังปี 2562 และอีก 6-7 แห่งในปี 2563 หลังจากที่ในครึ่งแรกปี 2562 นั้นไม่มีการขยายสาขาเลย

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ปรับกำไรปีนี้ลง แต่คาดไตรมาส/62 จะกลับมาเติบโตได้ดี ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ปรับราคาเป้าหมายลงมาอยู่ที่ 77.00 บาท จากเดิมที่ 80.00 บาท อิง P/BV ที่ 1.50x เทียบเท่า +1.25SD ย้อนหลัง 5 ปี

เนื่องจากการประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ผู้บริหารได้มีการปรับเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ลง ทำให้มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 2019-2020 ลง 6.6-7.7% จากการปรับสินเชื่อลดลงเหลือ 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดิมที่ 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับ Credit cost เพิ่มขึ้นเป็น 120bps จากเดิมที่ 80bps ทำให้กำไรสุทธิในปี 2019 อยู่ที่ 6 พันล้านบาท ทรงตัว เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยคาดว่า แนวโน้มกำไรในไตรมาส 3/62 จะกลับมาเติบโตได้ดีจากการเริ่มรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมจากดีล IB จาก IPO หุ้น DOHOME และ AWC และคาดว่าขาดทุนรถยึดจะยังชะลอตัวลงต่อในไตรมาส 3/62  โดยคาดว่ากำไรจะเติบโตได้ดีในครึ่งหลังปี 2562 ที่ +12% HoH จากการเติบโตของสินเชื่อที่จะกลับมาเติบโตได้และธุรกรรมตลาดทุนที่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ และมีดีล IB ใหญ่จากการควบรวม TMB กับ TCAP ประกอบกับ ยังมีอัตราเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูงราว 6% ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งแรกปี25629 ในเดือน ก.ย. ที่ 2 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Dividend yield ที่ 3%

 

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT คาดจะรายงานกำไรปกติไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 199 ล้านบาท (-8.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, -30.7% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) ลดลงแรงในเชิง เทียบไตรมาสก่อนหน้า จากผลกระทบของ Low season มีต้นทุนจากการบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงานตาม พรบ. แรงงานฉบับใหม่ 32 ล้านบาทคาดอุตสาหกรรมยานยนต์จะเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัวตั้งแต่ ไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป

ยังเชื่อว่า SAT จะยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมในปีนี้อาจจะไม่สดใสก็ตาม แต่ได้ประเมินราคาเป้าหมายของ SAT ใหม่ที่ 21 บาท จาก 25.30 บาท อ้างอิงวิธี DCF โดยสะท้อนถึง P/E ปี 2019 ที่ 9.3x เนื่องจากสภาวะอุตสาหกรรมที่เข้าสู่แนวโน้มชะลอตัว บริษัทยังคงมีความน่าสนใจจาก Dividend Yield ที่สูงถึง 7.3% ต่อปี สูงที่สุดในอุตสาหกรรม โดยคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับเงินปันผลระหว่างการที่ราว 0.35-0.4 บาท ต่อหุ้นไว้เช่นเดิม ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลระหว่างการที่ 1.88-2.15%

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือ DDD ยังคงคำแนะนำ “ขาย” ปรับราคาเป้าหมายปี 2020 เป็น 18.50 บาท (เดิม 23.40 บาท) อิง PER 30.3x แม้ราคาหุ้นใน 3 เดือนที่ผ่านมาจะปรับตัวลง -26% แต่มองว่ายังไม่สะท้อนผลประกอบการในปี 2019 ที่หดตัวลง ประเมินว่าราคาหุ้นจะเริ่มปรับตัวลง หลังประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2/62 ที่มีแนวโน้มต่ำกว่าตลาดคาดมาก และคาดว่าตลาดจะมีการปรับประมาณการกำไรสุทธิลง

โดยประเมินขาดทุนสุทธิในไตรมาส 2/62 ที่ 9 ล้านบาท พลิกจากกำไรสุทธิในไตรมาส 2/61 และไตรมาส1/62 ที่ 63 และ 19 ล้านบาทตามลำดับ จากรายได้ที่หดตัวแรง และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูง เนื่องจากมีการบุ๊คค่าพรีเซ็นเตอร์และค่าสื่อสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่บางส่วนในไตรมาส 2/62

ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2019-20 ลง 46% และ 21% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/62 ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ อีกทั้ง ยังมองว่าการฟื้นตัวของรายได้จากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน และรายได้Traditional trade ยังคงต้องใช้เวลา และ โอกาส Upside gain มีจำกัด ปัจจุบัน DDD เทรดอยู่ที่ PER ปี 2020 ที่ 40x ถือว่าราคาปัจจุบันแพง เมื่อเทียบกับกลุ่ม Commerce (PER ปี 2020 ที่ 26.5x)

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ KTC คงแนะนำ “ถือ” แต่ปรับราคาเป้าหมายลงเล็กน้อยเป็น 38.00 บาท (จากเดิม 39.00 บาท) อิง 2019E PBV 5.0x เทียบเท่า +1.5SD เพื่อสะท้อนการปรับลดประมาณการกำไรปี 2019 ลง ตามค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้บริษัทรายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส2/62 ที่ 1.3 พันล้านบาท (+1%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, -17%เทียบไตรมาสก่อนหน้า) ต่ำกว่าที่และตลาดคาด 18% จากการกลับมาตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ภายหลังการติดตามหนี้สูญรับคืนที่ลดลงตามปัจจัยฤดูกาล ในขณะที่ธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ใน ไตรมาส 3/62 นั้น ณ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต,ระยะสั้นบริษัทยังจะมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น และต้องอาศัยระยะเวลาประมาณ 18-24 เดือนก่อนที่จะเห็นความสำเร็จ จึงแนะนำ KTC เพียง “ถือ”

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ไตรมาส 2/62 ดูอ่อนแอมากขึ้น จะลดลงทั้งเทียบไตรมาสก่อนหน้า และเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้รายได้สกุล USD จะเติบโตได้ ส่วนหนึ่ง Transfer มาจาก Delta Taiwan แต่ด้วยผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งค่า, Trade War กระทบต่อธุรกิจใหม่ที่มาร์จิ้นดีมีรายได้ลดลง และมีการโยกย้ายสายการผลิตระหว่างโรงงาน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลงชั่วคราว จึงคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี

โดยมองกำไรไตรมาส 2/62 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี ยังคาดหวังการฟื้นตัวในไตรมาส 3/62 เพราะเป็น High Season และคาดเห็นคำสั่งซื้อมาจาก Delta Taiwan มากขึ้น รวมถึงคาดน่าจะย้ายสายการผลิตได้แล้วเสร็จ แต่ยังมีเรื่องค่าเงินบาท และผลกระทบจาก Trade War ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้กระทบอยู่

ดังนั้นจึงปรับลดกำไรปกติปี 2019 ลง 19% เป็นกำไรลดลง -8.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับลดราคาเป้าหมายปีนี้เป็น 62 บาท จากเดิม 77 บาท (อิง PE เดิม 17 เท่า) แนะนำเพียงถือ

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH ปรับลดคำแนะนำเป็น “ถือ” จากเดิม “ซื้อ” และปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 3.30 บาท จากเดิมที่ 3.60 บาท ยังคงอิงวิธี SOTP หรือคิดเป็น PER ที่ 10 เท่า เทียบเท่า +1SD จากค่าเฉลี่ย PER ย้อนหลัง 5 ปี ราคาเป้าหมายถูกปรับลงเนื่องจาก มีการปรับลดกำไรสุทธิปี 2019 ลงจากเดิม -9% เป็น 3.5 พันล้านบาท จากการปรับลดยอดโอนลงจากเดิม -11% เป็น 1.24 หมื่นล้านบาท

สำหรับกำไรสุทธิ ไตรมาส2/62 ประเมินว่าจะอยู่ที่ 697 ล้านบาท -18% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, -20% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะลดลงเล็กน้อย ส่วน Presales ไตรมาส2/62 อยู่ต่ำเพียง 1.4 พันล้านบาท -52% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, -42% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ลดลงมาก เนื่องจากไม่มีเปิดโครงการใหม่, ยอด Presales คอนโดลดลง เนื่องจากโครงการ Q สุขุมวิท มียอดคืน 380 ล้านบาท

ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 4% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และต่ำกว่า SET 7% จากแนวโน้ม Presales ที่เติบโตในระดับต่ำกว่ากลุ่ม ปรับคำแนะนำลงเป็น ถือ เนื่องจากผลการดำเนินงาน ไตรมาส2/62 ที่จะต่ำกว่าที่เคยคาด และคาดว่า QH จะปรับเป้าหมาย Presales และยอดโอนทั้งปีลง เนื่องจาก 1H19 ทำ Presales ได้เพียง 3.8 พันล้นบาท -34% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นเพียง 28% จากเป้าหมายของ QH ทั้งปีที่ 1.36 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม QH ยังจัดเป็นหุ้นปันผลสูงคิดเป็น Div. yield ที่ 7% ต่อปี

 

บล. ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL คาดกำไรไตรมาส 2/62 ดีต่อเนื่องจากการรับรู้รายได้จากงานติดตั้งโครงข่าย (Installation) เพิ่มมากขึ้น โดยคาดกำไร +12% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, +29% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 43.5 ล้านบาท

แนวโน้มครึ่งปีหลังยังสดใสจากธุรกิจ Installation ที่มีต่อเนื่อง หลักๆมาจากโครงการงานจ้างระบบสื่อสาร DMS และ USO ซึ่งต้องส่งมอบภายในปีนี้ราว 1.0-1.2 ล้านบาท แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ อัตรากำไรจึงต่ำกว่าปกติ บวกกับต้นทุนการนำสาย Fiber Optic ลงดินมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งมีผลไปบ้างแล้วในไตรมาส1/62 แต่จะมีผลเต็มที่ตั้งแต่ ไตรมาส 2/62 จึงปรับลดประมาณการกำไรทั้งปีลงจากเดิม 8% เป็น 171 ล้านบาทจากเดิม 184 ล้านบาท กำไรดังกล่าวยังเติบโตสูงถึง 28% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปรับลดราคาเป้าหมายลงเป็น 4.80 บาทจากเดิม 5.50 บาท (DCF, WACC 7%) เป้าดังกล่าวคิดเป็น Implied PE 28 เท่าปีนี้และ 25 เท่าปีหน้า และคิดเป็น PEG 1 เท่าปีนี้ และใกล้เคียงกลุ่ม ยังชอบศักยภาพในการเติบโตในระยะยาวของ ITEL ซึ่งมีทั้งโอกาสในการประมูลงานใหม่ๆและมี Recurring income ในสัดส่วนสูง จึงยังแนะนำซื้อ

 

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ค่าเฉลี่ยราคาถ่านหินตลาด NEWC ปรับตัวลดลง 16% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาส2/62 (ใน 5 ปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเฉลี่ยเพียง 3% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) และปรับตัวลดลง 23% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยกดดันราคาถ่านหินมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงไป

ในขณะที่มีอุปทานเข้ามามากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตในออสเตรเลียของ BANPU ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการทำเหมืองที่ยากขึ้นจาก A$50/t ในปี 2559 มาที่ A$64/t  ในปี 2561 มีการปรับประมาณการกำไรปี 2019-20 ลง 30% และปรับราคาเป้าหมายลงจาก 22 บาทเป็น 15.10 บาท อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนเงินปันผลอยู่ในระดับที่ดีที่ 4.3% ปรับคำแนะนำลงจาก ซื้อ เป็น ถือ

 

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC  คาดกำไรสุทธิในไตรมาส 2/62 ที่ 3,018 ล้านบาท -53% เทียบไตรมาสก่อนหน้า -72% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดจะมีรายได้รวมที่ 105,796 ล้านบาท -7% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, -18% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากโรงกลั่นที่มี GRM ลดลง

ประเมิน PTTGC จะมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ประมาณ 100 ล้านบาท เนื่องจาก GRM ของ PTTGC และราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลงเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2 ด้านปิโตรเคมี ในภาพรวม ยอดขายและกำไรถือว่าลดลง จากส่วนต่างราคาของกลุ่ม Olefins ทั้งประเภท PE Propylene และกลุ่ม Aromatic ในบางส่วน มีการปรับลดลง ในขณะที่ราคากลุ่ม Benzene ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน

ปรับราคาเป้าหมายใหม่ที่ 74 บาท ลดลงจากเป้าหมายเดิม 77 บาท โดยใช้ P/BV เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังแทน เพื่อสะท้อนราคาปิโตรเคมีใน Cycle นี้ได้ใกล้เคียงมากขึ้น ที่ 1.05 เท่า โดยคงคำแนะนำ ซื้อ ด้วย Valuation ที่ราคาหุ้นตำกว่าราคา Book ในขณะนี้ อีกทั้งยังมีแรงจากการทำ Treasury Stock ของบริษัทฯ คอยประคองอีกราว 5 เดือนต่อจากนี้

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button