รับมือ Trade war ยืดเยื้อ! เคาะ 3 หุ้นนิคมฯได้ประโยชน์ต่างชาติย้ายฐานการผลิต
รับมือ Trade war ยืดเยื้อ! เคาะ 3 หุ้นนิคมฯได้ประโยชน์ต่างชาติย้ายฐานการผลิต
สงครามการค้าสหรัฐฯและจีนยังคงยืดเยื้อและยังไม่มีท่าทีจะตกลงกันได้โดยเห็นได้จากจีนประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 5 – 10% วงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการเก็บภาษี 2 รอบมีผล 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค. และเก็บภาษี 25% ต่อรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐ
ส่วนสหรัฐตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 5% เป็น 30% วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ มีผล 1 ต.ค. และสั่งให้บริษัทสหรัฐรีบถอนตัวออกจากจีน
ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ระบุว่าจีนได้ติดต่อสหรัฐมาและเสนอให้กลับมาเจรจาร่วมกัน โดยสหรัฐจะหวนกลับสู่การเจรจา บรรยากาศดังกล่าวคาดตลาดฯยังคงมีความผันผวนสูง โดยมีปัจจัยหลักที่จะต้องติดตามเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
อย่างไรก็ตามทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจรายวัน” จึงทำการรวบรวมข้อมูลกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนสามารถรับมือ Trade war ที่ยืดเยื้อ โดยแบ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์มานำเสนออีกครั้ง
โดยครั้งนี้จะเน้นไปที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเนื่องจากได้อานิสงส์จากสงครามการค้าเพราะลูกค้าที่ย้ายฐานผลิตมามีทั้งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี อีกทั้งรัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบต่อไทยจากสงครามการค้า เชื่อเปลี่ยนความไม่แน่นอนให้เป็นโอกาสได้โดยบทวิเคราะห์ได้ระบุประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้
บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากแรงกดดันเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนบานปลาย มองบริเวณ 1,600-1,610 จุด เป็นจุดที่น่าเข้าสะสมหุ้น เพราะคิดเป็น Earnings Yield Gap เกิน 5% คาดว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยจำกัด Downside risk รอบนี้ ขณะเดียวกันประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ใน ASEAN จะเป็น Small loser รอบนี้ เพราะจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
มองกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และ BOI เตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่กลุ่ม Global plays (อิเล็กทรอนิกส์, พลังงาน, ปิโตรเคมี, โลจิสติกส์) จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่บานปลาย
โดยหุ้นแนะนำ ได้แก่ AMATA ( ซื้อ/พื้นฐาน 27.50 บ.) การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย (ยอดขอ BOI จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัวใน 1H19) จะหนุนยอดขายที่ดินของบริษัทเพิ่มเป็นปีละ1,000 ไร่ในปี 2562-64 (ดีกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนที่ไม่ถึง 500 ไร่)
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทยคาดว่าสงครามการค้าจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันให้การส่งออกของไทยชะลอตัวต่อ คาดส่งออกเฉลี่ยทั้งปีหดตัว 3% จากมุมมองสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และค่าเงินบาทแข็งค่า
ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2562 ยังต้องหวังพึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เฟส 2 ที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นอื่นๆอีก ซึ่งคาดว่าจะมุ่งไปที่การดึงดูดการลงทุนเอกชน และต่างชาติ และที่จะเตรียมย้ายฐานการผลิตเพื่อหนีสงครามการค้า เป็นต้น
โดยเฉพาะ BOI และคาดหวังการผ่อนปรนการค้า ภาคธุรกิจ ผ่อนปรนกฎระเบียบ โดยรวมจะดีต่อ หุ้นกลุ่มนิคม AMATA และเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการการบริโภคอื่น อาทิ ช็อปช่วยชาติ, การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% (กำลังพิจารณา) เป็นต้น และกลุ่มค้าปลีก (ROBINS BJC) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น DCC และ DRT ได้รับผลบวกจากมาตรการเช่นกัน
บล.เคที ซีมิโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หลังสงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯลุกลามรอบใหม่ และการผิดหวังต่อสุนทรพจน์เมื่อวันศุกร์ของประธานเฟด Powell ที่ไม่มีสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจนในการประชุมกลางเดือน พ.ย. เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยวันนี้
แนะนำซื้อ หุ้นปันผลสูง หรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานลงทุนของต่างชาติ เช่น AMATA WHA SABINA ฯลฯ และขายหุ้น อิงเศรษฐกิจโลก กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี
โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อ WHA หลังจากมี Analyst Meeting ซึ่งเราคาดว่าผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะออกมาโดดเด่นกว่า 1H62 เนื่องจาก (1) เข้าสู่ช่วงเร่งขายและเร่งโอนก่อนสิ้นปี (2) เริ่มรับรู้รายได้ค่าเช่าจากคลังสินค้าขนาด 130,000 ตร.ม. ของ Alibaba (3) บริษัทได้ประโยชน์จากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น
(4) การรับรู้กำไรจากการปันส่วนจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะกลับมาอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งหลังจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า Gheco-I ไปในไตรมาส 1/62 นอกจากนี้บริษัทยังมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงหลังจากมีการ Roll Over หุ้นกู้ที่ครบกำหนด แนะนำซื้อให้ราคาเป้าหมาย 5.00 บาท
บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า WHAUP (เป้าพื้นฐาน 9.4 บาท) 1) ประเมินแนวรับ 6.5 บาท / แนวต้าน 6.8 บาท หากผ่านได้ประเมินมีโอกาสทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 7.0 บาท (Stop loss 6.35 บาท) 2) ประเมินหุ้นเป็นหุ้นที่ได้อานิสงส์โครงการ EEC ที่ยังมี Upside (หุ้นกลุ่มนิคมฯ Upside เริ่มจำกัด) 3) ฝ่ายวิจัยฯปรับประมาณการฯและราคาเป้าหมายขึ้น ในบทวิเคราะห์วานนี้จากการเข้าลงทุนซื้อหุ้นธุรกิจน้ำประปาที่เวียดนาม 4) คาดปันผลเฉลี่ย +3.8% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ +2.5% ต่อปี
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า AMATA แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 28 บาท กำไรครึ่งปีแรก 693 ลบ. +15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 41% ของทั้งปีที่เราคาดโต 38% และยังมี Backlog 3.75 พันลบ. รองรับรายได้กว่า 1 ปี ขณะที่ยอดขายที่ดินที่ระยองและอมตะไทยไชนีสเป็นที่ต้องการสูง บริษัทจึงคงเป้าขายที่ดินในไทย 950 ไร่ โดย 1H19 ขายไปได้กว่า 200 ไร่ และมีลูกค้าที่กำลังเจรจาจำนวนมาก
ได้อานิสงส์จากสงครามการค้าเพราะลูกค้าที่ย้ายฐานผลิตมามีทั้งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี โดยเฉพาะจีนที่ระยะหลังมีสัดส่วน 30% ของการขาย บรษัทไม่ได้พึ่งเฉพาะการขายที่ดินเพราะมีรายได้ขายน้ำ-ไฟฟ้าและเค่าเช่าราว 50% และรัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบต่อไทยจากสงครามการค้า เชื่อเปลี่ยนความไม่แน่นอนให้เป็นโอกาสได้
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นนั้นนำไปสู่ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งรัฐบาลนับแต่เข้าบริหารประเทศได้มีการดำเนินการหลายอย่างไปแล้ว เพื่อรองรับการหันเหทางการค้าและการลงทุน ด้านการค้าที่จะเป็นผลด้านบวกคือ สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐในจีน หรือสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐ ถือเป็นโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีน เช่น ชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบ ในเรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการ
1. ตั้งทีมวอร์รูม (War Room) ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที มีคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพาณิชย์เพื่อจะได้ผลักดันการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้าและรายตลาด
2.ทำRoad show สินค้าไทยต้องทำอย่างมีเป้าหมายเพื่อเจาะตลาดสหรัฐและจีน รวมถึงขยายตลาดใหม่ไปยังอินเดีย ตะวันออกกลางและอาเซียน 3. บูรณาการการทำงานของทูตพาณิชย์และทูตเกษตร นับเป็นครั้งแรกที่สองหน่วยงานจะขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรไปพร้อมๆ กัน 4. ขับเคลื่อนการเจรจาการค้าทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี
อีกประการหนึ่ง การหันเหทางการค้าอาจนำไปสู่การทะลักของสินค้าเข้าไทย กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเรื่องนี้แล้วโดยจะใช้กลไก พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าจากต่างประเทศ เป็นเครื่องมือในการดูแลผู้ประกอบการไทย
ในส่วนของการหันเหทางการลงทุน คาดว่าจะเป็นผลกระทบด้านบวกต่อไทย เพราะจะมีนักลงทุนที่คิดย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐและจีน โดยเฉพาะนักลงทุนที่จะย้ายออกจากจีน เช่นนักลงทุนสหรัฐ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ณ เวลานี้ มีจำนวน 10 รายที่ตัดสินใจจะมาลงทุนในไทย เช่น บริษัท Ricoh บริษัท Delta และคาดว่าจะมีเพิ่มเพื่อดึงดูดนักลงทุนกลุ่มนี้
โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไปดูแล ซึ่งจะดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1) ออกมาตราการที่มากกว่าสิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อดึงการลงทุนมาไทย 2) ตั้งทีมเฉพาะกิจดึงนักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรง 3) จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป โดยให้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินเข้าร่วม เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุน และเพิ่มความคล่องตัวในการอนุมัติ