คัด 3 กลุ่มหลักปัจจัยหนุนเด่น ชูหุ้นอสังหาฯยีลด์สูง-พร้อมเด้งรับดอกเบี้ยขาลง
คัด 3 กลุ่มหลักปัจจัยหนุนเด่น ชูหุ้นอสังหาฯยีลด์สูง-พร้อมเด้งรับดอกเบี้ยขาลง
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่แนะนำกลยุทธ์การลงทุนภายใต้ความกังวลถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยที่มีประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบ ทั้งนี้นักวิเคราะห์แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนจาก Dividend Yield ค่อนข้างสูง
โดยบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองภาพใหญ่ของตลาดการเงินทั่วโลก ยังคงเห็นทิศทางของ Fund Flow ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย ขาดแรงขับเคลื่อนนำไปสู่การปรับฐานลงมา กลยุทธ์การลงทุนถูกกำหนดในลักษณะของ Selective Buy โดยหุ้นที่น่าสนใจวันนี้เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง ให้ Dividend Yield สูง และผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว เลือก SPALI (FV@B 23.20) เป็น Top Picks รวมถึง MCS([email protected]) และ TU(FV@B 23)
ทั้งนี้ ภายใต้ความกังวลถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว หรือมากกว่านั้นคือการถดถอย โดยที่มีประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึง Brexit ที่รออยู่ข้างหน้าเป็นแรงกดดัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทิศทางของ Fund Flow ยังมุ่งหน้าไปสู่ สินทรัพย์ปลอดภัยเห็นได้จาก Bond Yield ที่ยังปรับลดลงต่อเนื่องโดย Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.45% , 2 ปี อยู่ที่ 1.44% (เกิด Inverted Yield Curve เล็กน้อย) ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าวทำให้ถูกคาดหมายว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุมรอบเดือน ก.ย. นี้ ในส่วนของประเทศไทยก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน
โดย Bond Yield 10 ปี และ 2 ปี อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.46% และ 1.37% ตามลำดับ ซึ่งน่าจะเปิดโอกาสให้เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้ อย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าวข้างต้น น่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทย อยู่ในภาวะที่ยังขาดแรงหนุนจาก Fund Flow ทำให้ SET Index ไม่สามารถปรับขึ้นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดกลยุทธ์ลักษณะ Selective Buy ก็ยังมีโอกาสทำกำไรได้ดี
ทั้งนี้หุ้นประเภทหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนจาก Dividend Yield ค่อนข้างสูง วันนี้ฝ่ายวิจัยจึงเลือก SPALI เข้าในพอร์ตการลงทุน ด้วยน้ำหนัก 10% ของพอร์ตการลงทุนรวม โดยใช้เม็ดเงินจากการขายทำกำไรหุ้น PTT และ TPIPP อย่างละ 5% ออกไป
ราคาหุ้นไก่ปรับฐานแรง จากประเด็น Suppy ที่เพิ่มจากบราซิล กระทบไทยจำกัด ..ซื้อ CPF
ราคาหุ้นกลุ่มไก่ปรับลดลงแรงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา นำโดย GFPT (-9.4%), TFG (-8.5%) และ CPF (-5.9%) สาเหตุหลักมาจากข่าวผู้ประกอบการแปรรูปไก่รายใหญ่ของประเทศบราซิล (ผู้ผลิตไก่รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกและส่งออกไก่รายใหญ่สุดของโลก) นำโดย บ. BRF มีการกลับมาผลิตและแปรรูปไก่เพิ่มขึ้น เพื่อส่งออกไก่สดแช่แข็งไปประเทศแถบตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดิอาระเบียและจีน ซึ่งจีนมีความต้องการนำเข้าไก่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนปัญหาสุกรขาดตลาด (จากปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริการะบาด) หลังจากก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปแบนการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากบราซิลบางราย เพราะส่งออกไก่ที่ไม่ได้คุณภาพ โดยปริมาณการส่งออกไก่ของบราซิลในงวด 1H62 อยู่ที่ 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.8% yoy
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าประเด็นดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไก่ไทย เนื่องจากผู้ส่งออกไก่ไทยเน้นส่งออกไก่ปรุงสุก เป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม (ต่างจากบราซิลที่เน้นส่งออกไก่สดแช่แข็ง) และไทยส่งออกไก่ไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปเป็นหลัก ซึ่งเป็นคนละตลาดกับที่บราซิลต้องการขยายตลาดไปจีนและตะวันออกกลาง จึงประเมินผลกระทบจำกัดมาก สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกไก่ไทยในงวด 1H62 ยังเพิ่มขึ้น 11%yoy มาที่ 4.1 แสนตัน จากความต้องการนำเข้าไก่จากจีนและญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่อง กลยุทธการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้เนื้องจากราคาหุ้น CPF (FV@B35) ปรับลดลงแรง จึงเป็นโอกาสเข้าสะสม ขณะที่ GFPT (Switch FV@B 18) และ TFG (SELL [email protected]) ราคาหุ้นสะท้อนพื้นฐานปี 2562 ไปแล้ว
อสังหาฯ พ้นจุดต่ำในไตรมาส 2/62 กำไรจะเติบโตขึ้นครึ่งปีหลังพร้อมปันผลโดดเด่น
ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว, มาตรการ LTV ใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2562 และอุปสงค์จากต่างชาติ โดยเฉพาะจีนหายไปจากผลกระทบของสงครามการค้า ส่งผลให้กำไรปกติของผู้ประกอบการ 16 รายในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ฝ่ายวิจัย ASPS ศึกษาในงวดไตรมาส 2/62 ทำได้เพียง 6.59 พันล้านบาท ลดลงแรง 36.5%จากปีก่อน และ 34.4% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ภาพรวมกำไรปกติครึ่งปีแรกของปี 62 เท่ากับ 1.66 หมื่นล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน แม้ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีหลัง ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ยังอ่อนตัว และผลกระทบจาก LTV แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการในกลุ่มฯ มีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องปรับลดแผนเปิดโครงการใหม่ เพื่อลด Supply ในตลาดฯ และ ขยายเวลาการวางเงินดาวน์ที่ยาวนานขึ้น เพื่อลดผลกระทบ LTVฯลฯ นอกจากนี้รอบธุรกิจอสังหาฯ ที่โดยปกติช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก สืบเนื่องจากการมีหลายโครงการคอนโดฯ ใหม่มีกำหนดสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 4 รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มเป็นขาลง ย่อมช่วยให้อัตราการผ่อนชำระต่องวดของผู้กู้ลดลง และถือเป็นการลดความเสี่ยงต่อคุณภาพของ Backlog กล่าวคือ ทำให้ Backlog สามารถส่งมอบคล่องตัวมากขึ้น โดยหากพิจารณาข้อมูลไตรมาส 2/62 กลุ่มฯ มี Backlog รวม 3.3 แสนล้านบาท (รวม JV) เป็นส่วนที่จะโอนฯ ในครึ่งปีหลังของปี 62 อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท (เป็นโครงการภายใต้พัฒนาเอง 8.5 หมื่นล้านบาท และ JV 2.6 หมื่นล้านบาท)
โดยสรุปเชื่อว่าวัฎจักรธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดใน 2Q62 คาดกำไรเริ่มฟื้นตัว 3Q62 ก่อนโดดเด่นสุด 4Q62 ขณะที่ราคาหุ้นหลายตัวปรับลงมา จนทำให้อัตราเงินปันผลอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 5-8% ถือเป็นปัจจัยหนุนต่อการลงทุนในหุ้นอสังหาฯ ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง จึงแนะนำลงทุน LH ([email protected]) ปันผลสูง 7%, SC ([email protected]) ให้ Dividend Yield 6% รวมถึง SPALI ([email protected]) นอกจาก Dividend Yield 5.5% ยังมีจุดเด่นเรื่อง Backlog (ไม่รวม JV) สูงสุดในกลุ่มฯ ระดับ 4.34 หมื่นล้านบาท ที่จะรองรับการเติบโตรายได้ใน 4-5 ปีข้างหน้า
Fund Flow ไม่เข้า…SET ขึ้นยาก
เข้าสู่ช่วงเดือน ก.ย. 2562 ความกังวลประเด็นสงครามทางการค้า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ยังมีต่อเนื่องหลังจากสหรัฐเดินหน้าขึ้นภาษีรอบ 4.1 รวมถึงตัวเลข PMI ภาคการผลิต ออกมาชะลอตัวกว่า 3 ปีครึ่ง ส่งผลให้เงินลงทุนยังไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง ตลาดหุ้น สังเกตได้จากต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภุมิภาคในช่วง 2 วันแรกของเดือน ก.ย. 2562 มูลค่ารวม 713 ล้านเหรียญ ต่อเนื่องจากเดือน ส.ค. ที่ถูกขายสุทธิ 8.3 พันล้านเหรียญ (เป็นเดือนที่ถูกขายสุทธิสูงสุดในปี 2562 นี้)
เงินทุนส่วนใหญ่ถูกโยกย้ายมาเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยต่อเนื่อง ทั้งในตลาดตราสารหนี้ กดดันให้ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐ ลงมาอยู่ที่ 1.46% (ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน และต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ 2.25%) เช่นเดียวกกับ Bond Yield 10 ปี ของไทยลงมาอยู่ที่ 1.46% เช่นเดียวกัน (ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%) รวมถึงทองคำปรับตัวขึ้นมาในวานนี้ 1.6% และปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 20% (ytd)
หากกลับมาพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทย พบว่า ในปี 2562 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อ-ขาย หุ้นไทยมากกว่าปกติ โดยมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูงถึง 42%(ytd) ของนักลงทุนทั้งหมด (เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ราว 29%)
ทั้งนี้ความนิยมของหุ้นไทยจากต่างชาติที่มากขึ้น หนุนให้ SET Index กลับมามีความสัมพันธ์กับเงินทุนต่างชาติสูงขึ้นตามไปด้วย สะท้อนจาก ค่า Correlation ระหว่าง SET Index กับเงินทุนต่างชาติสูงถึง 0.7 (มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันสูง) ขณะที่ค่า Correlation ระหว่าง SET Index กับเงินทุนสถาบันฯเท่ากับ -0.03 (ไม่มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนนัก)
สรุปคือ ตราบที่ Fund Flow ยังไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ถือแรงกดดันที่สำคัญต่อ SET Index ให้ขึ้นได้อย่างจำกัด
เปิดโผ 11 หุ้นปันผลเด่น เติบโตดี ชอบ SPALI MCS รวมถึง TU
คาด SET index มีโอกาสพักตัว ในกรอบ 1630 – 1660 จุด โดยมีปัจจัยกดดันจากความวิตกกังวลของปัญหาสงครามการค้า และความไม่แน่นอนของกระบวนการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสภาพยุโรป (Brexit) รวมไปถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลข PMI ภาคการผลิตทั้ง สหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จนทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศต้องหันกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดดอกเบี้ยและการทำ QE อาจกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ให้ปรับตัวลงและทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่อีกมุมหนึ่งอาจสร้างความจูงใจให้แก่สินทรัพย์เสี่ยงที่มีการอัตราการจ่ายเงินปันผลสูง ซึ่งฝ่ายวิจัยได้ทำการคัดสรร ได้ผลลัพธ์ดังนี้
สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว และมีแนวโน้มเติบโตดี ซึ่งฝ่ายวิจัยเลือกเป็น Top Pick ในวันนี้คือ SPALI (FV@B 23.20) ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบไปมาก และยังคาดปันผลได้สูงถึง 5.5% ต่อปี (รายละเอียดอื่นๆตามหัวข้อด้านบน), MCS (FV@B 11.30) ทยอยรับงานต่อเนื่อง Backlog สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.65 แสนตัน รวมถึงหุ้น TU (FV@ B23.00 ) เข้าฤดูกาลส่งออกทูน่าและกุ้งสู่ต่างประเทศ