คัด 3 หุ้นเด่นพร้อมเด้งแรงรับรัฐเคาะมาตรการกระตุ้นภาคเอกชน

คัด 3 หุ้นเด่นพร้อมเด้งแรงรับรัฐเคาะมาตรการกระตุ้นภาคเอกชน


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนในภาวะดัชนีผันผวน โดยพบว่านักวิเคราะห์แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกหนุน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มนิคมอุตรสาหกรรมและโลจิสติกส์

โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่าประเด็นหลักที่เป็นตัวกำหนดกลยุทธ์การลงทุนเป็นเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐบาล ซึ่งจะให้น้ำหนักไปที่การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในกลุ่ม นิคมฯ และ Logistic หุ้น Top Picks เช้านี้จึงเลือก AMATA (FV@B 35.70), JWD (FV@B 12.30) และ SPALI (FV@B 23.20) ส่วนการเคลื่อนไหวของ SET Index คาดว่าจะยังผันผวนอยู่ภายใต้แนวต้านบริเวณ 1,680-1,685 จุด

ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์แวดล้อมต่างประเทศยังไม่มีประเด็นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทิศทางตลาดหุ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นพัฒนาการของเรื่องเดิมๆ เช่นผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมของสงครามการค้าโดยล่าสุด จีนรายงานยอดส่งออกเดือน ส.ค.ที่หดตัวลงชัดเจน ตามด้วยท่าทีของ Fed ที่ทำให้ถูกคาดหมายว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. 2562 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

สำหรับประเด็นในประเทศโดยภาพรวมก็ยังไม่มีเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index จึงคาดว่าจะยังเคลื่อนไหวผันผวนอยู่ภายใต้แนวต้านบริเวณ 1,680 – 1,685 จุด อย่างไรก็ตามก็มีประเด็นที่สามารถนำมากำหนดกลยุทธ์การลงทุน ได้แก่เรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ล่าสุดได้มุ่งเน้นไปในเรื่องของการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน

โดยการเพิ่มแรงจูงใจทางด้านภาษี การอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุน รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเห็นการรุกมากขึ้นของภาครัฐเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนของกิจการข้ามชาติเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า สภาพแวดล้อมดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อหุ้นในกลุ่ม นิคมอุตสาหกรรม และ โลจิสติก สำหรับตัวเลือกการลงทุนในกลุ่มนิคมฯ มี 2 บริษัท ที่ฝ่ายวิจัยคัดเลือกเข้าไว้ในพอร์ตการลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ได้แก่ AMATA และ FPT ส่วนกลุ่ม Logistic เลือกหุ้น JWD ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องการเติบโตของผลประกอบการที่อยู่ในเกณฑ์สูง สำหรับพอร์ตการลงทุนในวันนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

ส่งออกจีน และยอดการจ้างงานสหรัฐ เดือน ส.ค.ชะลอ หนุนธนาคารกลางกระตุ้น..

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ เห็นได้จาก ฝั่งจีนคือ เมื่อวานนี้รายงานยอดการส่งออก ในเดือน ส.ค. พลิกกลับมาหดตัว 1%yoy (ตลาดคาดขยายตัว 2%) หลังจากที่เดือน  ก.ค. ขยายตัว 3.3% และหากพิจารณายอดส่งออกของจีนไปสหรัฐ เดือน ส.ค. หดตัวแรงราว 16% เทียบกับที่หดตัว 6.5% เดือน ก.ค. ทำให้ทางการจีนได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  คือ วันศุกร์ที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (Reserve Requirement Ratio: RRR) เป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้  คือ ปรับลง 0.5% เหลือ 13% จะมีผลวันที่ 16 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป จะทำให้ธนาคาพาณิชย์จีนลดการสำรองเงินสดลง และสามารถให้สินเชื่อได้มากขึ้น และมีแนวโน้มที่ PBOC อาจจะปรับ RRR เพิ่มอีกในอนาคต คาดว่าจะปรับลดอีกในวันที่ 15 ต.ค. และ 15 พ.ย.

เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจด้านแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว คือยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน ส.ค. พบว่าเพิ่มขึ้น 1.3 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ราว 1.5  แสนราย และชะลอตัวลงจากเดือน ก.ค. ที่ 1.59 แสนราย ประกอบกับคำกล่าวสุนทรพจน์ของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่แสดงความกังวลว่า สงครามการค้าอาจส่งผลให้ภาคธุรกิจตัดสินใจชะลอการลงทุน ทำให้ตลาดยิ่งมั่นใจ 100% ว่า ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง ราว 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.  โดยรวมเป็นปัจจัยเสริมให้ Dollar Index อ่อนค่า โดยล่าสุดอ่อนค่า 0.02% หรืออ่อนค่าเกือบ 1% นับตั้งแต่จุดสูงสุดเมื่อต้นเดือน ก.ย. หนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิเช่น ทองคำเพิ่มขึ้น 0.27% และน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 1.01%

ครม. เศรษฐกิจ ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชน ดีต่อ JWD, AMATA

สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้นักลงทุนต่างชาติหนีผลกระทบและเตรียมย้ายฐานการผลิตมาประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  และเศรษฐกิจไทยในช่วง 2H62 ต้องพึ่งตัวขับเคลื่อนจากในประเทศ คือ การลงทุนภาคเอกชน ทำให้เห็นรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ดังที่เห็นในวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้ข้อสรุปออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน รายละเอียดใกล้เคียงกับที่เคยนำเสนอหลักๆ คือ

BOI กำหนดให้สำหรับโครงการลงทุนวงเงินอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ทั่วประเทศ โดยต้องต้องยื่นขอ BOI ภายในปี 63 ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติที่ยกเว้น 8 ปี   (จะได้เทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์ตาม พรบ. EEC ที่ให้เฉพาะโครงการลงทุนใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา  มาตรการส่งเสริมการลงทุนเอกชนของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ยังมีผลถึงปัจจุบัน

– ให้สิทธินำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 200% ระหว่างปี 2562-2563

– ให้สิทธินำเงินค่าจ้างบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมมาหักค่าใช้จ่ายได้ระหว่างปี 2562-2563

โดยรวมมาตรการที่ออกมาจะส่งต่อให้ ครม.พิจารณาอนุมัติวันอังคารนี้ 10 ก.ย.2562   ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ เพิ่มระยะเวลาการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขต EEC (ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง) เพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 99 ปี จากเดิม 50 ปี ,การให้สิทธิเลือกอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระหว่างขั้นบันไดปกติ หรืออัตราคงที่ 17% ของรายได้พึงประเมินสำหรับบุคคลากรที่เข้ามาทำงานใน EEC และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้เชื่อว่าจะมีส่วนกระตุ้นการลงทุนเอกชนในอนาคตและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงได้ โดยเฉพาะเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนิคม และกลุ่มขนส่ง-โลจิสติกส์ เช่น AMATA ราคาเป้าหมาย 35.70 บาท , FPT ราคาเป้าหมาย 20.10 บาท และ JWD ราคาเป้าหมาย 12.30 บาท

กลยุทธ์… เน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จะเป็นแรงหนุนต่อ SET Index แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศ อาจจะสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้น จึงประเมินกรอบ SET Index รายสัปดาห์ไว้ที่ 1,660 -1,685 จุด โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ตาม Top pick วันนี้ คือ  AMATA ราคาเป้าหมาย 35.70 บาท,  JWD ราคาเป้าหมาย 12.30 บาท และ SPALI ราคาเป้าหมาย 23.20 บาท

AMATA (ราคาเป้าหมาย 35.70 บาท) ขับเคลื่อนด้วยมาตรการภาครัฐและการย้ายฐานการผลิตมาไทย โดยคาดกำไรงวดไตรมาส 3/62 เติบโตสวนทางกลุ่มนิคมฯ ที่หดตัว หลักๆ มาจากการขายโอนที่ดินแปลงใหญ่ที่ขายให้กับบริษัท General Rubber (ธุรกิจผลิตยางรถยนต์จากจีน) ตามด้วยการทยอยส่งมอบพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปเพื่อสร้างรายได้จากค่าเช่า 2 หมื่น ต.ร.ม. รวมไปถึงธุรกิจโรงไฟฟ้า 10 แห่งกลับมาสร้างรายได้พร้อมกัน โดยรวมคาดกำไรปี 2562 เติบโต 71.7% อยู่ที่ 1.75 พันล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องในปี 2563 ขณะที่ราคาหุ้นมี Upside สูงกว่า 33.5% ถือเป็นโอกาสเข้าลงทุน

JWD (ราคาเป้าหมาย 12.30 บาท) แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังของปี 62 จะตื่นเต้นยิ่งขึ้น โดยธุรกิจบริหารและบริการคลังสินค้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ JWD จะได้รับผลประโยชน์จากการขยายตัวของ EEC ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์จะเข้าช่วงฤดูกาล High Season และผลของ Synergy บริษัทร่วมทุนจะทำให้ JWD สามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนเต็มปี ช่วยผลักดันรายได้ปี 2562 เติบโต 31% จากปีก่อน เท่ากับ 4.1 พันล้านบาท และ Gross Margin จะประคองตัวระดับเดียวในปีก่อนที่ 26.5% โดยรวมแล้วจะทำให้ปี 2562 JWD มีกำไรเติบโตก้าวกระโดด 37% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน มาที่ 345 ล้านบาทมูลค่าพื้นฐาน 12.3 บาท ราคาหุ้นมี Upside เปิดกว้างกว่า 30% ถือเป็นโอกาสเข้าลงทุน

และ SPALI (ราคาเป้าหมาย 23.20 บาท) คาดธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดยแนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดยอดโอนฯ และกำไรสูงกว่าครึ่งปีแรกของปี 62 แรงหนุนจากการเปิดตัวโครงการใหม่เชิงรุก 21 โครงการ (เน้นแนวราบ) และการส่งมอบคอนโดฯ ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก รวมถึงคอนโดฯ ใหม่ขนาดใหญ่ Supalai Veranda Rama 9 มูลค่า 4.3 พันล้านบาท (ขายแล้ว 99%)  ขณะที่ราคาหุ้นปรับฐานลงมา จนทำให้อัตราเงินปันผลอยู่ในระดับสูงถึง 5.5% อีกทั้งยังมีจุดเด่นเรื่อง Backlog (ไม่รวม JV) สูงสุดในกลุ่มฯ ระดับ 4.34 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรองรับการเติบโตรายได้ใน 4-5 ปีข้างหน้า จึงเป็นโอกาสทยอยลงทุน

Back to top button