AMANAH ราคาแรลลี่ยาวนลท.โกยรีเทิร์นเกิน 100% โบรกฯอัพเป้า 3.60 บ. ชูผลงานโตทะลัก

AMANAH ราคาแรลลี่ยาวนลท.โกยรีเทิร์นเกิน 100% โบรกฯอัพเป้า 3.60 บ. ชูผลงานโตทะลัก


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของหุ้น บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH หลังจากสังเกตเห็นว่านับตั้งแต่ต้นปี 2562 หรือระยะเวลาประมาณเกือบ 10 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AMANAH ปรับตัวขึ้นสูงถึง145.31% นับตั้งแต่ราคาอยู่ที่ระดับ 1.28 บาท เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2561 ขณะที่ราคาหุ้นวานนี้ (24 ก.ย.2562) ปิดที่ 3.14 บาท ด้านมูลค่าซื้อขาย 32.22 ล้านบาท โดยราคาหุ้นยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ให้ที่ 3.60 บาท อยู่ 14.65%

โดยพบว่า นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ AMANAH แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 3.60 บาท/หุ้น อิง PBV ปี 2563 ที่ 2.2 เท่า จากเดิม 3.20 บาท อิง PBV ที่ 2 เท่า โดยประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 3/62 ที่ 65 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน) จากสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบจากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน

นอกจากนี้เชื่อว่าค่าใช้จ่ายในตั้งสำรองปรับตัวลง 20% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตาม NPLs ที่ลดลงคาดที่ 6.4% ทั้งนี้จากนโยบายที่จะยึดรถแทนการประนีประนอมหนี้ และคุณภาพรถยึดที่ดีขึ้น ทำให้บริษัทมีขาดทุนจากการขายรถยึดที่ลดลง เราจึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2562/2563 เพิ่มขึ้น 3%/5% โดยได้ปรับลด NPLs เป็น 6.3%/6.5%, Credit cost ลดลงอยู่ที่ 250-265 bps และปรับลด Cost to income ratio เป็น 41.8%/40.7%

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” AMANAH ราคาเป้าหมาย 3.30 บาท/หุ้น ยังคงเชื่อว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเป้าหมายที่บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม คาดไว้ โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนผู้บริหารในช่วงต้นปีทำให้มีความ Aggressive มากขึ้นซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่ดีในภาวะที่การแข่งขันสูง และยังคาดหวังการเติบโตในระดับสูงได้ต่อไป

ทั้งนี้ยังคงประมาณการปี 2562 ตามเดิม โดยคาดกำไรสุทธิที่ 223 ล้านบาท บนสมมติฐานสินเชื่อใหม่ที่ระดับ 1,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำรองที่ 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผู้บริหารมีการส่งสัญญาณที่ดีในส่วนของค่าใช้จ่ายสำรองที่มีการตั้งเป้าภายในที่ 60 ล้านบาท โดยคาดว่าแนวโน้มการตั้งสำรองจะลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการติดตามทวงถามและยึดทรัพย์ขายทอดตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตหลังการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยครึ่งแรกปี 2562 มียอดสินเชื่อใหม่ที่ 607 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของตัวเลขคาดการณ์ของบล.จีเอ็มโอ-แซด คอม

Back to top button