AWC ลุยเทรดวันแรกลุ้นวิ่งเหนือจอง 6 บ. เดินหน้าปั๊มรายได้-อีบิทด้า หวังฉุด P/E ลดตามเป้า
AWC ลุยเทรดวันแรกลุ้นวิ่งเหนือจอง 6 บ. เดินหน้าปั๊มรายได้-อีบิทด้า หวังฉุด P/E ลดตามเป้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ต.ค.62) บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 6,957 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 6 บาท โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และหุ้นชำระแล้ว 30,957 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 30,957 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่าการเข้าซื้อขายของ AWC ในวันนี้ ราคาหุ้นจะสามารถปรับตัวขึ้นยืนเหนือราคาไอพีโอ ที่ระดับ 6 บาทได้ตั้งแต่เปิดตลาด
ด้านนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า การนำเสนอขายหุ้น IPO ของ AWC ในครั้งนี้มีมูลค่า 48,000 ล้านบาท สูงที่สุดที่เคยมีมาในไทย และนับเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และด้วยเสนอขายดังกล่าว ทำให้ AWC มีโอกาสเข้าไปรวมอยู่ในดัชนี SET50 ด้วยเกณฑ์ แบบ Fasttrack
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้แบ่งเป็นจำนวน 25,000 ล้านบาท จะนำไปใช้สำหรับซื้อทรัพย์สินภายใต้กลุ่มทีซีซี โดยทรัพย์สินดังกล่าวประกอบด้วย โครงการที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 4 แห่ง และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 8 แห่ง
ขณะที่อีกจำนวน 20,000 ล้านบาทจะนำไปใช้สำหรับพัฒนาและปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัทหรือบริษัทย่อย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ จำนวน 5 แห่ง อสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ จำนวน 2 โครงการ และส่วนต่อขยายจำนวน 2 แห่ง ส่วนเงินที่เหลือบางส่วนจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และเพื่อประโยชน์ในการบริหารเงินของบริษัท
ขณะเดียวกันแผนการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 5 ปีข้างหน้า สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ จะมีการเพิ่มจำนวนห้องพักโรงแรมเป็น 8,500 ห้อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 4,400 ห้อง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จะมีการเพิ่มพื้นที่เช่าเป็น 460,000 ตารางเมตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 165,000 ตารางเมตร ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรสุทธิก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ส่วนอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ของบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ 277.6 เท่า มองว่า P/E จะสูงในระยะต้น แต่หลังจากนี้บริษัทจะมีสินทรัพย์ใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างกระแสเงินสดเติบโตแบบก้าวกระโดด จะทำให้แนวโน้ม P/E ที่ลดลงในระยะกลาง
“การเติบโตของผลประกอบการและกำไรที่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้ค่า P/E ที่อาจสูงในระยะต้น และจะปรับตัวลดลงในระยะกลาง ซึ่งในแง่ของผลตอบแทนของกระแสเงินสดและมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่กับผู้ลงทุนโดยรวมจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้หลัง IPO จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1 เท่า จึงมีแผนลงทุนเพิ่ม ซึ่งกำลังศึกษาอยู่” นางวัลลภา กล่าว
ด้านนายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและการจัดสรรหุ้นส่วนเกินของ AWC จำนวน 8,000 ล้านหุ้น ได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันได้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเต็มจำนวน ส่วน Book Building ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามียอดจองซื้อจากนักลงทุนสถาบันเกินกี่เท่า เนื่องจากการจัดสรรหุ้นให้กับผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายและสัญญาซื้อขายหุ้นแต่ละรายอาจไม่เท่ากัน
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 บริษัทมีรายได้ 1.24 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 489.04 ล้านบาท ส่วนงวดครึ่งแรกปี 2562 มีรายได้ 5.84 พันล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 352.45 ล้านบาท ด้านกำไรต่อหุ้นปี 2561 อยู่ที่ 0.031 บาทต่อหุ้น ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 0.015 บาทต่อหุ้น
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รับหลักทรัพย์ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ AWC เข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กำหนดวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนและวันที่เริ่มทำการซื้อขายวันที่ 10 ต.ค.62 โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และหุ้นชำระแล้ว 30,957 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 30,957 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 6,957 ล้านหุ้น เสนอขายประชาชนทั่วไปจำนวน 6,957 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายหุ้นละ 6 บาท ระหว่างวันที่ 25 ก.ย.-3 ต.ค.62 ขณะที่มีการจำหน่ายหุ้นสำหรับการจัดสรรส่วนเกิน จำนวน 1,043 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นการยืมหุ้นมาจากนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
สำหรับ AWC ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ โดยมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักซึ่งก่อให้เกิดกำไรหลัก 12 บริษัท
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับ 4 ปัจจัยขับเคลื่อนให้ AWC Outperform ในช่วงเข้าตลาด ดังนี้
1 ราคาหุ้นน่าจะยืนสูงกว่าราคาจองได้ดีในวันแรก เนื่องจากต้องใช้ราคาปิดในการคำนวณเกณฑ์การคัดเข้าดัชนี SET50 และ SET100 ระหว่างรอบคำนวณ รวมถึงยังมี green shoe อีกกว่า 1 พันล้านหุ้น คอยหนุนไม่ให้ราคาหุ้นต่ำจอง
2 ระหว่างช่วง T+3 คาดว่าจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันฯ เข้ามาช่วยหนุน เนื่องจากเม็ดเงินที่จองซื้อหุ้น AWC ก่อนเข้าตลาดฯ จาก 9 บลจ. ยังน้อยกว่าสัดส่วน Market cap ของ AWC ใน SET50 คาดมีเม็ดเงินหนุนเพิ่มเติมราว 2 พันล้านบาท รวมถึงมีแรงเก็งกำไรจากกองทุนประเภท Active Fund ในช่วงก่อนที่หุ้น AWC จะถูกเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และSET100
3 มีเม็ดเงินจากกองทุนประเภท Index Fund ที่มีวัตถุประสงค์ลงทุนอ้างอิงตามดัชนีอีกราว 1.1 พันล้านบาท คอยหนุนราคาหุ้น ณ วันที่ T+3
4 จากสถิติหุ้น IPO ในดัชนี SET index ที่เข้าซื้อขายในปีนี้ ในวันแรกของการซื้อขายราคาปิดสูงกว่าราคาจองทุกบริษัท และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 5.47% จึงคาดว่าราคาหุ้น AWC จะ Outperform ตลาดได้ดีเช่นกัน
สุดท้ายหากพิจารณาจากสัดส่วนผู้ถือหุ้น AWC พบว่า 75% เป็นของกลุ่มคุณเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ส่วนอีก 25% เป็นปริมาณการถือครองของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) แสดงให้เห็นว่ามีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดเพียง 25% เท่านั้น ตราบที่นักลงทุนสนใจลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าผลักดันให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ดี