เปิดโผ 5 หุ้น SET แรลลี่ยาว! โชว์ 9 เดือนฟันรีเทิร์นเกิน 100%
เปิดโผ 5 หุ้น SET แรลลี่ยาว! โชว์ 9 เดือนฟันรีเทิร์นเกิน 100%
ทิศทางการลงทุน 9 เดือนแรกปี 2562 จะพบว่าในช่วงไตรมาส3(ก.ค.-ก.ย.)ดัชนีได้มีการปรับตัวลงต่อเนื่องและหลุดระดับ 1700 จุด เนื่องจากนักลงทุนกังวลปัจจัยสงครามการค้า,การประท้วงในฮ่องกงและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในครึ่งปีแรก2562 ทำให้กลุ่มหุ้นพื้นฐานปรับตัวลงแรง
โดยขณะนี้สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองฮ่องกงผ่อนคลายขึ้น หนุนให้ Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคชะลอลง ส่งผลให้ทิศทางตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งและคาดว่าแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่จะกลับมาน่าสนใจอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
อย่างไรก็ตามในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมายังหุ้นที่ปรับตัวสวนภาวะตลาดผันผวนขึ้นมาได้และยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET ในช่วง 9 เดือนมานำเสนอ โดยครึ่งนี้เรียงลำดับจากหุ้นปรับตัวขึ้นมากสุดไปหาน้อยสุดซึ่งครั้งนี้จะนำเสนอ 5 อันดับแรกที่ราคาปรับตัวแรเกิน100% ดังตารางประกอบ
โดยหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงอันดับ 1 คือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG เป็นหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงสูงสุดในกลุ่มโดยราคาหุ้นในช่วง 9 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 165.04% จากยืนที่ระดับ 30.75 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 81.50 บาท ณ วันที่ 30 ก.ย.62 โดยได้รับแรงหนุนจากแผนธุรกิจเด่นและคาดว่าปีนี้จะเป็นปีทองของ CBG
บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG คาดความสามารถในการทำกำไรไตรมาส 3/62 ดีขึ้นตามลำดับ จาก (1) การใช้กำลังการผลิตของโรงงานกระป๋องใหม่เพิ่มขึ้น และ (2) การปรับสูตรการผลิต โดยลดสัดส่วนของน้ำตาลลง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับขึ้นภาษีความหวานในเดือนต.ค. เบื้องต้นคาด Gross Profit Margin ดีขึ้นจากเฉลี่ย 33% เมื่อไตรมาส3/61 และ 38%เมื่อไตรมาส2/62
แนวโน้มผลประกอบการปี’63 มีโอกาสทำ New High ต่อเนื่องจากปี’62 คาดอยู่ที่ 2,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% ภายใต้ต้นทุนที่คาดปรับลดลงจากการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ทั้ง (1) ขวด ซึ่งใช้สำหรับสินค้าที่ขายในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ (2) กระป๋อง สำหรับสินค้าส่งออก จากก่อนหน้าซื้อจากบุคคลภายนอก
นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนเศษแก้วที่ต่ำลง รวมถึงค่าใช้จ่าย Sponsor ลดลง หลังสัญญากับทีมฟุตบอลเชลซีบางส่วนหมดลงเมื่อกลางปี’62 คาดช่วยลดค่าใช้จ่ายจาก 6 ล้านปอนด์ เหลือ 3 ล้านปอนด์ พร้อมกับ CBG ยังมีแผนลดการใช้จ่ายอื่นๆ ในอังกฤษลง คาดช่วยให้ผลประกอบการ ICUK ดีขึ้นตามลำดับ คาดปี’62 ขาดทุน ประมาณ 600 ล้านบาท ดีขึ้นจากขาดทุน 900 ล้านบาท และ 1,150 ล้านบาท เมื่อปี’60 และ 61 ประเมินราคาเป้าหมายปี’63 ที่ 91.00 บาท
อันดับ 2 บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH ราคาหุ้นในช่วง 9 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 161.76% จากยืนที่ระดับ 1.36 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.56 บาท ณ วันที่ 30 ก.ย.62 โดยได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มดอกเบี้ยลดลงส่งผลให้ต้นทุนทางเงินต่ำและแผนธุรกิจออกมาโดดเด่น
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH: คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/62 ที่ 59.8 ลบ. เติบโตเด่น +53.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, ทรงตัว +0.1% เทียบไตรมาสก่อนหน้า
โดยได้แรงหนุนจากยอดสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่รายไตรมาส ประเมินขยายตัว +460 ลบ. เร่งตัวต่อเนื่อง +27% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +33% เทียบไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 3/61/ไตรมาส2/62: ยอด 363/347 ลบ.) ผลักดันให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตไปในทิศทางเดียวกันที่ 128.4 ลบ. เพิ่มขึ้น +13% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +3% เทียบไตรมาสก่อนหน้า จากใช้กลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น โดยทั้งเพิ่มจำนวนสาขา เพิ่มวงเงิน สร้างแรงกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่การตลาดวิ่งหายอดสินเชื่อปล่อยมากขึ้น
ในขณะที่ ยอดตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญรวม มองปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 19.8 ลบ. (ลดลง -36% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +9% q-q) ตาม Seasonal ของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ น่าจะเห็นสัญญาณของการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพขึ้น และควบคุมผลขาดทุนจากการยึดรถได้อย่างรัดกุม ส่งผลให้ NPL ratio ทรงตัวระดับ 6.4-6.5% (2Q19 ที่ 6.43%)
Outlook 2019F-20F: ประเมินกำไรไตรมาส 3/62 เริ่มทรงตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้าก่อนที่จะเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในไตรมาส3/62 หากยังสามารถเดินหน้าปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ไตรมาสละ +460 ลบ. (เดือนละ 153 ลบ.) ซึ่งหากยอดสินเชื่อใหม่ออกมาตามคาด ส่งผลให้ ยอดสินเชื่อรวม 9 เดือนปี 262 เท่ากับ 1.08 พันลบ. (คาดทั้งปี 1.6 พันลบ.) หรือเท่ากับ 68% ของประมาณการ อย่างไรก็ดี Operation โดยรวม อยู่ในจุดที่เริ่มแข็งแรง ทั้งสำรองหนี้เสียลดลง, ควบคุม NPL Ratio อยู่ระดับ 6.5% (2018: 6.9%) และปล่อยสินเชื่อแบบ Aggressive มากขึ้น (ขยายวง Loan to value จาก 80% สู่ 100%)
อันดับ 3 บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ราคาหุ้นในช่วง 9 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 118.60% จากยืนที่ระดับ 8.60 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18.80 บาท ณ วันที่ 30 ก.ย.62 โดยได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มดอกเบี้ยลดลงส่งผลให้ต้นทุนทางเงินต่ำและแผนธุรกิจออกมาโดดเด่น
บล.โกลเบล็ก ระบุว่า PTG เปิดเผยว่า ทิศทางผลงานในไตรมาส 4/62 คาดน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3/62 เพราะเป็นช่วงไฮซีซัน และได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง ซึ่งส่งผลให้ค่าการตลาดกลับเข้าสู่ในระดับปกติที่เฉลี่ย 1.80-1.90 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้มองว่าน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ที่ปรับตัวดีขึ้นเข้ามาเสริม หลังภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เข้าเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล 10% หรือ “B10” จากเดิม “B7” ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราการใช้กำลังผลิตขยับเพิ่มขึ้นเป็นราว 85% ของกำลังผลิตทั้งหมดราว 7.7 ล้านลิตร และเชื่อน่าจะเห็นกำลังผลิตขยับเพิ่มเป็น 90% ในช่วงไตรมาส 4/62 ขณะที่ PTG ถือสัดส่วนในโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ 40%
อันดับ 4 บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ราคาหุ้นในช่วง 9 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 111.41% จากยืนที่ระดับ 2.98 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.30 บาท ณ วันที่ 30 ก.ย.62
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ICHI (BUY, TP20F THB 9.05): ผู้บริหารได้ให้มุมมองที่ Positive ขึ้นมากต่อภาพรวมธุรกิจ ด้วยกัน 4 ประเด็น เริ่มจาก 1) ยอดขายรวมเติบโตสูง +23.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายในประเทศที่เติบโตดีจากชา ชิซึโอกะ เป็นหลัก โดยในไตรมาส 2/62 ยอดจำหน่าย ชิซึโอกะ เติบโตเป็น 10.6% ของยอดขายรวม ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) เร่งตัวจาก มาร์จิ้นที่สูงกว่าสินค้าประเภทอื่น และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการเพิ่มสินค้าใน Modern trade ประเภทต่างๆ และมีแนวโน้มนำสินค้าเข้า Traditional trade ในอนาคต
อันดับ 5 บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM ราคาหุ้นในช่วง 9 เดือนปรับตัวขึ้นถึง 102.85% จากยืนที่ระดับ 22.80 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.25 บาท ณ วันที่ 30 ก.ย.62
นายอัญชลิน พรรณนิภา ประธานกรรมการ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่มเป้าหมายยอดขายปีนี้ขึ้นเป็น 12,790 ล้านบาท จากเดิมคาด 12,690 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้เข้าซื้อหุ้น 100% ใน ที เจ เอ็น อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ ซึ่งเป็นนายหน้าประกันรถยนต์ส่งผลทำให้รับรู้กำไรและรายได้เข้ามาทันที โดยบริษัทคาดยอดขายจากบริษัทใหม่ที่ 100 ล้านบาทในปีนี้ พร้อมกันนี้ธุรกิจประกันปกติในครึ่งปีหลังยอดขายจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรกอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในไตรมาส 4/62 บริษัทเตรียมเปิดตัวพันธมิตรที่เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อออกบัตรเครดิตร่วมกัน ซึ่งจะนำเสนอบริการดังกล่าวแก่ลูกค้าของบริษัทที่มีอยู่ 1.5 ล้านราย โดยจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าผ่านประกันชีวิต ประกันรถยนต์ และ ประกันบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นโบรกเกอร์รายแรกที่ทำบัตรเครดิตร่วมกับธนาคาร ประกอบกับ บริษัทเตรียมตั้งสาขาในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทำสัญญา และ เจรจากับพันธมิตร โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ช่วงต้นเดือน ต.ค. นี้
พร้อมกันนี้ บริษัทเตรียมซื้อธุรกิจโบรกเกอร์เพิ่มเติม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจา 4-5 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 63 ซึ่งนโยบายหลักของบริษัทจะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% และจะต้องเป็นบริษัทที่ทำกำไรแล้ว เนื่องจากเมื่อซื้อเข้ามาแล้วจะทำให้บริษัทสามารถต่อยอดบริการ และสามารถรับรู้รายได้กำไรในทันที
สำหรับการลงทุนภายหลังบริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดราว 2,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนระบบไอทีเพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ซึ่งจะเน้นการซื้อกิจการมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนในหุ้น โดยปัจจุบันลงทุนใน บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) ประมาณ 100 ล้านบาท ลงทุนในกองทุนรวมและหุ้นกู้
บล.บัวหลวง ระบุว่า TQM ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นจากผลประกอบการในครึ่งหลังปี 2562 จากความสามารถขายเบี้ยประกันภัยและประกันชีวิตมากขึ้นครึ่งแรกของปีและต่อเนื่องในครึ่งหลังผ่านความร่วมมือออกสินค้าใหม่กับเมืองไทยประกันภัยรวมถึงการซื้อ TJN insurance broker ในเดือนก่อนช่วยเพิ่มเบี้ยรับ
เชื่อว่า TQM สามารถทำกำไรดีตามประมาณการปีนี้และกิจการมีอัพไซด์จากประมาณการเราปีหน้าจากธุรกิจใหม่ อันมาจากเบี้ยประกันที่มากกว่าเราคาดและจากรายได้คอมมิชชั่น แนวโน้มดังกล่าวทำให้เรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น สำหรับกำไรครึ่งปีหลังและปีหน้า คงคำแนะนำ “ซื้อ”
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน